อิรักเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับความขัดแย้งมานานหลายสิบปี ส่งผลให้โบราณวัตถุและมรดกทางวัฒนธรรมถูกปล้นหรือถูกเผาวอดวายไปมากมายอย่างน่าเสียดาย แน่นอนว่าไม่มีวันอีกแล้วที่จะนำสิ่งล้ำค่าเหล่านั้นให้หวนคืนมา ทว่ายังมีมรดกที่ทรงคุณค่าบางอย่างอยู่รอดมาได้อย่างปลอดภัยแต่ก็ต้องเก็บงำหลบซ่อนมานาน อย่างเช่น ต้นฉบับที่เขียนด้วยอักษรโบราณบางชิ้นก็มีอายุย้อนหลังไปถึง 1,000 ปี
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิรัก กรุงแบกแดด ของอิรัก กำลังตรวจสอบต้นฉบับสมัยศตวรรษที่ 17 และทำการซ่อมแซมบูรณะอย่างละเอียดอ่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรักษาและแปลงข้อความถึง 47,000 รายการ ให้เป็นในรูปแบบดิจิทัล ทั้งนี้ ตันฉบับโบราณเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติดังกล่าว มีทั้งหนังสือ กระดาษ และกระดานเขียนพู่กัน บางชิ้นได้รับความเสียหายจากความชื้น สัตว์เข้าไปกัดแทะทำลาย หรือผ่านการใช้งานมานานหลายร้อยปี โดยต้นฉบับบางส่วนมาจากช่วงต้นสมัยอับบาสิยะฮ์ และกระดานเขียนอักษรคูฟิกในศตวรรษที่ 7 บางฉบับก็เป็นอักษรเขียนบนแผ่นหนัง
นิทรรศการหนังสือหายากและต้นฉบับซึ่งบางเล่มมีอายุมากกว่าพันปีเหล่านี้จะเปิดในกรุงแบกแดดในวันที่ 4 เม.ย.ปีหน้า นิทรรศการนี้อยู่ภายใต้สโลแกน “Heritage and Epi demics” โดยต้นฉบับที่จัดแสดงจะมีหลายภาษา ได้แก่ อาหรับ ตุรกี เปอร์เซีย ซีริลลิก ฮีบรู อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน.