รัฐสภาถกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 โดยมีมติเห็นชอบให้การเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่งผลให้มี ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน
วันนี้ (25 ส.ค.) ตั้งแต่เวลา 11.00 น. ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ….. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระที่ 2 ซึ่งเสนอโดยไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานกรรมาธิการฯ
โดยมาตรา 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 2560 ในมาตรา 83 ให้มีจำนวน ส.ส. ทั้งหมดรวม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ล่าสุดเมื่อเวลา 14.50 น. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไขมาตรา 83 ตามมติคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 476 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 เสียง งดออกเสียง 91 เสียง
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มการพิจารณาในวาระ 2 ดังกล่าว มีสมาชิกรัฐสภาลุกขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันหลายคน อาทิ
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แปรญัตติโดยไม่เห็นด้วยกับการให้มี ส.ส.เขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ควรให้มี ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนเช่นเดิม เพราะการให้มี ส.ส.เขตมาก เป็นการมองเพียงระดับพื้นที่ แต่ไม่มองถึงภาพรวมในกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ แม่ค้า แรงงาน ความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ที่อาจไม่มีโอกาสเข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ จำนวน ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อที่ไม่ห่างกันมากจะสร้างความสมดุลระหว่างกัน หากพรรคการเมืองสะท้อนความเป็นพื้นที่และความหลากหลาย สภาจะมีภาพพจน์ความเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ส.ส.ไม่ต้องรวมกันด้วยผลประโยชน์ และไม่ต้องใช้คดีความมากดทับ ส.ส.ด้วย
นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนจำนวน ส.ส. เพราะเราใช้สัดส่วน 400 ต่อ 100 มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงเสนอให้จัดสัดส่วนใหม่ เป็น 375 ต่อ 125 และถ้าหากเป็นไปได้ อยากเสนอให้ล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แล้วค่อยเสนอกลับมาใหม่ให้เป็นร่างที่สมบูรณ์มากกว่านี้ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนจริงๆ เราไม่ควรมองเพียงประโยชน์ของพรรคการเมืองเอง แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่ประชาชน
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรค เพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ อภิปรายว่า ในระบบการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปีหลังประกาศผลเลือกตั้งทั่วไป กำหนดให้มีการนำคะแนนมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ได้ ทำให้ ส.ส.บางท่านต้องออกจากสภาแห่งนี้ไป เพราะคะแนนปัดเศษของท่านน้อยกว่าคะแนนของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ซึ่งจะทำให้ กกต.ทำงานลำบากมาก ดังนั้น ระบบการเลือกตั้งจะต้องเขียนอย่างชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหา
ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ต้องการเน้นย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้ความสำคัญไปที่ราษฎรซึ่งเป็นผู้เลือกตั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีคำถามมากว่าประชาชนได้อะไร และดูเหมือนจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่เลย เพราะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นไปตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ แต่เราต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ เสรี ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการเลือกตั้งมีปัญหาสร้างความแตกแยกให้ประชาชน สร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างมาตรการที่ไม่มีตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ตนจึงเสนอว่าถ้าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ประโยชน์ จะต้องใช้เขตเลือกตั้งเป็นเขตใหญ่ มี ส.ส.หลายคน ไม่ใช่เขตเดียวคนเดียว เพราะเขตเดียวคนเดียว หรือเขตเล็กนั้น ก่อให้เกิดการซื้อเสียงง่าย หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ต้องให้ประชาชนได้มีตัวแทนอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง มีตัวแทนของแต่ละกลุ่มคน
ด้าน ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่าเหตุใดจึงต้องย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 เพราะเราต้องการเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และมีการใช้มาแล้วทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ระบบการเลือกตั้งที่ดีคือระบบการเลือกตั้งที่ไม่มีความสลับซับซ้อน ไม่นำไปสู่การมี ส.ส.แบบปัดเศษ นำไปสู่การนับคะแนนจนเกิดบัตรเขย่ง นำไปสู่การมีรัฐบาลผสมที่มีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่เข้มแข็งพอ
ชินวรณ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งโดยมี ส.ส.เขต จำนวน 400 เขต ไม่ได้หมายความว่าผลักดันให้ ส.ส.ไปทำงานระดับท้องถิ่น แต่ถือเป็นการทำงานระดับชาติด้วยกันทั้งสิ้น แต่การขยายเป็น 400 เขต ถือเป็นการเปิดกว้างให้ทุกเขตมีโอกาสเลือกคนที่ดีของเขาเข้ามาได้