ผลพวงจากพายุโซนร้อนมู่หลาน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและราษฎรในพื้นที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำปาย หลังเกิดฝนตกหนัก และปริมาณน้ำในแม่น้ำปาย ที่สถานีวัดน้ำบ้านท่าโป่งแดง วัดได้ 3.84 เมตร จากเดิม 2.50 เมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 09.30 น.นายสมบัติ สุขรัตนา เจ้าหน้าที่สถานีวัดระดับน้ำ SW.A5 แม่น้ำปาย สถานีอุทกวิทยาภาคเหนือตอนบน บ้านท่าโป่งแดง หมู่ 5 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปาย คือ อ.ปาย และแม่น้ำสาขา ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า กับ อ.เมือง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปาย ที่สถานีวัดระดับน้ำฯ สูงสุดเมื่อเช้าวันนี้วัดได้ 3.84 เมตร จากเดิมเมื่อวานวัดได้ 2.50 เมตร โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำปาย ได้สูงปริ่มขอบฝั่งพื้นที่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริโป่งแดง หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกเพียง 0.50 เมตร ก็จะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้นทันที แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำยังทรงตัวและค่อยๆ ลดลงบ้างแล้ว หากมีฝนตกลงมาอีกก็อาจจะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเช่นเดิม
นายบุญยิ่ง คีรีสัตยานนท์ ผญบ.บ้านท่าโป่งแดง หมู่ 5 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จากน้ำท่วม ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน กับสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 20 ราย และมีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วม 50 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกถั่วลิสง ข้าวโพด งา ถั่วเหลือง ถั่วฝักยาว ซึ่งขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ซึ่งต้องรอให้น้ำลดลงก่อน
นอกจากที่บ้านท่าโป่งแดง ต.ผาบ่อง แล้ว ที่บ้านสบสอย ต.ปางหมู และ บ้านทุ่งกองมู ต.ปางหมู อ.เมือง ก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน เนื่องจากราษฎรอาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำปาย โดยที่บ้านทุ่งกองมู นายโซแหระ ไม่มีชื่อสกุล บ้านเรือนที่ปลูกติดแม่น้ำปาย พื้นที่ที่ได้ทำการปลูกพืชผักสวนครัว ได้ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด และระดับน้ำได้ท่วมถึงชานประตูทางเข้าบ้าน โดยได้ระบุว่าหากปริมาณน้ำเพิ่มสูงมากกว่านี้ ก็จะพาครอบครัวย้ายไปอาศัยกับญาติที่ไม่ถูกน้ำท่วม ในหมู่บ้านทุ่งกองมูทันที
สำหรับสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากพายุโซนร้อนมู่หลาน ทำให้แม่น้ำสายต่างๆ เพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง และเกิดน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ รวมไปถึงน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และถนนเส้นทางหลายเส้นที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน กับทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งเป็นถนนลำลองไม่ได้มีการราดยางหรือเทคอนกรีต จะมีน้ำท่วมขัง ทำให้การสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก