พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถอนฟ้องนายเศรษฐา ทวีสิน คดีปราศรัยใส่ร้ายในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนเปิดตัวเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นพรรคแรก ประเดิมจัดตั้งรัฐบาล 212 เสียง
“ให้ถือว่ามี 212 เสียงเลยคือ 141 (สส. ของเพื่อไทย) บวก 71 (สส. ของภูมิใจไทย) เพื่อที่ว่าเมื่อมีการเชิญพรรคอื่น ๆ ตามดุลพินิจของพรรคเพื่อไทยมาพูดคุย พรรคอื่น ๆ จะได้มั่นใจว่าในขั้นนี้เราจัดตั้งรัฐบาลได้ และในขณะเดียวกันเราได้รับแจ้งว่าพรรคร่วมฯ ที่อยู่ในแผนของเพื่อไทยมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้วแน่นอน” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. แถลงข่าววันนี้ (7 ส.ค.)
พรรค พท. ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร พลิกมาเล่นบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” ตั้งแต่ 2 ส.ค. นับจากแถลง “ฉีกเอ็มโอยู” 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม และทิ้งให้ก้าวไกล พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ต้องตกที่นั่งฝ่ายค้านเป็นพรรคแรก
ในวันนั้น แกนนำพรรค พท. ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ พร้อมเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
พรรค พท. ใช้เวลา 5 วัน ก็สามารถล็อก 71 เสียงของพรรค ภท. ได้สำเร็จ ก่อนเปิดแถลงข่าวร่วมกันในวันนี้ (7 ส.ค.)
นายอนุทินกล่าวว่า พรรค พท. เห็นพ้องกับแนวทาง 3 ประการของพรรค ภท. ที่แจ้งไว้ในระหว่างการพบปะกันครั้งแรกเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
- ไม่แตะต้องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
- ไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
- ไม่มีพรรค ก.ก. เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
จึงตอบรับการเข้าร่วมรัฐบาล โดยหลังจากนี้ จะร่วมกันหาเสียงสนับสนุนจากทั้ง สส. และ สว. เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนญ ให้แคนดิเดตนายกฯ ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
“พรรคภูมิใจไทยไม่มีนโยบายร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะไม่มีความมั่นคง ไม่มีประโยชน์ คำว่า 188 เสียง ต้องถือว่าไม่เคยมีอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล” หัวหน้าพรรค ภท. กล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าว “ขอบคุณอย่างสูงยิ่ง” ซึ่งคำว่า 212 เสียงของเพื่อไทยและภูมิใจไทย ต้องถือเป็น “สารตั้งต้นที่ถือว่ามีความเข้มแข็ง”
“หาก 2 พรรครวมกันเช่นนี้ ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยก็จะถูกตัดขาดลงไป ไม่มีคำว่า 188 แล้ว” หัวหน้าพรรค พท. กล่าว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ขยายความว่า การจับมือของ พท. กับ ภท. แสดงให้เห็น “จุดเริ่มต้นที่เป็นไปได้” และจากวันนี้ จะได้เสียงเพิ่มเติมจากทั้ง 2 ขั้ว ทั้งจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเดิม ซึ่งมี 312 เสียง และ 188 เสียงของพรรคขั้วเก่าและพรรคที่ไม่ได้รับเชิญให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในครั้งแรก ซึ่งไม่ว่าพรรค พท. จะตัดสินใจอย่างไร ก็จะมีคำตอบที่ชัดเจน และจะรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกพรรคมา
ถึงขณะนี้รัฐบาล “ขั้วใหม่” มีเสียงสภาล่างรวมกัน 212 เสียง ต้องตามหาเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. อีก 163 เสียง จึงจะสามารถส่งนายเศรษฐาเข้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ
แกนนำพรรค พท. ระบุว่า ตลอดสัปดาห์นี้จะได้เห็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนจะจับมือกับพรรค “2 ลุง” อันหมายถึง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “ลุงป้อม” ซึ่งมี สส. 40 เสียง และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งมี สส. 36 เสียง และเคยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ “ลุงตู่” เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค หรือไม่นั้น นพ.ชลน่านบอกว่า ในแถลงการณ์บอกชัดเจนว่าไม่มี “2 ลุง” แต่ไม่ปฏิเสธเงื่อนไขที่ว่า ถ้าจะมี สส. – สว. ในลักษณะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลมาเลือกนายกฯ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน
เพื่อไทยอ้างได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาแล้ว
หัวหน้าพรรค พท. ยังอ่านคำแถลงจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. และพรรค ภท. ระบุตอนหนึ่งว่า “ขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สามารถบริหารประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว”
นอกจากนี้ยังมีการระบุถึง 5 แนวทางในการจัดตั้งรัฐบาล ในจำนวนนี้คือ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประชาธิปไตย นำความปรองดอง สมานฉันท์กลับคืนสู่ประเทศ และเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระแรก จะมีมติให้ทำประชามติขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
ภูมิใจไทยถอนฟ้องเศรษฐาแล้ว
การเปิดตัวพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้แกนนำ พท. และ ภท. ต้องตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความบาดหมางของ 2 พรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
โดยเฉพาะการที่พรรค ภท. ได้ฟ้องดำเนินคดีกับนายเศรษฐา ทวีสิน ในข้อหาปราศรัยใส่ร้ายพรรค กรณีกล่าวหาว่ามีนโยบาย “กัญชาเสรี”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค ภท. จำเป็นต้องถอนฟ้องนายเศรษฐาหรือไม่ คำตอบจากนายอนุทินคือ “ถอนแล้วครับ”
เช่นเดียวกับการออกแคมเปญ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ของพรรค พท. ในระหว่างเดินสายหาเสียงที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่ง นพ.ชลน่านอธิบายว่า ในการรงค์หาเสียง อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เช่น การรณรงค์ “ไล่หนู ตีงูเห่า” เป็นภาพการรณรงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงการเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดขึ้นบนวัตถุประสงค์ที่เกิดขึ้นในกรณีนั้น ๆ แต่วิถีการเมืองของพรรค พท. “เราไม่เคยประกาศว่าเราเป็นศัตรูกับใคร เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิคการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี เพื่อไทยไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร” แต่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมือง และยุติลงหลังประชาชนตัดสินใจว่ามอบอำนาจให้ใครผ่านการเลือกตั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า พรรค พท. เคยเรียกอดีต สส. ที่ถูกพรรค ภท. ดูดไปว่า “งูเห่า” วันนี้ความคิดดังกล่าวสลายไปหมดแล้วหรือ รองหัวหน้าภูมิธรรมบอกว่า สิ่งที่กระทบกระทั่งกันในช่วงหาเสียงเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคิดว่าจะร่วมกันฝ่าวิกฤต เรื่องใหญ่ที่สุดคือต้องเอาปัญหาบ้านเมือง เอาวิกฤตชาติเป็นหลัก และหาทางออกร่วมกัน
สำหรับ “หนู” เป็นชื่อเล่นของนายอนุทิน ส่วน “งูเห่า” คือคำเรียกขานบรรดา สส. ที่ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค
ย้อนอดีต “พรรคตัวแปร” อัตราต่อรองสูง
คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ พรรค ภท. จะได้ดูแลกระทรวงเดิมหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท. อ้างว่า ยังไม่ได้ลงลึกเรื่องการต่อรองเจรจาว่าจะอยู่กระทรวงไหนอย่างไร “อาจฟังดูแปลก หลายคนอาจไม่เชื่อว่าเราไม่ได้เริ่มต้นจากกระทรวง แต่ภายใต้วิกฤต มีความจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องหันหน้ามาหากันก่อน”
สำหรับภูมิใจไทยขึ้นชื่อว่าเป็น “พรรคตัวแปร” ในหลายยุคสมัย เนื่องจากมี สส. ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ สามารถชี้ขาดชัยชนะในทางการเมืองได้ ทำให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง สะท้อนผ่านเก้าอี้รัฐมนตรีที่ได้รับการจัดสรรจากพรรคแกนนำรัฐบาลในหลายโอกาส
รัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554)
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน (พปช.) ในเดือน ธ.ค. 2551 ได้เกิดปรากฏการณ์ “พลิกขั้วการเมือง” เมื่อ สส. อดีตพรรค พปช. กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” 22 คน (ไม่รวมนายชัย ชิดชอบ บิดาของนายเนวิน ซึ่งเป็นประธานสภาในเวลานั้น) พร้อมใจกันโหวตสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นนายกฯ คนที่ 27
ต่อมา 23 สส. กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ได้ย้ายไปรวมกับกลุ่ม “มัชฌิมา” ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มี สส. 9 คน ภายใต้บ้านหลังใหม่ที่ชื่อว่า ภูมิใจไทย ทำให้ ภท. มี สส. รวมกัน 32 คน
รัฐบาลผสม 7 พรรค ภายใต้การนำของพรรค ปชป. มีเสียงในสภารวมกัน 281 เสียง จาก 475 เสียง สูตรจัดเก้าอี้ ครม. ควรอยู่ที่ “8 สส. ต่อ 1 รมต.” แต่พรรค ภท. ซึ่งมี 32 สส. ได้รับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีถึง 7 ตัว หรือคิดเป็น “4 สส. ต่อ 1 รมต.”
ในจำนวนนี้ 5 ตำแหน่งตกเป็นของนักการเมืองกลุ่ม “เพื่อนเนวิน” โดยเป็น 2 รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) และ 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) ประกอบด้วย รมว.มหาดไทย, รมว.คมนาคม, รมช.มหาดไทย, รมช.คมนาคม, รมช.เกษตรและสหกรณ์
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562-2566)
ภายหลังการเลือกตั้ง มี.ค. 2562 นายอนุทินนำ สส. เข้าสภาได้ 51 ชีวิต ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลผสม 20 พรรค ภายใต้การนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ทว่ามีเพียง 6 พรรคร่วมฯ ที่ได้รับเชิญให้ร่วมวง ครม. “ประยุทธ์ 2/1” จำนวน 36 คน รวม 39 ตำแหน่ง (รวมนายกฯ ด้วย) การจัดเก้าอี้รัฐมนตรีจึงอยู่ภายใต้สัดส่วน “3-7 ส.ส. ต่อ 1 รมต.”
สำหรับพรรค ภท. ได้ 3 รมว. และ 4 รมช. โดยนายอนุทินเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.สาธารณสุข ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ได้แก่ รมว.คมนาคม, รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, รมช.เกษตรและสหกรณ์, รมช.พาณิชย์, รมช.มหาดไทย, รมช.ศึกษาธิการ
ในเวลาต่อมา พรรค ภท. มี สส. เพิ่มเป็น 61 คน จากการรับอดีต สส. อนาคตใหม่เข้าสังกัดภายหลังยุบพรรคสีส้ม แต่อนุทินและคณะก็ไม่ได้ขยายโควต้ารัฐมนตรีของ ภท. แต่อย่างใด
“ทะลุวัง” ปะทะคารมเดือดพิพัฒน์
ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมจัดตั้งรัฐบาลของ 2 พรรค ปรากฏว่ามีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ทะลุวัง” นำโดย น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัย หรือหยก ได้สวมชุดพีพีอีที่บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดินทางมาที่ทำการพรรค พท. ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพื่อคัดค้านการจับมือตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความพยายามสกัดกั้นจากพรรค พท. โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้นำแผงเหล็กมาขวางทางเข้าพรรค
ภายหลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น กลุ่มทะลุวังได้เข้าขวางเส้นทางเข้า-ออกของรถหน้าพรรค พท. และขอตรวจรถที่จะออกจากพรรคว่ามีแกนนำพรรค ภท. อยู่ภายในรถหรือไม่ จึงเผชิญหน้ากับรถของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค ภท. ก่อนที่นายพิพัฒน์จะเดินลงจากรถ แล้วมาปะทะคารมกับ บุ้ง-เนติพร
- น.ส.เนติพร: ชื่ออะไร
- นายพิพัฒน์: ผมจะชื่ออะไรก็เรื่องของผม
- น.ส.เนติพร: มาจากพรรคอะไร มาจากพรรคภูมิใจไทยใช่ไหม
- นายพิพัฒน์: พรรคภูมิใจไทยครับ
- น.ส.เนติพร: (ตะโกน) ภูมิใจไทยอยู่ตรงนี้ มันอยู่ตรงนี้ ๆ
- นายพิพัฒน์: มีปัญหาอะไรหรือเปล่า
- น.ส.เนติพร: วันนี้ มีปัญหา ไม่รู้เลยหรือว่ามีประชาชนตายเพราะโควิด
- นายพิพัฒน์: ไม่ทราบ
- น.ส.เนติพร: มีคนตาย 22,993 คน
- นายพิพัฒน์: ใช้ภาษาดี ๆ
- น.ส.เนติพร: กูไม่จำเป็นต้องคุยกับพรรคไอ้พรรคพวกของฆาตกรรม ทำไมกูต้องคุยกับมึง
หลังจากนั้น บุ้ง-เนติพร ก็ตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก่อนที่มีการจุดพลุแฟลร์แล้วโยนไปที่ท้ายรถของนายพิพัฒน์ ทำให้นายพิพัฒน์เดินกลับขึ้นรถไป แล้วให้ขบวนรถถอยกลับมาตั้งหลักใต้อาคารพรรค
จากนั้น กลุ่มทะลุวังได้บุกเขาไปยันลานจอดรถของพรรค เพื่อตามหานักการเมืองจากพรรค ภท. และมีกาจุดพลุแฟลร์ที่ลานจอดรถอีกครั้ง