สงกรานต์ 2566 นางสงกรานต์ปีนี้ ทรงนาม “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา พร้อมเปิดคำทำนาย
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี 2566 มีชื่อว่า “กิมิทาเทวี” พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2566 จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
นางสงกรานต์ กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ
ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน
- วันที่ 14 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
- วันที่ 16 เม.ย. เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้วันเสาร์ เป็น ธงชัย , วันพุธ เป็น อธิบดี , วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
คำทำนายเกี่ยวกับนางสงกรานต์ 2566
- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า
- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคให้น้ำ 2 ตัว
- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์
- เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี
ตำนาน นางสงกรานต์ ทั้ง 7 องค์
นางสงกรานต์นั้นเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ 1 ในทั้งหมด 6 ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั้นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่
- นางสงกรานต์ทุงษเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
- นางสงกรานต์โคราดเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
- นางสงกรานต์รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
- นางสงกรานต์มณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ
- นางสงกรานต์กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
- นางสงกรานต์กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
- นางสงกรานต์มโหทรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :กรมส่งเสริมวัฒนธรรม