“พล.อ.ประยุทธ์” ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่อง กำชับจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ตอบสนองความเดือดร้อน-ความต้องการผู้ประสบภัย “ไตรศุลี” เตือนมิจฉาชีพฉวยโอกาสลักทรัพย์ โทษหนักกว่าปกติ
วันที่ 9 ต.ค. 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด และจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่ผ่านมามีข้อสั่งการกำชับส่วนราชการในพื้นที่ให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของงาน มุ่งตอบสนองความเดือดร้อนและความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังแผนการปฏิบัติและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยแล้ว ซึ่งได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังน้ำท่วม เช่น ก่อนฤดูฝน เตรียมการพร่องน้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำฝนและพายุ ขุดลอกคูคลอง ขจัดสิ่งปฏิกูล วัชพืช ผักตบชวา เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำ แผนเผชิญเหตุ แผนอพยพ ระบบการสื่อสารกับประชาชน ฯลฯ ในช่วงระหว่างเกิดน้ำท่วม ตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ บูรณาการ อพยพผู้คนเข้าพื้นที่ปลอดภัย บริหารอาหาร น้ำดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สุขภาพอนามัยของประชาชน เร่งระบายน้ำตามจังหวะฟ้าฝน หลังน้ำท่วม เร่งฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ประปา ไฟฟ้า เป็นต้น โดยการดำเนินการทั้งหมดนี้ นายกรัฐมนตรีทราบดีว่ามีการเตรียมการและดำเนินการเป็นที่เรียบร้อย พร้อมขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังเน้นย้ำเพิ่มเติม ขอให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของงาน โดยมุ่งตอบสนองความเดือดร้อน ความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ในเรื่องดังต่อไปนี้
1. การดูแลบ้านเรือน ทรัพย์สินผู้ประสบภัยในช่วงที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ เพราะผู้ประสบภัยมีความเป็นห่วงบ้าน ข้าวของ เมื่อต้องอพยพห่างไกลบ้านไปหลายๆ วัน
2. การดูแลพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น สถานเลี้ยงเด็ก บ้านคนชรา ผู้ป่วยติดเตียงในแต่ละชุมชน ให้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และให้ทันท่วงที
3. การป้องกันที่ตั้งโรงพยาบาลและสถานพยาบาลบริการทางการแพทย์ ซึ่งต้องสามารถทำงานต่อไปได้ เข้าถึงได้
4. การสัญจรไปมา เช่น ถนน สะพาน บริการรถรับ-ส่งนักเรียนและประชาชนทั่วไป เพื่อลดผลกระทบการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน
ทางด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงใยทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหมั่นตรวจตราดูแลอย่างเข้มข้น พร้อมฝากเตือนมิจฉาชีพอย่าฉวยโอกาสลักทรัพย์หรือขโมยตามบ้านเรือนผู้ประสบภัย กรณีนี้ผู้กระทำจะได้รับโทษหนักกว่าปกติเพราะถือว่าเป็นการไปซ้ำเติมผู้ที่กำลังเดือดร้อน โดยจะได้รับโทษตามมาตรา 335 (2) ที่กำหนดว่า ผู้ใดลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท
“แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะจัดกำลังออกตรวจอย่างเข้มงวดกวดขัน แต่ก็ยังพบผู้ที่ไม่มีจิตสำนึกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ทุกข์ยากเช่นนี้ หากพบการกระทำเช่นนี้รัฐบาลยืนยันจะให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด”
น.ส.ทิพานัน กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ห่วงทรัพย์สินในบ้าน แม้จะมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือบางส่วน แต่ทรัพย์สินบางอย่างมีค่าต่อจิตใจ เบื้องต้นหากเป็นไปได้ขอให้ตรวจตราความแน่นหนาของประตู หน้าต่าง ตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าและตัดกระแสไฟฟ้า เก็บทรัพย์สินและของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลได้ประสานและกำชับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่องและจะเข้มข้นขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หรือพบสิ่งใดผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ หรือโทรศัทพ์แจ้งหมายเลข 191 สายด่วนสำหรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายได้ทันที.