พรรคเล็กหนีตาย สูตรหาร 100 ระวังเกมโหด! แก้รธน.เอา ก.ม.เลือกตั้งปี 62 กลับมาใช้

  • ยัน ไม่มีกรอบเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย สูตรหา ส.ส.หาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่?
  • หากศาลเห็นว่า สูตรหาร 100 ขัด รธน.ก็ตกทั้งฉบับ ชี้ ทางออกเดียว เป็นพระราชกำหนด
  • ชี้ช่อง หากรัฐบาล ไม่ยอมยุบสภา ทั้งที่ศาล รธน.วินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้งสูตรหาร 100 ขัด รัฐธรรมนูญ จะเลวร้ายยิ่งกว่า เกมโหด เสนอขอแก้รธน.เอา ก.ม.เลือกตั้งปี 62 กลับมาใช้

ยิ่งใกล้ 30 ก.ย. 2565 วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัย ปมนายกฯ ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงตอนนี้ หากเป็นคนที่ติดตามการเมือง ก็จะทราบกันดีอยู่แล้ว ว่า ผลการตัดสิน ออกได้ 3 แนวทาง ซึ่งสื่อต่างๆ ได้นำเสนอไปก่อนหน้า

หาก “บิ๊กตู่” รอดจากคำวินิจฉัย ศาลรธน.ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เพียงแต่จะเป็นได้ต่อไป ที่ตัวเลข 2 ปี หรือ 4 ปี

แต่หากไปไม่รอด ศาลตัดสินเป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหา นายกคนใหม่ ตามขั้นตอน เลือกจากบัญชี 5 รายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ หากยังหาไม่ได้ ก็ยังมีการสรรหาแบบ “นายกฯ คนนอก” อีก

และถ้าหาไม่ได้จริงๆ คาดว่า พล.อ.ประวิตร ก็ยังเป็นนายกฯ รักษาการ อยู่ต่อไป หรือ “บิ๊กตู่” จะกลับมาเป็นนายกฯ รักษาการเองก็ได้ (แต่นักวิชาการชี้ทางนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ทำ) ถึง มี.ค. 2566 ซึ่งทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว  

แต่ถ้ามองข้ามชอต สมมติการเมืองเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วรัฐบาลบิ๊กตู่ อยู่ไม่ได้ จนต้อง “ยุบสภา” ไปเลือกตั้งใหม่

แน่นอน ตราบใดที่กฎหมายลูกเลือกตั้ง ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่ประกาศใช้ ก็ยังไม่ควรยุบสภา ซึ่งตอนนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ ลงนามส่งคำร้อง “หมอระวี” กับ ส.ส.รวบรวมรายชื่อ ส่งให้ ศาลรธน. ตีความร่าง ก.ม.ลูกเลือกตั้ง ส.ส.สูตรหาร 100 ขัด รธน.หรือไม่ ภายหลังสูตรหาร 500 ก่อนหน้า มีอันต้องแท้งตกไป เหตุสภาล่มพิจารณาไม่ทันกำหนด 180 วัน

มาถึงขั้นนี้ คงต้องรอให้ศาล รธน.วินิจฉัย เท่านั้น ว่า สูตรหาร 100 ขัดรธน.หรือไม่ แน่นอน หากไม่ขัดเมื่อนั้นถึงเดินหน้าเลือกตั้งต่อได้ 

ปรากฏการณ์ เมื่อสภาหักด่าน กลับไปใช้สูตรหาส.ส.หารด้วย 100 ผลที่ตามมา ก็ชัดเจน เมื่อเหล่าพรรคเล็ก เริ่มหนีตาย ไปควบรวมกับพรรคใหญ่ เนื่องจากมองไปข้างหน้า งานนี้อาจถึงขั้นสูญพันธุ์

ปฏิเสธไม่ได้ การเมืองร้อนตอนนี้ มีข่าวความเคลื่อนไหวของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ลือ จะกลับ พปชร. หรือไม่ หรือจะเป็น ” กรณ์ จาติกวนิช หัวหน้าพรรคกล้า” ที่ประกาศจะไปร่วมงาน เป็นหัวหน้าเศรษฐกิจให้ ชาติพัฒนา ของสุวัจน์ ลิปตภัลลพ

สอดคล้องกับที่ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ยอมรับเอง แนวทางหาร 100 นี้ พรรคการเมืองใหญ่มีความได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะมีสายป่านที่ยาว และโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า

“แต่ถ้าพรรคการเมืองขนาดเล็กมีการปรับตัว สร้างความนิยมกำหนดเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเฉพาะ ก็ยังมีโอกาสที่จะมีที่ยืนในสภาฯ ต่อไปได้ สูตรการคำนวณแบบนี้ ไม่ได้ปิดกั้นหรือปิดตายพรรคการเมืองขนาดเล็กให้สูญพันธุ์ เพราะมีช่องทางให้ดำเนินการได้” นายนิกร กล่าว…

ถามว่า สูตรหาร 100 คืออะไร? ตอบ ก็คือ การนำคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดจากบัตรเลือก ส.ส.เขต มาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คือ 100 คน แล้วถึงคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้ตามสัดส่วนคะแนน ยกตัวอย่าง

คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกัน 40 ล้านคะแนน คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 40 ล้าน หารด้วย 100 = 400,000 คะแนน

ถ้าพรรค A ได้คะแนนเสียงจำนวน 10 ล้านคะแนน พรรค A จะมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับ 10 ล้าน หารด้วย 400,000 = 25 คน นั่นหมายถึงพรรค A ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 คน

ถ้าพรรค A ได้จำนวน ส.ส.เขตมาแล้ว 200 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้ ส.ส.ทั้งหมด 200+25 = 225 คน

มาอีกเรื่อง หลายคนอาจยังสงสัย ว่า มีกำหนดกรอบเวลาให้ศาลรธน.ต้องวินิจฉัย สูตรหา ส.ส.หาร 100 หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้น มีโอกาสสูง จะไม่ทันการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้น อย่างช้าที่สุดไม่เกิน มี.ค. 2566 

เรื่องนี้ ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

 มีกรอบเวลาพิจารณาหรือไม่ วินิจฉัย สูตรหา ส.ส.หาร 100 ขัด รธน.

นายสมชัย กล่าวว่า ไม่มีกำหนดกรอบเวลาพิจารณา แต่เชื่อว่า คงไม่ถึงเกินเลย ถึงขนาดเลือกตั้งไม่ได้ เหตุเป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการ ซึ่งแน่นอน ช่วงนี้ศาลรัฐธรรมนูญงานเยอะ แต่สมมติถ้าเขายังไม่ตัดสินสักที นายกฯ ก็เอาทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ก็คือประกาศเป็นกฎหมายไม่ได้

ชี้ หากศาลเห็นว่า สูตรหาร 100 ขัดรธน.ก็ตกทั้งฉบับ ชี้ ทางออกเดียว เป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

นายสมชัย ยังชี้ต่ออีกว่า ส่วนกรณี ถ้าศาลรธน.ตัดสินออกมาแล้ว แล้วเกิดเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายมันก็ต้องตกทั้งฉบับอยู่ดี ทางออก คือ ถ้าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็ต้องเป็นหน้าที่ของ ครม. คือต้องออกเป็น พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทางออกมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะออกหน้าไหน

“ยุบสภา” เกิดได้ตลอด ขึ้นอยู่ที่นายกฯ หากมี “ยุบ” จริง ถ้าไม่เอา พ.ร.ก. ก็เลือกตั้งไม่ได้ 

“ยุบสภา” เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ยุบสภา คนตัดสินใจคนเดียวนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูเขา ทั้งนี้ก็ยอมรับว่าต้องดูหลังวันที่ 30 ก.ย. 2565 นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ปม นายกฯ ครบ 8 ปี เป็นด่านแรก

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เห็นว่า มีหลายฝ่ายออกมาว่า ไม่เอาการออกพระราชกำหนด แต่เมื่อถึงเวลานั้น หากเกิดมียุบสภาขึ้นมาแล้ว กฎหมายลูก 2 ฉบับ ยังไม่ถูกวินิจฉัย สูตรหาร 100 ขัด รธน.หรือไม่ ก็ต้องเอา ไม่เช่นนั้น เดินหน้าเลือกตั้งไม่ได้ ยังไงก็ต้องเอาตัวนี้

ชี้ช่อง หากรัฐบาล ไม่ยุบสภา เลวร้ายกว่า เกมโหด ขอแก้รธน.เอา ก.ม.เลือกตั้งปี 62 กลับมาใช้  

อดีต กกต.กล่าวอีกว่า แต่ที่มันอาจเลวร้ายกว่านี้ คือหากศาลรธน.วินิจฉัยว่าขัดแล้วกฎหมายตกไปทั้งฉบับ แล้วรัฐบาลยังไม่ยุบสภา เพราะฉะนั้นพระราชกำหนดยังไม่เกิด แต่รัฐบาลเลือกใช้วิธีขอแก้รัฐธรรมนูญเข้ามา อันนี้เกมโหดกว่า ขอแก้รธน.เพราะอะไร เพราะไม่เสนอกฎหมายลูกแล้ว เพราะใช้เวลามากกว่า หากเสนอเข้ามาใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 6 เดือน ซึ่งไม่ทัน

บอกแค่ แก้ รธน.แค่ 3 มาตรา กลับไป ส.ส.เขต 350 ปาร์ตี้ลิสต์ 150 บัตรเลือกตั้งใบเดียว 

“รัฐบาลก็อาจใช้วิธีแก้รธน. คือแก้ให้กลับไปเหมือนกับ การเลือกตั้งปี 2562 โยกไปช่วงปี 2560 แก้แค่ 3 มาตราเอง คือแก้มาตรา 83-86-91 กลับไปเหมือนเดิมก็จบแล้ว การเลือกตั้งก็จะกลับ ไปปี 2562 กฎหมายลูกก็ไม่ต้องทำเพราะใช้ของปี 2562 ก็กลายเป็นกรณี ส.ส.เขต 350 บัญชีรายชื่อ 150 บัตรเลือกตั้งกลับไปใช้ใบเดียว” นายสมชัย กล่าว.

งานนี้ ต้องจับตาแบบห้ามกระพริบ เริ่มตั้งแต่ 30 ก.ย.2565 เป็นต้นไป หลังการวินิจฉัย ปม นายกครบ 8 ปี ของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดหรือไม่ก็ตาม 

ก็อย่างที่ อดีต กกต. อาจารย์สมชัย บอก หากกฎหมายลูกเลือกตั้งไม่ผ่าน แล้วรัฐบาล “ไม่ยุบสภา” ก็น่าคิดจะเข้าสู่โหมดเกมโหด อย่างที่บอกหรือไม่? 

เดี๋ยวก็รู้แล้ว…

ผู้เขียน:เดชจิวยี่ 

กราฟิก:Theerapong Chaiyatep