“กลุ่มป่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลก มาจากการทำงานอย่างหนักของทุกองค์กรณ์ของประเทศไทย เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยานที่ต้องไปเดินเท้าสำรวจแนวตะเข็บ แนวพื้นที่กรอบขอบเขต เพราะพื้นที่มรดกโลกแก่งกระจาน ประกอบไปด้วย 4 อุทยานแห่งชาติ ความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้กว่า 200 กิโลเมตร พื้นที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ ดังนั้น การที่จะเดินสำรวจทั้งหมดต้องอาศัยแรงงานของเจ้าหน้าที่มากมาย นี่คือส่วนสำเร็จที่หนึ่ง ส่วนที่สอง คือหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปสนับสนุนวิถีความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ทำให้พวกเขาพึงพอใจกับสิ่งที่ได้รับ รวมไปถึงการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ขอให้เอกอัครราชทูต สถานทูตไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลกช่วยไปทำความเข้าใจ ช่วยไปพูดคุยว่าประเทศไทยได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เหล่านี้ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถยกกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกได้สำเร็จ”
ถ้อยคำแห่งความภาคภูมิใจ ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบและแบกรับภารกิจในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่ผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจาน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 (ณ ประเทศจีน)
ก่อนที่จะถึงวันสำคัญคือ วันที่ 26 ก.ค.2564 ยูเนสโก ประกาศรับรองให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็น “มรดกโลก” และทำให้ประเทศไทยมีมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นแห่งที่ 3 ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ.2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี พ.ศ.2548
“ผมภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อคนไทย และปลื้มใจที่ได้มาสานงานต่อในสิ่งที่พ่อเริ่มไว้ครับ” คำกล่าวที่สะท้อนถึงความรู้สึกของ รมว.ทส. ได้อย่างชัดเจน
นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อมาเป็น รมว.ทรัพยากรฯ ผมเพิ่งทราบว่าต้องมาทำงานต่อจากพ่อคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในหลายเรื่อง วันแรกที่เข้ามากระทรวงนี้ เรื่องแรกที่ทำคือการดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัติป่าชุมชน ที่กำเนิดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2538 คือวันที่นายบรรหาร เป็นนายกรัฐมนตรีและแถลงนโยบายต่อสภา วันนั้นเป็นครั้งแรกที่คนได้ยินคำว่า “ป่าชุมชน” และมาถึงปี พ.ศ.2562 หรือ 24 ปีต่อมา พระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับแรกก็มีผลบังคับใช้ ในช่วงที่ผมมาเป็น รมว.ทรัพยากรฯ พอดี ก็เหมือนกับว่า พ่อได้เริ่มไว้แล้วผมก็มาสานต่องานจากพ่อ
รมว.ทส. กล่าวอีกว่า ผมได้ไปย้อนดูในประวัติทำให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2524 ซึ่งในขณะนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังเป็นส่วนเดียวกับกรมป่าไม้ และยังสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีคุณพ่อผมคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรี ได้ขึ้นทะเบียนให้ผืนป่าแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติ
ในขณะที่ 40 ปีต่อมา กรมอุทยานฯ ย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ ในสมัยที่ผมได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชนให้เข้ามาทำงานดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีว่า 40 ปีของการปกป้องผืนป่าแก่งกระจานที่คุณพ่อบรรหารได้เริ่มไว้ ทำให้วันที่ 26 ก.ค.2564 ผืนป่าแก่งกระจานก็ได้ขยับฐานะขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ตามเกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
“ผมเองได้มีโอกาสช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ผืนป่าแก่งกระจานทั้งหมดได้ขึ้นเป็นมรดกโลก ก็เหมือนรับไม้ต่อจากพ่อ ซึ่งพ่อได้ผลักดันจากระดับท้องถิ่นขึ้นมาเป็นระดับชาติ แล้วผมเองมารับไม้ต่อผลักดันจากระดับชาติให้ขึ้นมาเป็นระดับนานาชาติและระดับโลก อันนี้เป็นหนึ่งในความภูมิใจหลายๆ อย่าง ที่ได้มาทำงานในกระทรวงทรัพยากรฯ คือ การสานต่องานจากที่พ่อได้ทำเอาไว้” นายวราวุธ กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม กว่าจะได้มาซึ่งความภูมิใจและความสำเร็จในครั้งนี้ ต้องบอกว่าที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรฯ ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของกลุ่มป่าแก่งกระจานในฐานะที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ จึงมุ่งมั่นในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การนำเสนอเพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.2554 และนำเสนอเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณา
ครั้งที่ 1 พ.ศ.2558 การประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 39
ครั้งที่ 2 พ.ศ.2559 การประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 40
ครั้งที่ 3 พ.ศ.2562 การประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 43
ครั้งที่ 4 พ.ศ.2564 การประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ได้ มีมติเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก
“ต้องขอบคุณหลายๆ ประเทศที่ให้ความสนับสนุนและเห็นความตั้งใจจริงของประเทศไทย ขอบคุณเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย ในการที่จะรักษาผืนป่าไว้และทำงานอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารข้อมูล เรื่องการเข้าไปสำรวจพื้นที่ จนกระทั่งเราสามารถประสบความสำเร็จยกกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกได้ แม้จะมีบางประเทศที่ยังกังขาถึงการทำงานของเราอยู่
ขอเรียนว่า ท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบางกลอยอยากขอให้ท่านเข้าไปดู แม้แต่วันที่ผมพูดขอบคุณในที่ประชุมคณะกรรมการในมรดกโลก ผมก็บอกว่าอยากจะให้หลายๆ ประเทศได้เดินทางมาดู มาให้เห็นกับตา ได้สัมผัสพี่น้องประชาชนด้วยตัวท่านเองมากกว่าฟังข่าวลือ เสียงลือเสียงเล่าอ้างเหล่านี้ ข่าวลือที่บางครั้ง 1+1=3 ไม่ใช่เท่ากับ 2 เช่น จากการที่มีพี่น้องประชาชนสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ยังขาดพื้นที่ทำกิน ก็จะกลายเป็นพี่น้องส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำกิน สิ่งต่างๆ เหล่านี้พอพูดกันไป ยิ่งพอไปถึงต่างประเทศด้วย มีองค์กร มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ที่บางครั้งเราเองก็ไม่แน่ใจถึงเป้าหมายในการทำงาน แต่ว่าได้ให้ภาพที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานและหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทย เราทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่โป่งลึกและบางกลอย” นายวราวุธ กล่าว
“เราต่อสู้เพื่อผืนป่าแก่งกระจานจนสำเร็จ เพราะผมตั้งธงให้ต้องสำเร็จให้ได้ เพราะนี่คือศักดิ์ศรีของประเทศไทย และเป็นรางวัลให้กับทุกคนและให้กับประเทศไทยของเรา”.