ย้อนดู 200 นโยบาย “ชัชชาติ” ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 ถือเป็นความหวังของคนกรุงฯ ที่ต้องการให้เข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนที่พวกเขาเผชิญอยู่
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 สร้างสถิติใหม่ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” กวาดไปกว่า 1,386,215 คะแนน ได้รับ คว้าคะแนนถล่มทลายจากปลายปากกาประชาชน และยังทำลายสถิติที่ “ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่ทำไว้จากการเลือกตั้งปี 2556 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน ทำให้ชัชชาติ ถือเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มีคะแนนได้รับเลือกตั้งมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ชัชชาติ ประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ พร้อมเปิดแคมเปญ “สร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม” หรือ Better Bangkok เมื่อ 30 พ.ย. 2562
“สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน”
นี่คือสิ่งที่ชัชชาติตั้งใจ และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งชัชชาติ ประกาศนโยบายที่จะพัฒนาแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานคร ถึง 214 นโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คือโจทย์หลักที่ใช้ในออกแบบนโยบาย นำมาสู่นโยบาย 9 ดี ซึ่งนโยบายทั้งหมดมุ่งไปสู่ “เมืองน่าอยู่”
- ปลอดภัยดี
- สุขภาพดี
- สร้างสรรค์ดี
- สิ่งแวดล้อมดี
- บริหารจัดการดี
- เรียนดี
- โครงสร้างดี
- เศรษฐกิจ
- เดินทางดี
เมื่อดูปัญหา “คนกรุงฯ กับชีวิตดีดีที่ลงตัว” ยังมีปัญหาเร่งด่วนที่รอการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน คนกรุงฯ จึงมีความหวังกับว่าที่ผู้ว่าฯ คนที่ 17 จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้ลงตัวตามสโลแกนข้างต้น
ปัญหารถติด
ปัญหาคู่วิถีชีวิตคน กทม.เลยก็ว่าได้ เว็บไซต์ TOMTOM เผยข้อมูลการจราจร ปี 2564 จัดอันดับ การจราจรใน 404 เมือง ใน 58 ประเทศ ใน 6 ทวีป โดยเฉพาะการเสียเวลาการเดินทางบนท้องถนน อันดับ 1 ของโลก
คือ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เสียเวลาในการเดินทางอยู่ที่ 142 ชม.ต่อปี อันดับ 2 กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เสียเวลาในการเดินทางอยู่ที่ 140 ชม.ต่อปี อันดับ 3 กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เสียเวลาบนท้องถนน 128 ชม. อันดับ 4 กรุงโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย เสียเวลาบนท้อนถนน 126 ชม.ต่อปี ขณะที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย อยู่ที่ อันดับ 74 ของโลก เสียเวลาในการเดินทางอยู่ที่ 71 ชม.ต่อปี
ขณะที่จำนวนรถที่จดทะเบียนจากสถิติของกรมการขนส่งทางบก ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ปี 2561 จะพบว่าปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี สิ้นปี 2561 ยอดจดทะเบียนรถทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 3,093,791 คัน เพิ่มจากปีก่อนที่มีจำนวน 3,067,278 คัน สวนทางกับพื้นที่ถนนในกรุงเทพฯ ที่คิดรวมแล้วมีเพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมด
ปัญหาขยะ
- ปี 2559 มีปริมาณขยะ 3,707,660 ตัน หรือเฉลี่ย 10,130 ตันต่อวัน
- ปี 2560 มีปริมาณขยะ 3,863,933 ตัน หรือเฉลี่ย 10,586 ตันต่อวัน
- ปี 2561 มีปริมาณขยะ 3,912,288 ตัน หรือเฉลี่ย 10,719 ตันต่อวัน
- ปี 2562 มีปริมาณขยะ 2,889,723 ตัน หรือเฉลี่ย 7,917 ตันต่อวัน
- ปี 2563 มีปริมาณขยะ 3,484,250 ตัน หรือเฉลี่ย 9,520 ตันต่อวัน
ในปี 2564 คนกรุงเทพผลิตขยะเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 8,000 ตันต่อวัน มีตัวเลขรวมปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ 3,166,276.27 ตัน ที่สำคัญ กทม. ต้องสูญเสียงบไปกับการกำจัดขยะสูงถึงหลักพันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจ่ายให้กับบริษัทเอกชน เพื่อนำขยะเหล่านี้ไปฝังกลบตามต่างจังหวัด
การขนไปฝังกลบที่ต่างจังหวัด (4,700 ตันต่อวัน) การหมักทำปุ๋ย (1,800 ตันต่อวัน) การแยกขยะด้วยเครื่องมือกลแล้วต่อด้วยระบบทางชีววิทยา (800 ตันต่อวัน)และสุดท้ายคือระบบเอาขยะมาเผาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า (500 ตันต่อวัน) รวมแล้วเบ็ดเสร็จตกประมาณวันละ 12,000 ตัน
ปัจจุบัน กทม. มีสถานีกำจัดขยะและขนถ่ายขยะรวม 3 สถานี ได้แก่ สถานีอ่อนนุช สถานีสายไหม และสถานีหนองแขม เป็นต้น
ปัญหาน้ำท่วม
ช่วงนี้ก็หน้าฝนแล้ว แต่ถึงไม่ใช่หน้าฝนก็ท่วมอยู่ดี นี่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คน กทม. ต้องเจอ คือน้ำท่วมขัง น้ำรอระบายในหลายจุด หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักการระบายน้ำ กทม.
