พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 17 – 23 กันยายน พ.ศ. 2564

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17-19 ก.ย. 64 ร่องมรสุมที่พาดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย. 64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 20-21 ก.ย. 64 ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ในบางพื้นที่ ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

-ในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

-ในช่วงวันที่ 21 – 23 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก โดยเฉพาะโรคราน้ำฝนในลำไย หากลำไยที่อยู่ในระยะให้ผลผลิตจะทำให้เปลือกและขั้วผลเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ถ้ามีฝนตกชุกติดต่อกันจะเห็นเป็นเส้นใยสีขาวขึ้นฟูคลุมผล จนผลเน่า แตกและหลุดร่วง ส่วนลำไยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตจะทำให้ใบอ่อนและยอดอ่อนมีอาการไหม้เป็นสีน้ำตาลจนแห้งตาย ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก โดยเฉพาะหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ พบได้ในในพืชวงศ์มะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ รวมทั้งวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ โดยหนอนดังกล่าวจะกัดกินชอนไชใบ ลำต้น และผล ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

-ในช่วงวันที่ 17 – 18 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-95 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

-ในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งโดยเฉพาะบริเวณด้านตะวันออกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรค เลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุกเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคผลเน่าในแก้วมังกร ซึ่งจะทำให้กิ่งหรือผลมีจุดสีเหลืองคล้ายแผลฉ่ำน้ำ ถ้าเป็นที่กิ่งจะทำให้เนื้อเยื่อตรงแผลหลุดเห็นเป็นรูเว้าแหว่ง ถ้าเป็นที่ผลจะทำให้กลีบผลไหม้แห้งเป็นสีดำและผลเน่าในที่สุด

ภาคกลาง

-ในช่วงวันที่ 17 – 19 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

-ในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนชื้นประกอบกับฝนที่ตกในช่วงนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคกล้วยตายพราย ที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายรากและเจริญเข้าสู่ลำต้น ทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน จนใบมีอาการขาดน้ำ เหี่ยวเฉา และกลายเป็นสีเหลือง ก้านหักพับ พืชชะงักการเจริญเติบโต และตายในที่สุด ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอน ได้แก่ หนอนแมลงวันเจาะลำต้นถั่วในถั่วเขียว หนอนมวนและหนอนกระทู้ผักในถั่วเหลือง โดยเฉพาะหนอนม้วนใบในถั่วเหลืองที่อยู่ในระยะปลูกใหม่ ซึ่งหนอนดังกล่าวจะสร้างใยยึดใบพืชม้วนเข้าหากันแล้วอาศัยกัดกินอยู่ในห่อใบนั้นจนหมด แล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นจนกระจายไปทั่วทั้งแปลง

ภาคตะวันออก

-ในช่วงวันที่ 17 – 18 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-4 ชม.

-ในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง สำหรับฝนที่ตกติดต่อกันในช่วงนี้ทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก เช่น โรคใบติดในทุเรียน ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้ใบแห้งไหม้ ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยยึดใบให้ติดกัน โดยใบที่เป็นโรคจะแห้งติดอยู่กับกิ่ง ก่อนหลุดร่วงไปจนเหลือแต่กิ่ง เกษตรกรควรหมั่นตรวจต้นพืชอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคดังกล่าวควรตัดส่วนที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นนำไปทำลายนอกแปลงปลูกและพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ส่วนเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันโรคราสีชมพู โดยเฉพาะโรคราสีชมพูในลองกองที่มีทรงพุ่มหนาทึบ โดยจะพบเส้นใยสีขาวของเชื้อราเจริญคลุมกิ่งหรือลำต้น ต่อมาเส้นใยของเชื้อราจะหนาขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อนยึดแน่นกับกิ่ง เมื่อเฉือนดูเนื้อไม้บริเวณกิ่งหรือลำต้นที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีแผลสีน้ำตาล ส่วนกิ่งที่เป็นโรคนี้บริเวณยอดจะเหี่ยว ใบเหลือง และร่วงเป็นหย่อมๆ จากนั้นกิ่งจะแห้งตายในที่สุด เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มต้นลองกองให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมความชื้นใต้ทรงพุ่ม เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก

-ในช่วงวันที่ 17 – 19 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 20 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 % ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชม.

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก

-ในช่วงวันที่ 17 – 18 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 %

-ในช่วงวันที่ 19 – 23 ก.ย. จะมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง สำหรับในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกด้วง เช่น ด้วงงวงและด้วงแรด ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะเจาะทำลายยอดอ่อนและวางไข่ โดยตัวอ่อนจะเจาะกินและชอนไช ทำให้ ลำต้นเน่าใน ต้นเฉาแคระแกรน ยอดหักพับและตายได้

ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
-ระหว่างวันที่ 10 – 16 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบตลอดช่วงโดยพาดเข้าสู่พายุดีเปรสชัน ที่อ่อนกำลังลงจากพายุโซนร้อน“โกนเซิน (CONSON (2113))” ในช่วงวันที่ 12 – 13 ก.ย. โดยพายุนี้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามในช่วงเช้ามืดของวันที่ 12 ก.ย. ขณะมีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสขันและได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมชายฝั่งของประเทศเวียดนามในช่วงเช้าของวันที่ 13 ก.ย. ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยได้อ่อนกำลังลงและมีกำลังปานกลางในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนชุกหนาแน่นเกือบตลอดช่วงและมีรายงานน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นเกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาค
-ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11 – 12 ก.ย. มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 10 และ 15 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดตากในวันที่ 10 และ 16 ก.ย. จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 11 ก.ย. และจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 16 ก.ย. และมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 10 และ 12 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 14 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11 และ 16 ก.ย. มีฝนร้อยละ 35-55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดนครราชสีมาและเลย กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 10 ก.ย. และจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 12 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดยโสธรและสกลนครในวันที่ 12 ก.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วงและระยะปลายช่วง ส่วนในระยะกลางช่วงมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นและระยะครึ่งหลังของช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 14 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ในวันที่ 11 ก.ย. และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13 – 16 ก.ย. ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 11-12 ก.ย. มีฝนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 13 – 15 ก.ย. โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดระยองและชลบุรีในวันที่ 10 ก.ย. จังหวัดสระแก้วในวันที่ 10 – 12 ก.ย. และจังหวัดนครนายกในวันที่ 12 – 14 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 70-85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12, 13 และ 16 ก.ย. มีฝนร้อยละ 45-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดช่วง
-ช่วงที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดตาก สุโขทัย พิจิตร เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร ชัยภูมิ นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

หมายเหตุ
เกณฑ์ปริมาณฝน ฝนเล็กน้อย ฝนปานกลาง ฝนหนัก ฝนหนักมาก
ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.) 0.1-10.0 10.1-35.0 35.1- 90.0 > 90.0
สอต. หมายถึง สถานีอุตุนิยมวิทยา, กกษ. หมายถึง กลุ่มงานอากาศเกษตร