น้ำท่วม “อยุธยา” ในหลายอำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 19,623 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 7,800 ไร่ ด้าน “เจ้าท่า” คุมเข้มชาวเรือ ปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในช่วงน้ำหลากฤดูฝน
เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 9 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระบายอยู่ ที่ 1,448 ลบ.ม./วินาที เขื่อนพระราม 6 ระบายอยู่ที่ 429 ลบ.ม./วินาที สำหรับในขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหก เริ่มปล่อยน้ำลดลง ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในเขต จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มผ่อนคลาย แต่ยังคงพื้นที่น้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ รวม 8 อำเภอ คือ อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.บางปะหัน อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา รวม 97 ตำบล 510 หมู่บ้าน 4 ชุมชน ประชาชนเดือดร้อน 19,623 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 7,800 ไร่
ขณะเดียวกัน ก็ยังคงความปลอดภัยในเรื่องการเดินเรือสินค้า ในแม่น้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและป้องกันการสูญเสีย นายพีรธร นาคสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมการจราจรทางน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานฯ เพื่อเฝ้าฟังวิทยุ และสายด่วน 1199 พร้อมรับแจ้งเหตุ รวมทั้งจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ประจำเรือตรวจการณ์ และรถยนต์ตรวจการณ์ ออกควบคุมการจราจรทางน้ำและประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยของการสัญจรทางน้ำในช่วงฤดูฝน
ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากที่กรมชลประทาน ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก จะมีการปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้น ถ้าปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไหลหลากอย่างรุนแรง อันเป็นผลกระทบต่อการเดินเรือ และการสัญจรของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ได้ตระหนักถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับชาวเรือซึ่งสัญจรในพื้นที่ ได้รับทราบ และปฏิบัติตามประกาศของ “เจ้าท่า” โดยได้รับความร่วมมือจากชาวเรือเป็นอย่างดี ซึ่งจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวเรืออย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