ผลลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ – 5 รมต. ผ่านฉลุย ไว้วางใจทั้งคณะ

6 รัฐมนตรีรอดจากศึกซักฟอกตามคาด เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมใจกันลงมติ “ไว้วางใจ” พวกเขา โดยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” มากกว่านายกฯ 5 คะแนน ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้รับคะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 49 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน ไม่มี หลังใช้เวลา 4 วัน 3 คืน ในการอภิปรายไม่วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีรวม 6 คน ขณะที่รัฐมนตรีที่เหลือก็ได้รับความวางใจจากสมาชิกสภาล่างเช่นกัน โดยมีผลการลงมติ ดังนี้

ในการผ่านญัตติไว้วางใจ/ไม่วางใจรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ 245 จาก 488เสียง

เผย 6 “งูเห่าฝ่ายค้าน” โหวตไว้วางใจประวิตร ขณะที่ธรรมนัสก็ไว้วางใจตัวเอง

การได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” เหนือนายกฯ และรัฐมนตรีรายอื่น ๆ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผลจากการมี ส.ส.ฝ่ายค้าน 6 คนร่วมลงมติ “ไว้วางใจ” ให้แก่เขาด้วย

บีบีซีไทยตรวจสอบบันทึกข้อมูลการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จัดทำโดยกลุ่มงานการประชุม สำนักรายงานการประชุมและชวเลข สำนักเลขาธิการสภา พบว่า “เสียงที่งอกมา” มีที่มาจาก 3 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย

  • พรรคเพื่อไทย (พท.) : นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี
  • พรรคเสรีรวมไทย (สร.) : นายวัชรา ณ วังขนาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.นภาพร เพ็ชรจินดา และนายอำไพ กองมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ สร.
  • พรรคประชาชาติ (ปช.) : นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

โดย ส.ส.กลุ่มนี้บางส่วนเคยร่วมโหวตแบบ “ขัดมติวิปฝ่ายค้าน” จนถูกประชาชนในพื้นที่และพรรคต้นสังกัดต่อว่าและกล่าวหาว่าเป็น “งูเห่า” มาแล้ว เฉพาะนายอนุมัติได้ร่วมลงมติ “ไว้วางใจให้” รัฐมนตรีทุกคน

ส่วนคะแนน “ไว้วางใจ” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต่ำกว่ารัฐมนตรีรายอื่น ๆ เป็นเพราะ 5ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ที่ร่วมโหวต “ไว้วางใจ” ให้รัฐมนตรีรายอื่น ๆ ได้ลงคะแนน “งดออกเสียง” ไว้วางใจ รมช.เกษตรฯ ประกอบด้วย นายนิยม วิวรรธนดิษกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายภาสกร เงินเจริญกุล นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ นายสุภดิศ อากาศฤกษ์

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงคะแนน “ไว้วางใจ” ให้แก่ตัวเองด้วย และยังร่วมโหวตไว้วางใจนายกฯ และเพื่อนร่วมครม. ที่ถูกซักฟอก ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวในกลุ่ม 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงมติ “งดออกเสียง” ให้รัฐมนตรีทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้อยู่บนบัลลังก์เพื่อรักษาความเป็นกลางทางการเมือง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา สังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ลงมติ “ไว้วางใจ” ให้แก่ผู้ถูกซักฟอกทุกคน

เผยมติ ปชป. 17:24 ไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส เหตุแจงไม่ชัดปมคดียาเสพติด

ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ออกมาแสดงความมั่นใจผ่านสื่อมวลชนว่า 6 รัฐมนตรีจะได้รับคะแนนไว้วางใจเท่ากันที่คะแนนเกิน 260 เสียง และไม่มี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลคนใดแตกแถว

ขณะที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี และนายพนิช วิกิตเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เปิดแถลงจุดยืนในเวลา 5 นาทีก่อนเปิดประชุมสภา โดยระบุว่า ปชป. ไม่ติดใจการลงคะแนนไว้วางใจให้นายกฯ และรัฐมนตรีรวม 5 คน ยกเว้น ร.อ.ธรรมนัสที่ ส.ส. บางส่วนเห็นว่าชี้แจงไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องคดีความที่ออสเตรเลียและวุฒิการศึกษา ทำให้ ส.ส. ปชป. 17 ต่อ 24 เสียง เห็นว่าควรลมติไม่ไว้วางใจ รมช.เกษตรฯ

นายสาทิตย์กล่าวว่า พวกเขาเป็นกลุ่ม 17 ส.ส. แต่เมื่อแพ้โหวต ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรค แต่อยากส่งสัญญาณถึงผู้นำรัฐบาลว่าในการลงมติไว้วางใจจะนับแต่เสียงในสภาไม่ได้ ต้องฟังเสียงพี่น้องประชาชนด้วย จึงหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะรับฟังและทบทวนเพราะภาพพจน์รัฐบาลจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาพพจน์รัฐมนตรี

มีรายงานว่า ค่ำวานนี้ (27 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้า ปชป. ได้นัด 52 ส.ส. ของพรรคประชุมที่รัฐสภาโดยใช้เวลายาวนาน 4 ชม. และเกิดข้อถกเถียงอย่างหนักในกรณีการลงมติให้ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเห็นว่าข้อมูลของฝ่ายค้านมีน้ำหนักมาก หากโหวตไว้วางใจอาจทำให้ ปชป. ต้องตกเป็นจำเลยร่วมของสังคมและตอบคำถามประชาชนไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วแกนนำพรรคได้วิงวอนให้ ส.ส. ทำตามมติวิปรัฐบาล เพราะไม่ต้องการเปิดช่องวางให้ พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ สร้างแรงกดดันในการริบเก้าอี้รัฐมนตรีคืนจาก ปชป. บางส่วน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคจากการดูด ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เข้าสังกัดได้สำเร็จ แต่ที่สุดแล้ว ส.ส. ฝ่ายเห็นควรให้โหวตคว่ำ ร.อ.ธรรมนัส กลางสภา ก็ได้แพ้โหวตในที่ประชุมพรรคตัวเอง

