รวมคำถามไขข้อสงสัย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 หรือ บัตรคนจนรอบใหม่ เปิดลงทะเบียนวันนี้ ต้องมีคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ รวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียน และตรวจสอบสถานะได้อย่างไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงการคลัง เปิดรับลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 โดยเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 ก.ย. 2565 จนถึงวันพุธที่ 19 ต.ค. 2565 หลายคนอาจเกิดปัญหา และข้อสงสัยในขั้นตอนขอการลงทะเบียน รวมถึงคุณสมบัติ และระยะในการตรวจสอบสถานะ เราจึงได้รวมรวมคำถามที่พบบ่อย เพื่อไขข้อสัยของประชาชน ดังนี้
1. คุณสมบัติและหลักเกณฑ์
สมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน ได้แก่บุคคลใดบ้าง
ผู้ลงทะเบียน คู่สมรส (สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) และบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามข้อมูลของกรมการปกครอง (แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
กรณีบุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างไร
ในกรณีที่บุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนสามารถกรอกเลขประจำตัวประชาชนของบุตรตามที่ปรากฏในสูติบัตร และต้องยื่นเอกสารสำเนาสูติบัตรของบุตรที่หน่วยงานรับลงทะเบียน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
ผู้ลงทะเบียนต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับอย่างไร
ผู้ลงทะเบียนจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป นับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (19 ตุลาคม 2565)
ผู้ลงทะเบียนมีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี และเกิน 18 ปี ต้องระบุข้อมูลอย่างไร
ระบุข้อมูลในแบบฟอร์มเฉพาะบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (วันที่ 19 ตุลาคม 2565)
บุตรของผู้ลงทะเบียนจะต้องลงนามในแบบฟอร์มอย่างไร
- บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุเกินกว่า 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 19 ต.ค. 65 ให้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง
- บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 19 ต.ค. 65 ให้ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนบุตร
ผู้ถือบัตรสวัสดิการปัจจุบัน ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่
ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนใหม่ทุกคน ทั้งผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน และผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว จะต้องลงทะเบียนทั้งสามี และภรรยาหรือไม่ และจะได้รับสิทธิ์คนละสิทธิ์ใช่หรือไม่
การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เป็นการลงทะเบียนเป็นรายบุคคล และตรวจสอบรายบุคคลและครอบครัว โดยมีขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ 2 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนว่าผ่านตามเกณฑ์หรือไม่
- ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาคุณสมบัติตามเกณฑ์ของครอบครัว (กรณีที่ผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว)
ดังนั้น หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว สามารถลงทะเบียนได้ทั้งสามี และภรรยา ทั้งนี้ หากสามี และภรรยาผ่านการตรวจสอบคุณสมบติก็จะได้รับสิทธิ์คนละ 1 สิทธิ์
หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสหรือบุตร ให้มาลงทะเบียนที่จุดรับลงทะเบียนหรือลงลายมือชื่อในเอกสารได้ ต้องดำเนินการอย่างไร
แบบฟอร์มลงทะเบียนจะต้องมีการลงนามที่ครบถ้วนหากมีครอบครัว (คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องลงนามทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งนี้ คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนพร้อมกับผู้ลงทะเบียน แต่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตร พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาพร้อมกับแบบฟอร์มลงทะเบียน
คนกลุ่มใดบ้างที่สามารถมอบอำนาจได้ และใช้เอกสารอะไรบ้าง
บุคคลที่สามารถมอบอำนาจสำหรับการลงทะเบียน ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีเอกสารประกอบการลงทะเบียน ดังนี้
- หนังสือมอบอำนาจ (สำหรับผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน (ผู้มอบอำนาจ) พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง
- สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
ใครต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม ในกรณีที่มีหนังสือมอบอำนาจจากผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง
ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงนามในแบบฟอร์มลงทะเบียน ซึ่งผู้ลงทะเบียนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง
กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ และหากต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนได้หรือไม่ และถ้าหากลงทะเบียนได้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนว่ามีครอบครัวหรือไม่
ผู้ลงทะเบียนที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายประเทศไทย คู่สมรสจะต้องขอ “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” หรือบัตรต่างด้าว ที่เขต/อำเภอ เพื่อให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ มีข้อมูลเลข 13 หลัก เพื่อใช้สำหรับลงทะเบียน
2. ขั้นตอนการลงทะเบียน
ผู้ลงทะเบียนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์แล้ว ต้องมายื่นเอกสารที่หน่วยรับลงทะเบียนหรือไม่
แบ่งตามสถานะของผู้ลงทะเบียน ดังนี้
- ผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีครอบครัว จบขั้นตอนที่เว็บไซต์ โดยไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยรับลงทะเบียน
- ผู้ลงทะเบียนที่มีครอบครัว ต้องเดินทางมาแสดงตัวตน และนำแบบฟอร์มลงทะเบียน พร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงทะเบียนที่ลงนามครบถ้วน มายื่นที่หน่วยรับลงทะเบียนที่เลือกไว้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาการเปิดรับลงทะเบียน
คู่สมรส และบุตรของผู้ลงทะเบียนต้องเดินทางมายังหน่วยรับลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนด้วยหรือไม่ สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ
- กรณีคู่สมรสและบุตรเดินทางมาที่หน่วยรับลงทะเบียน : คู่สมรสและ/หรือบุตร ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เพื่อยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่หน่วยรับลงทะเบียน และต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตร
