การเจรจาของคณะผู้แทนจากรัสเซียและยูเครนยกแรกที่เมืองชายแดนเบลารุส (28 ก.พ.) เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสองประเทศจบลงโดยไม่มีอะไรคืบหน้า จากฝ่ายรัสเซียยังไม่ตอบสนองความต้องการของยูเครนในการทำข้อตกลงหยุดยิงโดยทันที และถอนทหารออกจากยูเครนได้
ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้เน้นยํ้าว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ชาติตะวันตกจะต้องรับประกันว่ายูเครนจะมีสถานะรัฐที่เป็นกลาง และการปลดอาวุธยูเครน ทำให้เป็นเขตปลอดทหาร ตีความเป้าประสงค์ที่ชัดเจนของรัสเซียคือ ยูเครนที่อยู่ติดกับรัสเซียจะต้องไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO) ที่มีสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปเป็นแกนนำ จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซียในอนาคต
ปฐมเหตุการบุกยึดยูเครนของรัสเซียครั้งนี้ มีส่วนสำคัญจากเมื่อ 30 ปีก่อน ยุคสงครามเย็น อดีตสหภาพโซเวียต (หรือรัสเซียในปัจจุบัน) ได้ปลดปล่อยประเทศในอาณัติทั้งหลายในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกให้เป็นอิสระ ไม่ขัดขวางการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกให้เป็นหนึ่งเดียว และจะไม่ขัดขวางเยอรมนีรวมชาติแล้วในการเป็นสมาชิกนาโต้ แต่มีเงื่อนไขว่านาโต้ (ที่มีสหรัฐฯเป็นพี่เบิ้ม) ต้องไม่รับประเทศที่อยู่ติดพรมแดนโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก
แต่เวลาต่อมา นาโต้ได้รับ 3 ประเทศที่อยู่ใกล้กับรัสเซีย ได้แก่ ลัตเวีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย เข้าเป็นสมาชิก และกำลังดึงยูเครนเข้าร่วม หากมองในมุมรัสเซียถือว่านาโต้ทำผิดสัญญา ทำให้หมดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ดังนั้นจึงต้องออกมาป้องปรามยูเครนในยุคประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่ฝักใฝ่สหรัฐฯและยุโรปหรือนาโต้
อย่างไรก็ตามแม้สงครามครั้งนี้ยูเครนจะถูกโดดเดี่ยวทางการทหาร เพราะนาโต้ไม่สามารถส่งกองกำลัง เข้าไปช่วยรบได้ จากยูเครนยังไม่ได้รับฉันทามติให้เป็นสมาชิก แต่ชาติสมาชิกในนาโต้ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปได้สนับสนุนยูเครนที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนในการประลองกำลังกับรัสเซีย โดยให้การช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธแทน อาทิ สหรัฐฯให้เงินสนับสนุนทางการทหารยูเครน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, เยอรมนี มอบขีปนาวุธ Stinger ต่อต้านอากาศยาน 500 นัด และปืนต่อสู้รถถังพร้อมกระสุน 1,000 นัด
ส่วนเนเธอร์แลนด์จะส่งขีปนาวุธ Stinger 200 นัด และปืนใหญ่ต่อสู้รถถัง 50 กระบอก พร้อมกระสุน 400 นัด และล่าสุดสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ได้ปลดล็อคงบประมาณ 450 ล้านยูโร ให้รัฐสมาชิกซื้ออาวุธให้ยูเครน ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า หากรัสเซียยังไม่สามารถยึดครองกรุงเคียฟที่เป็นเมืองหลวงของยูเครนได้ เกมนี้คงยืดเยื้อไปอีกระยะ เพราะหากเทียบแสนยานุภาพทางทหารที่ไม่มีประเทศที่สามยื่นมือเข้าไปช่วยแล้ว ยูเครนคงไม่สามารถสู้รัสเซียได้
ดังนั้นเกมนี้ ขาข้างหนึ่ง รัสเซียคงต้องเร่งเผด็จศึกยึดครองยูเครนโดยเร็ว และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่โปร หรือสนับสนุนรัสเซียเข้าไปบริหาร เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของรัสเซีย ขณะที่อีกขาหนึ่งก็จะมีการเจรจากับยูเครนควบคู่กันไปเพื่อกดดันให้ได้ในสิ่งที่รัสเซียต้องการ แม้จะถูกประชาคมโลกประณามก็ตาม
อย่างไรก็ดีสงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งได้ปะทุเป็นสงครามโลกทางเศรษฐกิจยุคใหม่ เมื่อสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรตะวันตกได้ออกแถลงการณ์(26 ก.พ.) ประกาศจะควํ่าบาตรรัสเซียด้วยการขับหลายธนาคารของรัสเซียออก จากระบบ SWIFT (เป็นเครือข่ายการ โอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยสูงที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง) เปรียบเสมือน “ระเบิดนิวเคลียร์ทางการเงิน” ที่ทำลายความสามารถของรัสเซียในการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศที่กระทบหนักกว่าการใช้อาวุธ
ขณะที่เยอรมนีได้ระงับการออกใบอนุญาตประกอบการให้กับโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียที่สร้างเสร็จแล้วเพื่อส่งไปขายเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับรัสเซีย และยังมีอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ได้ประกาศควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะส่งทหารเข้าไปช่วยรบในยูเครน แต่ในครั้งนี้ได้เลือกตอบโต้รัสเซียผ่านสงครามทางเศรษฐกิจแทน เพราะไม่ต้องการจุดชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามนิวเคลียร์ ที่ฝ่ายรัสเซียได้สั่งเตรียมพร้อมเต็มพิกัด
แม้สงครามโลกครั้งที่ 3 ยังไม่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อไทยและต่อโลกแล้วอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งราคานํ้ามัน ราคาสินค้า ราคาทอง ราคา เหล็ก สินค้าวัตถุดิบทางการเกษตร โภคภัณฑ์ต่าง ๆ เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นยกแผง ตลาดหุ้นผันผวน ดอกเบี้ยขาขึ้น ฯลฯ และจะยังเป็นไปอย่างนี้หากสงครามยังยืดเยื้อ
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3762 วันที่ 3 – 5 มีนาคม 2565