แผนปฎิบัติป้องกันเเละแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (1 ต.ค. 2564- -30 ก.ย. 2565 วงเงิน 79,855 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่มีอยู่ที่ 76,451 ล้านบาท
สำนักงานระบายน้ำ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7 พันล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 6.84 พันล้านบาท สำนักการโยธา 6.45 พันล้านบาท สำนักการแพทย์ 4.4 พันล้านบาท และสำนักการจราจรและขนส่ง 3.87 พันล้านบาท
หากดูความสามารถของระบบระบายน้ำได้ไม่เกิน 78 มิลลิเมตร ใน 1 วัน (ใน 1 วัน โดยเฉลี่ยแล้วฝนตกประมาณ 3 ชั่วโมง) หรือแปลงเป็นความเข้มของฝนไม่เกิน 58.7 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่ กทม. ระบุว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบาดน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมในเขตลุ่มต่ำและพื้นที่ที่มีระบบระบายน้ำในพื้นที่มีขีดจำกัดได้ ซึ่งปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ฝุ่น PM 2.5
จากการทำงานของ Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ
- ในปีที่ 2021 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มากถึง 12 วัน คิดเป็น 3.29%
- ระดับสีส้ม หรือมีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ 61 วัน คิดเป็น 16.71%
- ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 202 วัน คิดเป็น 55.34%
- ระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดี 90 วัน คิดเป็น 24.66%
แม้ว่าใน ปี 2565 กทม. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ
แผนปฏิบัติการ 3 ระยะ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ
- ระยะที่ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 12 มาตรการ
- ระยะที่ 2 ค่าฝุ่นระหว่าง 51 – 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 8 มาตรการ
- ระยะที่ 3 ค่าฝุ่นเกินกว่า 76 – 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 6 มาตรการ
กทม. เฝ้าระวังเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ขึ้นในปี 2561 จากนั้นเริ่มมีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับ PM 2.5 มาตั้งตามสถานีตรวจวัดอากาศในแต่ละเขต จนมีครบ 50 เขต ในปี 2563
คนไร้บ้าน
หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลกระทบให้คนตกงาน ไร้อาชีพ ไร้เงิน นำมาซึ่งการไร้บ้าน หรือการติดเชื้อ ทำให้ผู้คนรังเกียจขับไล่ออกจากบ้าน
ข้อมูลจากมูลนิธิอิสรชน พบว่า ปี 2563 มีจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 4,432 คน แบ่งเป็นผู้หญิง 2,623 คน และชาย 1,855 คน
ย้อนกลับไปในปี 2556 กทม. ได้เปิดศูนย์พักพิงสำหรับคนไร้บ้านขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า บ้านอิ่มใจ ตั้งอยู่ที่อาคารเก่าของสำนักงานการประปานครหลวง แม้นศรี
คนไร้บ้านยังคงมีอยู่มากในสังคม และกระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของเมืองใหญ่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนต่างต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง
ปัญหาทางเท้า
ปัญหาใหญ่ที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งชำรุด เป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้เวลานานในการซ่อมแซม ถ้าโชคดีเหยียบถูกอัน น้ำพุ่งจะขึ้นมาเปียกทั้งรองเท้าและขากางเกงทันที
ภาพที่เห็นจนชินตาก็คือ มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า หรือจอดรถบนทางเท้า มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ตำรวจจราจรทำงานร่วมกับเทศกิจ ถ้าหากพบผู้กระทำผิดจะมีโทษปรับ 500 บาท และมีมาตรการปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท ให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัวกฎหมายมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืน
สำนักการโยธา กทม. จะตรวจสอบความเสียหายทางเท้าตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบความเสียหายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนนที่ดูแลพื้นที่ จะจัดหน่วยซ่อมฉุกเฉินเข้าไปซ่อมแซมทันที และหากมีการแจ้งข้อมูลจากประชาชน จะลงพื้นที่จัดซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน
ส่วนตรวจพบการใช้งานทางเท้าผิดประเภท เช่น จอดรถบนทางเท้า ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จะแจ้งสำนักงานเขตดำเนินการตามหน้าที่