ผลักดัน “ภาวะมีบุตรยาก”เข้าสิทธิประโยชน์หลักประกัน ครอบคลุมรักษาถึงทำเด็กหลอดแก้ว ฟรี นำร่องสิทธิบัตรทอง เพิ่มหน่วยบริการในรพ.รัฐ เบิกค่าใช้จ่ายได้ ช่วยผู้มีบุตรยากเข้าถึงรักษาเร็ว-มากขึ้น เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ แก้ปัญหาเด็กไทยเกิดใหม่น้อย
จากกรณีที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องหลายปี ล่าสุด ปี 2564 อยู่ที่จำนวน 544,000 คน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี อนาคตจะส่งผลอย่างมากต่อโครงสร้างประชากรไทย รวมถึง กำลังแรงงานและเศรษฐกิจของประเทศ หลายหน่วยงานจึงมีแนวทางเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ในส่วนของคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ มีการขับเคลื่อนเพื่อให้ “ภาวะมีบุตรยาก”เป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษามากขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยจัดทำแนวทาง และอาจจะพิจารณาใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือพ.ร.บ.อุ้มบุญ ในการสนับสนุนครอบครัวกลุ่มหลากหลายทางเพศในการมีบุตรหากมีความพร้อม
ศ.นพ.กำธร พฤกษนานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีผู้มีบุตรยากกำลังอยู่ระหว่างการหาแนวทางที่ดีที่สุด โดยในอดีตมีแนวคิดเรื่องการคุมกำเนิดเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการรักษาผู้มีบุตรยากจึงเป็นความสำคัญหลังๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องระดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งที่ประชากรไทยมีจำนวนมาก แต่ตอนหลังพบว่าอัตราเกิดประชากรไทยลดต่ำและต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเกิดปัญหาเรื่องประชากรติดลบ ทำให้เกิดปัญหากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกกันว่าสังคมแก่ก่อนรวย อีกทั้ง หากอัตราการเพิ่มของประชากรน้อยไป ก็จะมีการหลั่งไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติ เพราะไม่มีคนในประเทศทำงานต้องมีคนเข้ามาทำงานแทน ก็จะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและสังคมตามมา นอกเหนือจากเรื่องที่จะไม่มีใครดูแลคนแก่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เกิดในทุกประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยก็กำลังเข้าสู่จุดนั้นเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการครอบคลุมของสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้มีบุตรยากตามสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ขณะนี้ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดอยู่ช่วงหนึ่งว่าภาวะมีบุตรยาไม่ใช่โรค จึงไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ รพ.รัฐจึงไม่สามารถเปิดแผนกรักษาผู้มีบุตรยากได้ หลายแห่งไม่ได้เปิดแผนกนี้ ทำให้คนไข้ต้องไปเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชนแทน แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุไว้ชัดเจนเลยว่า ภาวะมีบุตรยาก เป็นโรค ดังนั้น คนไข้ก็จะมีโอกาสเข้ารับการรักษาโรคได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงบริการถ้าหากรพ.รัฐบาลสามารถที่จะให้บริการตรงนี้ด้วย ค่าใช้จ่ายโดยรวมของคนไข้ก็จะถูกลง
ปัจจุบันทั่วประเทศไทย รพ.รัฐก็แทบไม่ได้ดำเนินการเปิดหน่วยรักษาผู้มีบุตรยาก เนื่องจากเมื่อยังไม่ระบุว่าเป็นโรค รพ.รัฐก็เปิดไม่ได้เพราะต้องตั้งงบประมาณตามรอยโรค ทำให้แพทย์รักษาผู้มีบุตรยากที่มีประมาณ 300 คนไม่สามารถอยู่รพ.รัฐได้ก็ต้องไปอยู่รพ.เอกชน แต่ถ้ารพ.รัฐเปิดก็จะมีแพทย์เข้าไป ส่วนคลินิกชั้นสูงที่สามารถดูแลเด็กหลอดแก้วได้มีประมาณ 100 แห่ง ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากเป็นเพียงเรื่องของการติดตามการตกไข่ธรรมดา อยู่ที่ไม่กี่ร้อยบาท หากเป็นเรื่องการแก้ไขฮอร์โมนผิดปกติ หรือเนื้องอกหรือซีสต์ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ถ้าจำเป็นต้องมีการผสมเทียม ไอยูไอ ก็อาจจะอยู่ระดับหลายๆพัน แต่หากจำเป็นต้องทำเด็กหลอดแก้ว อาจจะอยู่ที่หลักแสนบาท แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องทำเด็กหลอดแก้วมีประมาณ 10 %ที่ต้องทำ ตรงนี้เป็นอัตราในโรงเรียนแพทย์ และไม่ใช่ทุกคนจะต้องรักษาวิธีการเดียวกัน
“ปัจจุบันเมื่อยังไม่มีการยอมรับว่าภาวะมีบุตรยากเป็นโรค จึงยังก้ำๆกึ่งๆในการเบิกค่ารักษาพยาบาล หากมีการเขียนไว้ในบัตรคนไข้นอก หรือเวชระเบียนว่าเป็นผู้มีบุตรยาก ก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาอะไรต่อได้เลย แต่โอกาสที่จะแก้ไขมีสูง โดยขณะนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมอนามัยได้ร่างแนวคิดต่างๆแล้ว แต่ตรงนี้มีผู้เกี่ยวข้องมากทั้งในแง่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานหลักประกันสังคม(สปส.) และกรมบัญชีกลาง จึงต้องใช้เวลาและอาจจะต้องดำเนินการเป็นช่วงระยะ คงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาภายใน 1 ปีให้เสร็จ เป็นไปไม่ได้ ต้องวางเป็นระบบ โดยอันดับแรกต้องยอมรับก่อนว่าเป็นปัญหาจะได้ช่วยกันแก้ปัญหา”ศ.นพ.กำธรกล่าว
ศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า การดำเนินการในระยะแรกอาจจะเริ่มต้นที่สปสช.สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองก่อน โดยเขียนให้ชัดเจนว่า ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องรับการรักษา และคนไข้นี้มีสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาเหมือนกับการป่วยโรคอื่นๆ เมื่อมีการกำหนดในสิทธิแล้วว่าเป็นโรค รพ.รัฐบาลจะได้เปิดหน่วย แนวทาง กระบวนการรักษาผู้มีบุตรยาก คนไข้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงไม่ต้องไปรพ.เอกชนก็ได้ ซึ่งจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่ระบุยากแต่ขณะนี้เห็นแนวโน้มที่ดีและหลายฝ่ายเริ่มตระหนักในเรื่องนี้แล้ว เมื่อนำร่องในสิทธิบัตรทองแล้ว ก็จะขยายต่อไปยังสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการต่อไป
“ไกด์ไลน์ที่จะกำลังดำเนินการจัดทำนี้เป็นครอบคลุมการรักษาผู้มีบุตรยาก รวมถึง การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต่างๆด้วย ตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน ซึ่งมีเงื่อนไข ไม่ใช่ใครอยากจะทำแล้วจะทำเลยคงไม่ได้ ก็เหมือนการรักษาโรค ที่วันนี้อยากผ่าตัดแล้วเดินไปหาหมอผ่าตัดบอกว่าผ่าตัดให้หน่อย จะต้องมีการตรวจ รักษา ดูทางเลือกอะไรทำได้บ้างจากน้อยไปหามาก อยู่ที่เวลา สถานการณ์และบริบทของแต่ละคนด้วย”ศ.นพ.กำธรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่กำหนดให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาผู้มีบุตรยากได้ฟรี จะช่วยแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดน้อยได้อย่างไร ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย พบว่าแก้ปัญหาได้จริงเพราะ
1.เป็นการสร้างความตระหนักรู้ว่ามีการให้ความสนใจและความสำคัญกับการเติบเต็มชีวิตคู่หรือครอบครัว
2.เมื่อเริ่มดำเนินการอายุเฉลี่ยของคนที่เข้าสู่กระบวนการรักษาลดลงประมาณ 5 ปี อายุเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 32 ปี
ขณะที่ปัจจุบันคนไทยกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อรักษาการมีบุตรยาก อายุเฉลี่ย 38 ปีซึ่งอายุมากไปแล้ว ดูเหมือนจะช้าไปที่จะเริ่มรักษา
“ปัญหาที่ตามมาของการรักษาตอนอายุมาก คือ จะเป็นโรคดาวน์ซินโดรมหรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์หรือไม่ ตกเลือด ความดันสูง เบาหวาน และท้องยาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก แต่หากคนไข้รู้ว่ามีสิทธิที่จะรับการรักษาได้ ไม่ต้องรอ ได้รับการส่งเสริม ไม่ต้องปิดบังใคร ไม่มีค่าใช้จ่ายบานเกินตัว ก็ทำให้เข้ารับการรักษาเร็วขึ้น อายุเฉลี่ยที่จะเข้ารับการรักษาก็จะน้อยลง ปัญหาเรื่องเด็กผิดปกติ พิการก็น้อยลง ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ก็น้อยลง และติดหรือท้องง่ายกว่าด้วย กลายเป็นประหยัดค่าใช้จ่าย”ศ.นพ.กำธรกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 กรณีการอุ้มบุญให้กับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีความพร้อมและต้องการมีบุตรนั้น ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ออกมาเพื่อทำให้คนไข้ที่มีความพร้อมสามารถที่จะตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ ในสถานพยาบาลที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้ว และกรณีที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ตามข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนทางการแพทย์สามารถเข้าสู่ระบบเพื่อให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ ส่วนกรณีครอบครัวหลากหลายทางเพศ ในพ.ร.บ.กำหนดไว้ว่า จะต้องดำเนินการในคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นคู่สมรสชายหญิง ชายชายหรือหญิงหญิง แต่ขณะนี้ในประเทศไทยการสมรสของเพศเดียวกันยังไม่ถือว่าเป็นการถูกต้องตามกฎหมายจึงยังไม่เข้าตามข้อกำหนด แต่หากในอนาคตมีการปรับปรุงกฎหมายคู่สมรสว่าการสมรสที่ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงชายแล้ว คู่สมรสหลากหลายทางเพศก็สามารถใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯฉบับนี้ก็รองรับในการช่วยการมีบุตรได้
ถามว่าควรจะต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯก่อนที่กฎหมายคู่สมรสจะแก้ไขยอมรับการสมรสของกลุ่มหลากหลายทางเพศหรือไม่ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถ้าหากยังคงแนวคิดให้ดำเนินการในคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยกเว้นจะไม่ใช้แนวคิดแต่เป็นแนวคิดอีกแบบ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิเห็นในวงกว้างหลายๆฝ่ายถึงข้อดีและข้อเสีย
“ในทางการแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้าเกิดกับคนไข้ที่อาจจะไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยกระบวนการอื่น แต่ปัญหาใหญ่ในเรื่องของมิติทางสังคม เป็นประเด็นที่ต้องมองและรับฟังความคิดเห็นหลายๆฝ่าย”ศ.นพ.กำธรกล่าว