บุกทลายเครือข่าย “แก๊งบังโก้” ปล่อยเงินกู้ดอกโหด รวบนายทุนพบเงินสะพัดกว่า 600 ล้าน

ตำรวจกว่าร้อยนายสนธิกำลัง บุกทลายเครือข่าย “แก๊งบังโก้” ค้น 12 จุดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้ผู้ต้องหา 24 ราย หลังตั้งตัวปล่อยเงินกู้ดอกโหด ร้อยละ 340 ต่อปีเอาเปรียบประชาชน พบตลอด 2 ปีมีเงินหมุนเวียนกว่า 600 ล้านบาท

สืบเนื่องจากช่วงปี 2565 ได้มีผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. กรณีกู้เงินจาก นายทุนเงินกู้นอกระบบ ชื่อ แก๊งบังโก้ มีพฤติการณ์เรียกดอกเบี้ยโหดสูงถึงร้อยละ 340 ต่อปี เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากกรณีดังกล่าว ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.และผอ.ศปน.ตร., พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.และรอง ผอ.ศปน.ตร. พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วย ผบ.ตร.และรอง ผอ.ศปน.ตร. ได้สั่งการให้ บช.ก. เร่งรัดปราบปรามกลุ่มเงินกู้นอกระบบที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรากว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. จึงได้มอบหมายให้ บก.ปอศ. โดย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. ดำเนินการสืบสวนหาเครือข่ายผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ กก.5 บก.ปอศ. ได้ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนกระทั่งทราบว่ากลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าวเป็นเครือข่ายเงินกู้รายใหญ่ โดยมี นายเกียรติศักดิ์ หรือบังโก้ เป็นหัวหน้าแก๊งหรือนายทุน และมีเครือข่ายกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เช่น กาญจนบุรี อุดรธานี ขอนแก่น กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติหมายจับกลุ่มเครือข่ายของบังโก้ทั้งหมด 14 ราย

ต่อมาวันที่ 2 มิ.ย. พล.ต.ท.พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร.และหัวหน้าชุดปฏิบัติการส่วนกลาง ศปน.ตร. พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการ บก.ปอศ. สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภ.3, ภ.4, ภ.7, ภ.8 และ ภ.9 จำนวนมากกว่า 100 นาย บุกทลายเครือข่าย “แก๊งบังโก้” โดยเข้าปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายจำนวน 12 จุด ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และ สงขลา ผลการดำเนินการสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 24 ราย ได้แก่

น.ส.มลฤดี (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1694/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายวัชระ (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1695/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายวัชระ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1696/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายทรงพล (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1697/2566 ลง 31 พ.ค.66 นายกิตติศักดิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1698/2566 ลง 31 พ.ค.66 นายวัชรพล (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1701/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายธเนศ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1703/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายคมกฤษ (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1704/2566 ลง 31 พ.ค.66 นายวุฒิพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1705/2566 ลง 31 พ.ค.66 นายธัชพล แก่นสาร อายุ 38 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1706/2566 ลง 31 พ.ค.66
นายชำนาญ (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี
นายอธิเดช (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี
นายมงคล (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี
นายอำนวย (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี
นายบุญฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี
นายสมนึก (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี
นายนนที (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี
นายวีระพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี
นายพีรพัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี
นายนฤดม (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี
นายอดิรักษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี
นายวรเมธ (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี
นายศุภชาติ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี
นายปาณชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี

ผู้ต้องหาที่ 1-10 กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด” และผู้ต้องหา 11-24 กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตรวจยึดของกลางได้ รวม 11 รายการ ได้แก่ นามบัตร 880,000 ใบ สัญญากู้ 122 ฉบับ เอกสารผู้กู้ 642 ฉบับ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต 8 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร 17 เล่ม บัตรเอทีเอ็ม 1ใบ โทรศัพท์มือถือ 16 เครื่อง เครื่องคิดเลข 8 เครื่อง รถยนต์ 1 คัน จักรยานยนต์ 13 คัน เงินสด 15,200 บาท

จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดมีพฤติการณ์ในการเดินทางเข้าไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ ตลาดนัด หรือร้านค้า และทิ้งนามบัตรในการติดต่อของกู้เงิน เพื่อชักชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย และประชาชนทั่วไปที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนถูกกฎหมายได้ โดยมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดถึงร้อยละ 340 ต่อปี เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้กระทำความผิด พบว่ามีเงินหมุนเวียนในบัญชีช่วงระยะเวลา 2 ปี มากกว่า 600 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดมีการโพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊กในการชักชวนผู้อื่นเข้าร่วมขบวนการอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ศปน.ตร. มีหน้าที่ในการปราบปรามแก๊งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการกระทำผิดในหลายรูปแบบ ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการทลาย แก๊งบังโก้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งนายทุนที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มดังกล่าว พร้อมของกลางหลายรายการ ซึ่งจากนี้จะสั่งการให้ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มผู้กระทำผิดให้สิ้นซาก

หากพี่น้องประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งเงินกู้ หรือ มีเบาะแสที่เป็นประโยชน์ สามารถแจ้งได้ที่ช่องทาง 1599 หรือ สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เช่นกัน ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากเตือนภัยถึงประชาชน อย่าหลงเชื่อในการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากต้องการตรวจสอบแหล่งเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรวจสอบใบอนุญาตการปล่อยสินเชื่อได้.