เพื่อไทยไม่ร่วมลงมติในญัตติซักฟอก

ในการลงมติวันนี้ (28 ก.พ.) ส.ส.ฝ่ายค้านได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยตรวจสอบองค์ประชุมแรกอยู่ที่ 322 เสียง แม้ก่อนหน้านี้แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจะประกาศงดเข้าร่วมการประชุมสภา หลังวานนี้ (27 ก.พ.) พวกเขาพร้อมใจกันเดินออกจากห้องประชุม หรือวอล์กเอาท์ เนื่องจากไม่สามารถตกลงกับรัฐบาลเรื่องขอขยายเวลาให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายต่อ จากข้อตกลงเดิมให้ปิดอภิปรายในเวลา 19.00 น. แต่เหลือ ส.ส.ฝ่ายค้านที่ยังไม่ได้อภิปรายอีก 4 คน ประกอบด้วย อดีตพรรคอนาคตใหม่ 3 คน พรรคเพื่อไทย (พท.) 1 คน และเหลือรัฐมนตรีอีกคนคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ยังไม่ถูกอภิปรายโดยตรงเลย ท้ายที่สุดสภามีมติเอกฉันท์ 251 ต่อ 0 ให้ปิดการประชุม และนัดลงมติในวันนี้

เกือบทันทีทันใด ส.ส. อดีต อนค. ได้ออกมาเปิดอภิปรายล่างห้องประชุมรัฐสภา พร้อมเปิดเผยเบื้องหลังขบวนการ “มวยล้มต้มคนดู” ของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.พท. พยายามเตะถ่วงเวลา เพื่อไม่ให้ได้อภิปรายรัฐมนตรีที่เหลืออยู่โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร และถูก “โกงเวลา”

เพื่อไทยขอโทษอนาคตใหม่ รับประเมิน รบ. ผิด

ความขัดแย้งในหมู่พรรคร่วมฯ ทำให้ พท. โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาแถลงยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเขาในการประเมินรัฐบาล ทำให้การจัดลำดับต่าง ๆ คลาดเคลื่อน

“เราต้องขอโทษ วันนี้เราเสียใจ และขอโทษประชาชนที่ทำหน้าที่ได้ไม่ครบเพราะรัฐบาลไม่เอื้ออำนวยให้ทำงาน ส่วนเพื่อนร่วมงานก็กระทบกระทั่งกัน แต่ได้คุยและทำความเข้าใจกันไปแล้ว” ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ

เขายังปฏิเสธข้อสังเกตของชาว อนค. เรื่องเตะถ่วงการอภิปราย พล.อ.ประวิตร โดยแจกแจงว่าเหตุที่จัดให้พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ถูกอภิปรายคนสุดท้ายเพราะมีชื่อเข้ามาเป็นรายชื่อสุดท้ายตอนเสนอญัตติ และถ้าต้องการให้การอภิปรายมีรสชาติ จึงต้องให้คนที่เป็นพระเอกปิดท้ายไว้บ้าง คือเริ่มด้วย พล.อ.ประยุทธ์ ปิดท้ายด้วย พล.อ.ประวิตร

ส่วนที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านเสียงแตกไปลงมติไว้วางใจ พล.อ.ประวิตร เขาบอกเพียงว่า “เป็นเจ้าเดิม”

นายกฯ บอกยังไม่ถึงเวลาปรับ ครม.

การประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 ก.พ. โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตกเป็นเป้าถล่มของฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องตลอด 4 วัน ด้วยข้อกล่าวหาที่บรรยายเอาไว้ในญัตติถึง 35 ข้อกล่าวหา รวมเนื้อหา 28 บรรทัด

ศึกซักฟอกครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี และยังเป็นครั้งแรกสำหรับนายกฯ คนที่ 29 ที่ต้องเข้าสู่กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

ภายหลังผ่านศึกซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดใจกับสื่อมวลชนว่า ขอขอบคุณทุกคนและประชาชนที่ให้กำลังใจกับรัฐบาล “ผมจะทำทุกอย่างให้กับทุกคน วันนี้ก็ได้สบายใจไปอีกอย่างหนึ่งเพราะได้ผ่านพ้นตรงนี้ จะได้ไปทำงานด้านอื่น ๆ ซึ่งมีอีกหลายงานที่รออยู่” และขอร้องให้ประชาชนให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะทำงานด้วยความตั้งใจ ซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงขอให้ทุกคนเคารพกระบวนการยุติธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ยังปฏิเสธกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่ถึงเวลา”

ด้าน พล.อ.ประวิตร พูดถึงการได้รับคะแนน “ไว้วางใจ” สูงสุดว่าเป็นเรื่องของสภา ส่วนที่ ส.ส. อดีต อนค. เตรียมนำข้อมูลเรื่องการดำเนินมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ไปเปิดอภิปรายนอกสภานั้น รองนายกฯ บอกว่าเดี๋ยวจะลงรายละเอียดให้อ่านในเว็บไซต์ พร้อมปฏิเสธจะให้ความเห็น