พรุ่งนี้ ครม. จ่อเคาะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ขณะที่ “สุพัฒนพงษ์” เผย เป็นการใช้แนวทางดูแลผสมผสานระหว่างภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
เป็นความเคลื่อนไหวจากทางด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง แนวทางการดูแลราคาพลังงานภายในประเทศ ว่า น่าจะเป็นการผสมผสานร่วมกันระหว่างการใช้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนมาตรการพยุงราคาน้ำมันเดิม ที่ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจากบี 7 เป็น บี 5 เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. และสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 มี.ค.นี้ จะต้องรอดูสถานการณ์ใกล้ๆ อีกครั้งว่า จะต้องขยายระยะเวลาต่อหรือไม่
“ตอนนี้ถ้าจะให้ระบุชัดเจนคงไม่ได้ ประเด็นสำคัญคือจะต้องรอผลการประชุมจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (15 ก.พ.) ว่าจะมีการอนุมติเรื่องใดบ้าง โดยกระทรวงพลังงานส่งเรื่องไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างรอบครอบ แต่ยืนยันว่าเรื่องทั้งหมดมีการพิจารณาในชั้นกระทรวงเรียบร้อยแล้ว”
ส่วนความคืบหน้าเรื่องมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) นั้น ได้ส่งเรื่องไปที่ประชุม ครม. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องรอที่ประชุม ครม. จะบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาเมื่อใด
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ทีมข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำวิเคราะห์และนำเสนอไปแล้วว่า แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 15 ก.พ.2565 กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงไม่เกิน 3 บาทต่อลิตร
โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเชลในครั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาหารือลับ เพื่อจัดทำรายละเอียดเสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณา
“นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานต่าง ๆ มาประชุมลับเพื่อออกกฎหมายมาลดภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซล แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงตอนนี้ โดยได้ข้อสรุปว่าจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เข้ามาแก้ปัญหาควบคู่กัน เหมือนที่เคยมาในช่วงรัฐบาลก่อน”
ขณะเดียวกัน ยังมีการหารือถึงแผนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบัน ยังติดปัญหาการกู้เงินไม่ได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังไม่ได้รับรองเรื่องการใช้เงิน
และรายละเอียดของบัญชีกองทุนฯ ทำให้ขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการกู้เงินในส่วนที่เหลือได้ ดังนั้นจึงต้องหารือกับทาง สตง.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจนก่อน เพื่อใหการกู้เงิน สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย
ในการดำเนินการครั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเพียงชนิดเดียว ซึ่งตามโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ตัวอย่าง ณ วันที่ 20 ต.ค. 2564 จะพบว่า ภายใต้ราคาน้ำมัน 29.29 บาทต่อลิตร จะมีต้นทุนภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร
รวมทั้ง ยังมีภาษีอื่น ๆ ด้วย ทั้งภาษีเทศบาล 0.599 บาทต่อลิตร และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1.872 บาทต่อลิตร หากรวมกันแล้วจะมีการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 8.461 บาทต่อลิตร
แหล่งข่าววงใน เผยอีกว่า ส่วนของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินนั้น กระทรวงการคลัง จะยังไม่พิจารณาปรับลดลงเหมือนกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่จะมีการออกมาตรการช่วยเหลือเป็นแบบเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ หรือจักรยานยนต์รับจ้าง โดยจะใช้กลไกช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น