ผ่า 7 ประเด็นร้อน! กฎหมาย “พ.ร.บ.กยศ.” ฉบับใหม่ ที่ลูกหนี้ทุกคนต้องรู้

“พ.ร.บ.กยศ.” ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ ได้นำผ่า 7 ประเด็นร้อน กฎหมาย กยศ. ที่ลูกหนี้ต้องรู้

สิ้นสุดการรอคอย โดยขณะนี้ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

สำหรับกฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่ ได้มีการปรับปรุง รายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ มากมาย เพื่อต้องการช่วยอุดช่องโหว่ และปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมานานให้คลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี หรือลูกหนี้ที่ถูกยึดทรัพย์ รวมถึงการลดดอก เบี้ยปรับ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการกู้ยืมมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญที่ลูกหนี้ควรรู้ ดังนี้

1.ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี
2.กรณีผิดนัดชำระลดอัตราเบี้ยปรับเหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี
3.ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี
4.การขยายโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ให้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายในหลักสูตรระยะสั้น เพื่อ Reskill Upskill ครอบคลุมหลักสูตรอาชีพ เพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ เสริมทักษะเฉพาะทางสำหรับวิชาชีพต่างๆ
5.ช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ หรือแปลงหนี้ใหม่ ตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
6.มีการลำดับการจัดอันดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งกำหนดให้นำเงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่มีการให้ตัดเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย และค่อยไปตัดเงินต้น โดยเมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว กองทุนจะนำยอดรับชำระเงินทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 มาคำนวณการรับชำระใหม่อีกครั้ง และปรับข้อมูลให้ถูกต้อง
7.กยศ. จะนำเงินที่ได้รับมาหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ และจะคำนวณเบี้ยปรับใหม่จากเดิม 7.5% เหลือเพียง 0.5%