- กรณีคู่สมรสและบุตรไม่ได้เดินทางมาที่หน่วยรับลงทะเบียน : คู่สมรสและ/หรือบุตรต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตร
การลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องลงลายมือชื่อในส่วนใดบ้าง หากลงลายมือชื่อไม่ครบถ้วนจะมีผลอย่างไร
กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์โครงการฯ หรือยื่นแบบฟอร์มที่หน่วยงานรับลงทะเบียน จะต้องลงลายมือชื่อในส่วนที่ 7 และส่วนที่ 8 ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่า “กระทรวงการคลังได้รับข้อมูลการลงทะเบียนของท่านครบถ้วนแล้ว” ดังนี้
- ส่วนที่ 7 การรับรองความถูกต้องของผู้ลงทะเบียน : ผู้ลงทะเบียนลงลายมือชื่อ
- ส่วนที่ 8 การยินยอมให้เปิดเผยและตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว : ผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน (ถ้ามี) ลงลายมือชื่อ
- ส่วนที่ 8 ความยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด : ผู้ลงทะเบียนลงลายมือชื่อ
กรณีผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีครอบครัว ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไม่ต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียน แต่หากลงทะเบียนผ่านหน่วยรับลงทะเบียนต้องลงนามตามรายละเอียดด้านบน
ผู้ลงทะเบียนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และเลือกหน่วยรับลงทะเบียนที่จะไปแสดงตัวตนและยื่นเอกสารแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่เลือกไว้ได้หรือไม่
ผู้ลงทะเบียนสามารถทำการเปลี่ยนแปลงสถานที่ในการยื่นเอกสารลงทะเบียนได้ และไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานที่ยื่นเอกสารผ่าน Website ก่อนที่จะเข้าไปยื่นเอกสาร ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน ทั้งนี้ หากผู้ลงทะเบียนได้ยื่นเอกสารประกอบการลงทะเบียนที่หน่วยรับลงทะเบียน และได้รับหลักฐานยืนยันการลงทะเบียน (ส่วนที่ 11) แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ยื่นเอกสารได้
บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ สามารถใช้ลงทะเบียนได้หรือไม่
บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ สามารถใช้ลงทะเบียนได้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (เพิ่มเติม ครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 65
ผู้ลงทะเบียนที่บัตรประชาชนแบบเก่า ไม่ใช่ Smartcard สามารถลงทะเบียนได้หรือไม่
สามารถลงทะเบียนผ่านหน่วยรับลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชนได้ ทั้งนี้ แนะนำให้ผู้ลงทะเบียนเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเป็นแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เนื่องจากหากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นผู้ได้รับสิทธิ์โครงการ จะต้องมีขั้นตอนในการยืนยันตัวตนที่จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card
หากผู้ลงทะเบียนยืนยันการลงทะเบียนแล้ว สามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่
หากยืนยันการลงทะเบียนแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลใดได้ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทะเบียนตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแล้ว พบว่า ผลการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ (เนื่องจากข้อมูลผู้ลงทะเบียน หรือข้อมูลสมาชิกในครอบครัวไม่ตรงตามฐานข้อมูลกรมการปกครอง) ผู้ลงทะเบียนสามารถติดต่อขอแก้ไขข้อมูลดังกล่าวได้ ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนได้ยื่นแบบฟอร์มและเอกสารประกอบไว้เท่านั้น
สามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ได้ตลอดเวลาหรือไม่
ระบบเปิดให้ลงทะเบียนเวลา 06.00 – 23.00 น. ของทุกวัน ระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2565 – 19 ตุลาคม 2565
สามารถไปลงทะเบียนที่หน่วยรับลงทะเบียนที่ใดได้บ้าง
สามารถเดินทางไปลงทะเบียนยังหน่วยรับลงทะเบียน 7 หน่วยงาน ดังนี้
1. ธนาคารกรุงไทย
2. ธนาคารออมสิน
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
4. สำนักงานคลังจังหวัด
5. ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ
6. สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
7. สำนักงานเมืองพัทยา
3. การตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนผ่านช่องทางใด
สามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้
- ผ่านเว็บไซต์โครงการ โดยระบุหมายเลขบัตรประชาชนและวันเดือนปีเกิด ของผู้ลงทะเบียน
- หน่วยรับลงทะเบียน โดยการระบุหมายเลขบัตรประชาชน หรือ Dip Chip
ผู้ลงทะเบียนจะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นตอนใดบ้าง ในการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565
ผู้ลงทะเบียนจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์สวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เมื่อ
- ผ่านการตรวจสอบสถานะบุคคลและความสัมพันธ์กับกรมการปกครอง
- ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ
- ผ่านการยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิ์
กรณีประกาศผลการตรวจสอบสถานะบุคคลแล้วไม่ตรงกับข้อมูลในฐานของกรมการปกครอง ต้องทำอย่างไร
กรณีที่ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้องตามข้อมูลของกรมการปกครอง หลังจากวันที่ประกาศผล ผู้ลงทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลของตนเองให้ตรงกับข้อมูลของกรมการปกครอง ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ตนได้ลงทะเบียน หรือได้ยื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนไว้เท่านั้น และสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่ไม่มีครอบครัว (โสด) สามารถไปแจ้งแก้ไขข้อมูลที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใดก็ได้
กรณีประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไม่ผ่าน ต้องทำอย่างไร
ผู้ลงทะเบียนสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านทางเว็บไซต์โครงการฯ และติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่ผ่าน เพื่อขอแก้ไขปรับปรุงข้อมูลโดยตรง
ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องดำเนินการอย่างไร
ผู้ลงทะเบียนจะต้องยืนยันตัวตนผ่านอุปกรณ์การยืนยันตัวตน (Full E KYC) โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ณ ธนาคารตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน.