- ภูเขาไฟ “คุมเบร วีฮา” (Cumbre Vieja) บนเกาะลา ปาลมา ของสเปน เกิดการปะทุรุนแรงเมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ลาวาหินร้อนไหลทะลักจากปากปล่องลงมาท่วมทับพื้นที่เมืองเอล ปาโซ และอีกหลายเมือง ทางการทยอยสั่งอพยพประชาชนล่วงหน้าหลายครั้ง จนถึงตอนนี้มีประชาชนต้องออกจากบ้านเรือนรวมแล้วเกือบ 7,000 คน
- ผู้เชี่ยวชาญเตือนอันตรายของก๊าซพิษ และฝนกรด หลังจากลาวาร้อนเกินกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ยังคงไหลช้าๆ ลงไปตามเนินเขา ผ่านชุมชนเมือง มุ่งหน้าไปยังชายฝั่งทะเล ช่วงที่ไหลลงมาเจอกับน้ำได้ก่อให้เกิดกลุ่มควันก๊าซพิษอันตรายฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ โดยมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่อากาศแล้วประมาณ 8,000-10,500 ตัน
- นักธรณีวิทยาจับตาการพังถล่มของแผ่นดินทางฝั่งใต้ของเกาะลา ปาลมา หากเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหม่ หลังจากมีการเผยแพร่ทฤษฎีการเกิด “Mega Tsunami” ทำให้มวลน้ำสูงกว่า 50 เมตร ซัดไปถึงแถบอีสต์ โคสต์ ของสหรัฐฯ
ภูเขาไฟ “คุมเบร วีฮา” บนเกาะลา ปาลมา ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เกาะภูเขาไฟของหมู่เกาะคานารี ยังคงมีการปะทุต่อเนื่องกว่า 1 สัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่เกิดการปะทุเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ย. 64 และเพิ่มความรุนแรงขึ้น โดยมีปากปล่องภูเขาไฟเปิดออกเพิ่มขึ้นเพื่อระบายความร้อน เถ้าถ่าน ควันไฟ หินร้อน และลาวาออกมา
ควันหนาทึบยังลอยสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 4 กิโลเมตร การปะทุรุนแรงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องถอนกำลังออกไปชั่วคราว และมีคำสั่งอพยพประชาชนเพิ่มเติมอีก 3 หมู่บ้าน เป็นจำนวนกว่า 1,000 คน ได้แก่ หมู่บ้าน “ทาฮูยา” “ทาคานเด เดอ อะบาโย” และ “ทาคานเด เดอ อาร์ริบา” จนถึงตอนนี้มีประชาชนต้องออกจากที่อยู่อาศัยแล้วเกือบ 7,000 คน แต่ยังไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ ขณะที่มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากลาวาที่ไหลออกมาแล้วกว่า 450 หลัง
การปะทุล่าสุด และความเป็นมาทางธรณีวิทยาของ “คุมเบร วีฮา”
การเกิดกระจุกแผ่นดินไหว (earthquake swarm) แรงสั่นสะเทือนกว่า 4,00 ครั้ง ที่เริ่มขึ้นเมื่อ 11 ก.ย. นำไปสู่การระเบิดของภูเขาไฟคุมเบร วีฮา มีการปะทุเถ้าถ่านและลาวาออกมา หลังจากที่เกิดการระเบิดครั้งหลังสุดเมื่อปี 2514 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน
ในส่วนของเกาะลา ปาลมา เป็นหนึ่งในเกาะภูเขาไฟ 8 แห่ง ของหมู่เกาะคานารี ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีประชากรอยู่อาศัยบนเกาะลา ปาลมา ประมาณ 85,000 คน รายได้ส่วนใหญ่ของผู้คนที่นี่มาจากการท่องเที่ยว
ในอดีตที่ผ่านมา การระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะลา ปาลมา ครั้งยาวนานที่สุดคือเมื่อปี 2128 หรือเมื่อกว่า 400 ปีก่อน ในครั้งนั้นกินเวลายาวนาน 84 วัน ส่วนที่เคยใช้เวลาระเบิดน้อยที่สุดคือ 25 วันเมื่อครั้งที่แล้วคือการระเบิดที่ปากปล่อง “เตเนเกีย” ในปี 2514 นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำนอกชายฝั่งเกาะเอล แอร์โร่ ที่อยู่ลงไปทางใต้ เมื่อปี 2554
ประเมินความเสียหาย
ภูเขาไฟ “คุมเบร วีฮา” ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปากปล่องภูเขาไฟเปิดออกเพิ่มขึ้นเพื่อระบายความร้อน เถ้าถ่าน ควันไฟ หินร้อน และลาวาออกมา โดยแมกมายังคงไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ธารลาวาความสูงประมาณ 6 เมตร ไหลด้วยความเร็วประมาณ 200 เมตรต่อชั่วโมง ลงมาทับพื้นที่ทำการเกษตร บ้านเรือนพังไป 461 หลัง ปกคลุมพื้นที่แล้ว 1,325 ไร่ ถนนเสียหายเป็นระยะทาง 16.9 กม. ลาวาไหลท่วมพื้นที่แล้ว 1,325 ไร่ ประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขกว่า 400 ล้านยูโร หรือประมาณ 15,700 ล้านบาท
ขณะที่ควันหนาทึบลอยสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 4 กิโลเมตร ล่าสุดมีคำสั่งปิดสนามบินลา ปาลมา ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ โดยโฆษกท่าอากาศยานลา ปาลมา เปิดเผยว่า ควันหนาทึบจากภูเขาไฟทำให้สนามบินไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังคงเร่งทำความสะอาดเศษเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปกคลุมรันเวย์ของสนามบิน
คำสั่งปิดสนามบินครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเที่ยวบินลำเลียงนักท่องเที่ยวที่ตกค้างออกจากเกาะ และเที่ยวบินเชื่อมกับเกาะอื่นๆ ของหมู่เกาะคานารี โดยคำสั่งปิดสนามบินทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนต้องอาศัยเรือเฟอร์รี่อพยพออกจากเกาะ
จนถึงตอนนี้มีประชาชนต้องออกจากที่อยู่อาศัยแล้วเกือบ 7,000 คน และยังไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บ
นอกจากนี้ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับก๊าซพิษ เมื่อลาวาที่ร้อนกว่า 1,000 องศาเซลเซียสไหลลงไปโดนน้ำทะเล โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยฉุกเฉินของกองทัพสเปน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับก๊าซพิษที่บริเวณใกล้ภูเขาไฟ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ลาวาซึ่งร้อนเกินกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ยังคงไหลช้าๆ ลงไปตามเนินเขา เข้าสู่บริเวณเมืองเอล ปาโซ และมุ่งหน้าไปยังชายฝั่งทะเล ช่วงที่ไหลลงมาเจอกับน้ำได้ก่อให้เกิดกลุ่มควันก๊าซพิษอันตรายฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ โดยมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่อากาศแล้วประมาณ 8,000-10,500 ตัน
นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ระบุว่า คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาประกาศให้เกาะลา ปาลมา เป็นเขตภัยพิบัติ และเตรียมวางแผนการฟื้นฟูความเสียหาย ด้านรัฐบาลท้องถิ่นหมู่เกาะคานารี ประกาศเงินช่วยเหลือฉุกเฉินรอบแรกสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบ้านพักอาศัย
ทฤษฎีการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาโต้ข้อกังวลของหลายฝ่ายที่คิดไปถึงกรณีเลวร้ายที่สุดของภัยธรรมชาติครั้งนี้ ตามทฤษฎีธรณีวิทยาที่มีการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีก่อน ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทางวารสารธรณีวิทยา โดยสตีเฟน วาร์ด แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และไซมอน เดย์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน อ้างอิงจากข้อมูลการสำรวจและศึกษาพบว่า การระเบิดของภูเขาไฟคุมเบร วีฮา ในอนาคตมีโอกาสที่จะทำให้แผ่นดินทางด้านใต้ของเกาะ ประมาณ 150-500 ลูกบาศก์กิโลเมตร ถล่มลงสู่ทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีการทำแบบจำลองการเกิดดินถล่มในครั้งนี้ว่าจะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูงกว่า 50 เมตร ซัดไปไกลถึงแถบอีสต์ โคสต์ ชายฝั่งทางตะวันออกของสหรัฐฯ
ศาสตราจารย์เครสโป บลัง นักธรณีพลศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกรนาดาในสเปน กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องไม่ทำให้ผู้คนแตกตื่นตกใจ โดยในกณีเลวร้ายที่สุดคือแมกมาจะไหลออกจากก้นหลุมแมกมา (magma chamber) จนหมด และอาจทำให้เกิดการยุบตัวภายในปล่องภูเขาไฟ แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อย และเชื่อว่าเมื่อภูเขาไฟสงบลงทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ
ด้านนายราอูล เปเรซ นักธรณีวิทยาก็ออกมาโต้ทฤษฎีมหันตภัยสึนามิของวาร์ดและเดย์ โดยระบุว่า การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะของปรากฏการณ์ระเบิดใต้ดินรุนแรง แต่เป็นการไหลออกมาอย่างต่อเนื่องของแมกมา โดยที่ไม่ได้มีการส่งสัญญาณแรงสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าแรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยแบบนี้จะไม่ได้ทำให้ หลุมปล่องภูเขาไฟ (caldera) ถล่มลงมา
อย่างไรก็ตาม นักภูเขาไฟวิทยาเชื่อว่า กว่าที่ทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คิด แม้หลังจากลาวาหยุดไหลแล้ว ก็ยังอาจเกิดการปะทะภายในปากปล่องภูเขาไฟ ต้องมีการประเมินว่าพื้นที่ไหนเป็นโซนเสี่ยง และต้องสอดส่องความเคลื่อนไหวของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้องมีการเข้าไปตรวจสอบอันตรายของเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ฟุ้งกระจายในอากาศและปนเปื้อนลงสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ ขณะเดียวกันเมื่อพื้นดินเย็นลงก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบดูใต้ดินว่ามีการก่อตัวของอุโมงค์ลาวา (volcanic pipes) ใต้ดินหรือไม่ มีผลกระทบต่อคุณภาพดินหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่ทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ.