พิธีไหว้ครู “หลวงพ่อเปิ่น” ตะลึง! ลูกศิษย์ของขึ้นพุ่งใส่รูปปั้น เพจวัดอธิบายอาการ เกิดจากเหตุนี้ 

พิธีไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น ตะลึง ลูกศิษย์ของขึ้นพุ่งใส่รูปปั้น เพจวัดอธิบายอาการ เกิดจากเหตุนี้ 

4 มี.ค.66 ที่ผ่านมา ที่วัดบางพระ จ.นครปฐม ได้มีการจัดพิธีไหว้ครูหลวงพ่อเปิ่น ประจำปี 2566 เกจิอาจารย์ดังแห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี เจ้าตำรับรอยสักเสือเผ่น โดยมีศิษยานุศิษย์และผู้ที่ศรัทธาจากหลายพื้นที่ เดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น

โดยระหว่างพิธีไหว้ครู มีผู้ร่วมพิธีหลายรายเกิดอาการแปลก ๆ ซึ่งเรียกว่า “ของขึ้น” บางรายวิ่งกระโจนเข้าหารูปปั้นหลวงพ่อเปิ่น บางรายมีท่าทางคล้ายเสือ ยืนชูแขนคำรามแล้ววิ่งเข้าใส่รูปปั้น บางรายมีท่าทางคล้ายคนแก่ เดินย่อง ๆ 

ทางเพจเฟซบุ๊ก วัดบางพระ จ.นครปฐม (หลวงพ่อเปิ่น) ได้โพสต์ อธิบาย “อาการของขึ้น” อิงจากฐานความรู้ทางพระพุทธศาสนา ระบุว่า ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค “ สมาธิ “ หมายเอาถึง ภาวะที่จิตมีอารมณ์ตั้งมั่นในอารมณ์เดียวของฝ่ายกุศล ดังนี้ชื่อว่า “สมาธิ”

ระดับของสมาธิ สามารถแยกออกไปได้ตามความละเอียดปราณีตของจิต ซึ่งเกณฑ์ในการใช้แบ่งระดับสมาธินั้นมีได้หลายเกณฑ์ เช่น แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปมาสมาธิ , แบ่งเป็น ๒ ระดับโดยดูจากผลของสมาธิคือฌาน มีรูปฌานกับอรูปฌาน ฯลฯ

ฌาน คือ ความเพ่ง , สมาบัติ คือ การเข้าถึงฌาน

ดังนั้น ทั้งฌาน และสมาบัติจึงไม่ใช่ตัวสมาธิโดยตรง แต่เป็นผลที่เกิดจากสมาธิในระดับละเอียดปราณีตขึ้นไปตามลำดับ

ยกตัวอย่างระดับความละเอียดของสมาธิที่ทำให้เกิดรูปฌาน ๔ คือ

๑ ) ปฐมฌาน มีองค์ ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์
๒ ) ทุติยฌาน มีองค์ ๓ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์
๓ ) ตติยฌาน มีองค์ ๒ ได้แก่ สุข เอกัคคตารมณ์
๔ ) จตุตฌาน มีองค์ ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตารมณ์

แล้วอาการ ” ของขึ้น ” คืออะไร ?

จากกรณีที่ปรากฏขึ้นในงานไหว้ครูนี้ อาการของขึ้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลของการที่จิตตั้งมั่นศรัทธาในรอยสัก และครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ดังที่แสดงออกมาในขณะที่จิตเกิดอารมณ์ ” ปีติ ” หรือความอิ่มเอิบใจ ซึ่ง ” ปีติ ” นั้น สามารถจำแนกออกได้ ๕ ประการ ดังนี้คือ

๑ ) ขุททกาปีติ คือ ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล
๒ ) ขณิกาปีติ คือ ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ
๓ ) โอกกันติกาปีติ คือ ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพักๆ ทำให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกายดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง
๔ ) อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ คือ ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรง ให้รู้สึกใจฟู แสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา เหมือนลอยขึ้นไปในอากาศ
๕ ) ผรณาปีติ คือ ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านเอิบอาบไปทั่วสรรพางค์

( ขุททกาปีติและขณิกาปีติสามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา ,
โอกกันติกาปีตินั้นถ้ามีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น ,
อุพเพคาปีติที่ยึดติดกับดวงกสิณ ทำให้ทั้งกุศล และอกุศลเกิดขึ้น ,
ผรณาปีติบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่ง อัปปนาสมาธิ )

ในคัมภีร์วิมุตติมรรค ได้จำแนกเหตุแห่งการเกิดปีติไว้ ๖ ประการ คือ

๑ ) ปีติเกิดจากราคะ คือเกิดจากความอิ่มใจ เพราะความชอบ หลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส
๒ ) ปีติเกิดจากศรัทธา คือเกิดจากความอิ่มใจของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า
๓ ) ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน คือเกิดจากความอิ่มใจอย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์
๔ ) ปีติเกิดจากวิเวก คือเกิดจากความอิ่มใจของผู้เข้าปฐมฌาน
๕ ) ปีติเกิดจากสมาธิ คือเกิดจากความอิ่มใจของผู้เข้าทุติยฌาน
๖ ) ปีติเกิดจากโพชฌงค์ คือเกิดจากความอิ่มใจที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรค ในทุติยฌาน

โดยสรุป – อาการของขึ้นตามที่ปรากฏนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสมาธิ ( ความตั้งมั่นแห่งจิต ) อันเกิดจากความเชื่อมั่น ทำให้อารมณ์ของจิตเข้าสู่ ” ปีติ ” นั่นเอง

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกสูงสุดของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย.