Highlight
- ในช่วงปี พ.ศ. 2504 – 2518 กองทัพคอมมิวนิสต์ได้ขยายอิทธิพลและกำลังพลเข้ามาแทรกซึมในประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งพลเรือนไปร่วมรบ โดยรับสมัครอาสาสมัครชายไทย อายุ 20 ขึ้นไป และเรียกอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “ทหารเสือพราน”
- กองกำลังทหารเสือพราน ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น อาวุธ การฝึกอบรม การส่งกำลังไปแนวหน้า การนำผู้บาดเจ็บกลับมารักษา รวมไปถึงเงินเดือนของทหารเสือพราน
- ด้วยค่าตอบแทนที่สูงลิ่วทำให้ทหารเสือพรานถูกมองว่าเป็น “ทหารรับจ้าง” ทว่า นอกเหนือจากค่าจ้างแล้ว ทุกคนที่เดินเข้าสู่สนามรบในครั้งนั้น ล้วนแล้วแต่มี “จิตสำนึกรักชาติ” เหมือนกันหมด
- ทหารเสือพรานที่เคยไปรบในลาวได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคม ในชื่อ “สมาคมนักรบนิรนาม 333” เพื่อเป็นจุดนัดพบกันระหว่างสมาชิก ร่วมรำลึกถึงความทรงจำในภารกิจช่วยชาติ ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก และเปิดเผยวีรกรรมในครั้งนั้น
“กองทหารวากเนอร์” คือกลุ่มทหารรับจ้างที่ยกทัพเคลื่อนกำลังพล มุ่งหน้าสู่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย พร้อมประกาศกร้าวว่า “จะทำทุกวิถีทาง เพื่อโค่นล้มผู้ครองอำนาจสูงสุดทางทหาร” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความระส่ำระสายและกลายเป็นข่าวที่คนทั้งโลกจับตาดูอย่างใกล้ชิด ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กับ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย และสงครามยูเครน ที่กินเวลามานานกว่า 2 ปี
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้อาชีพ “ทหารรับจ้าง” กลายเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจในทันที และนำไปสู่ข้อสงสัยว่าประเทศไทยมีทหารรับจ้างเหมือนกับรัสเซียหรือไม่ Sanook รับหน้าที่ไขข้อสงสัย และพาทุกคนไปทำความรู้จัก “ทหารเสือพราน” ทหารรับจ้างที่ลุกขึ้นจับปืนเพราะจิตสำนึกรักชาติและประชาชน
ทหารเสือพราน
ในช่วงปี พ.ศ. 2504 – 2518 เป็นช่วงเวลาของสงครามแย่งพื้นที่ระหว่างขั้วประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ โดยมี “ประเทศลาว” เป็น “สมรภูมิลับ” ของการสู้รบระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือกับกองทัพสหรัฐ ซึ่งทำการสู้รบทั้งทางตรงและผ่านทหารกองโจร โดยมีจุดหมายเป็น “ด้ามขวาน” ของประเทศลาว
กองทัพคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น ได้ขยายอิทธิพลและกำลังพลเข้ามาแทรกซึมในประเทศไทย เพื่อหาแนวร่วมหนุนระบอบคอมมิวนิสต์ ตามแผน “ทฤษฎีโดมิโน” ส่งผลให้รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งพลเรือนไปร่วมรบ โดยรับสมัครอาสาสมัครชายไทย อายุ 20 ขึ้นไป และเรียกอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “ทหารเสือพราน” เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ป้องกันภายนอกประเทศ หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์การป้องกันในเขตหน้า
กองกำลังทหารเสือพราน เป็นกองกำลังที่มีอาสาสมัครที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดกองกำลังคล้ายกองพันทหารราบของไทย คือจัดเป็นกองพันทหารเสือพราน รวม 36 กองพัน แต่ละกองพันมีทหารเสือพราน 500 นาย โดยการไปรบในครั้งนั้น เป็น “ปฏิบัติการลับ” ทหารเสือพรานชุดแรก ๆ ถูกส่งเข้าไปประจำที่ประเทศลาวในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2514 ณ ทุ่งไหหิน เพื่อทดแทนกำลังพลของไทยที่ไปปฏิบัติการอยู่ก่อนแล้ว การรบดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ. 2516 ซึ่งประเทศลาวได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น มีการลงนามในสัญญาหยุดยิง และถอนทหารทุกฝ่ายออกจากแนวรบ ทั้งนี้ กองทัพทหารเสือพรานของไทยได้ถอนตัวจากลาวเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2517 สรุปรวมจำนวนทหารเสือพรานที่ถูกส่งไปลาวทั้งหมด ประมาณ 30,000 นาย พลีชีพมากกว่า 2,580 นาย บาดเจ็บนับหมื่นนาย ถูกจับเป็นเชลยศึกเกือบสามร้อยนาย และหายสาบสูญอีกจำนวนหนึ่ง
ทหารรับจ้างของไทย
กองกำลังทหารเสือพราน ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากรัฐบาลอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น อาวุธ การฝึกอบรม การส่งกำลังไปแนวหน้า การนำผู้บาดเจ็บกลับมารักษา รวมไปถึงเงินเดือนของทหารเสือพราน โดยเรื่องเล่าของปรีชา นิธิสุภา ที่เคยให้สัมภาษณ์กับชุติมา นุ่มมัน เรื่อง “นักรบนิรนาม วีรบุรุษที่ถูกลืม” ระบุว่า หลังจากทำงานเป็นล่ามให้ทหารไทยที่ฝึกและทบทวนการรบกับทหารอเมริกัน เขาก็ถูกส่งไปเข้าคอร์สผู้นำการโจมตีทางอากาศหน้า หรือ “แฟ็ก” ที่ต้องทำงานเป็นผู้ประสานงานระหว่างทหารเสือพรานกับทหารอเมริกัน
ปรีชาเล่าว่า ระหว่างที่ถูกส่งไปรบอยู่ในลาว เขาได้เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงสูงถึงเดือนละ 18,000 – 20,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนในการเสี่ยงชีวิตในสนามรบ พร้อมกับมีเงินล่อใจอื่น ๆ สำหรับปฏิบัติการบางอย่างเป็นพิเศษด้วย เช่น หากยึดรถถังฝังตรงข้ามได้ ก็จะได้รับเงินคันละ 20,000 บาท ซึ่งค่าตอบแทนที่สูงลิ่วทำให้ทหารเสือพรานถูกมองว่าเป็น “ทหารรับจ้าง” ทว่า นอกเหนือจากค่าจ้างแล้ว ทุกคนที่เดินเข้าสู่สนามรบในครั้งนั้น ล้วนแล้วแต่มี “จิตสำนึกรักชาติ” เหมือนกันหมด
Sanook เปรียบเทียบรายได้ของทหารเสือพรานกับค่าทองในช่วงปี พ.ศ. 2514 ราคาบาทละ 451 บาท หากทหารเสือพราน 1 นาย ได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 20,000 บาท พวกเขาจะสามารถซื้อทองได้ประมาณ 44 บาท และถ้าเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน ทหารเสือพราน 1 นาย จะได้รับเงินเดือนประมาณ 1,400,000 บาท
ไม่ใช่ “ทหารรับจ้าง” ที่ต้องรับใช้ “ผู้ว่าจ้าง”
บทความพิเศษเรื่อง “2503 สงครามลับ สงครามลาว (91)” โดยพล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ระบุว่า นักรบนิรนามอาจไม่สามารถอธิบายเหตุผลทางการเมืองระหว่างอันซับซ้อนในขณะนั้นได้ แต่ทุกคนตระหนักว่าตนไปรบ เพื่อป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์ข้ามแม่น้ำโขงมายึดครองประเทศไทย นั่นเป็นเหตุผลง่าย ๆ ที่ชายไทยเหล่านี้ยินดีเดินเข้าสู่สนามรบและปฏิบัติลับ
“แม้จะเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักรบนิรนามว่า การสนับสนุนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณมหาศาล รวมทั้งค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับนั้น มาจากซีไอเอ มาจากสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขาล้วนตระหนักว่า การศึกครั้งนี้ พวกเขามิได้รบเพื่ออเมริกา พวกเขามิได้รบเพื่อราชอาณาจักรลาว แต่พวกเขารบเพื่อแผ่นดินเกิด – ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเขา พวกเขาเป็นนักรบนิรนามแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…” พล.อ.บัญชร เขียน
สงครามที่โลกหันหลังให้
แม้จะเป็นปฏิบัติการลับเมื่อครั้งอดีต แต่ในปัจจุบัน ทหารเสือพรานที่เคยไปรบในลาว ก็ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสมาคม ในชื่อ “สมาคมนักรบนิรนาม 333” เมื่อพบกันก็จะอ้างการสังกัดกองพันต่าง ๆ เช่น BC 606, BC 612 หรือ BC 621 เป็นต้น โดยสมาคมดังกล่าวกลายเป็นจุดนัดพบกันระหว่างสมาชิก เพื่อร่วมรำลึกถึงความทรงจำในภารกิจช่วยชาติ ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกด้วยกัน และเปิดเผยวีรกรรมในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่เคยออกมายอมรับว่ามีปฏิบัติการลับในลาวเกิดขึ้น แม้จะส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบ และในวันทหารผ่านศึกของทุกปี สมาคมนักรบนิรนาม 333 ก็ยังคงออกมาเรียกร้องให้สังคมไทยยอมรับ “ภารกิจเพื่อชาติ” ในครั้งนั้น เช่นเดียวกับร้องขอให้ภาครัฐนำอัฐของทหารไทย ที่เสียชีวิตในสงครามครั้งนั้นกลับประเทศ
แม้สงครามในลาวจะถูกทำให้กลายเป็น “เรื่องลับ” ที่ไม่มีใครรับรู้ แต่ประเทศลาวก็ได้กลายเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกทิ้งระเบิดโดยกองกำลังสหรัฐฯ มากถึง 2 ล้านตัน หรือมากกว่าการทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมีคนลาวอีกมากมายที่ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวะ หรือคนรัก จากการเหยียบระเบิดในพื้นที่
คำถามก็คือ แล้วสงครามลับที่ต่อสู้กันอย่างเงียบเชียบหลายปี มีผู้สูญเสียมากเกินกว่าจะนับไหวในครั้งนี้ ควรถูกนำมาพูดถึงอย่างเปิดกว้างกันได้แล้วหรือยัง?
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :Go to Know,รายการความจริงไม่ตาย: สงครามลับในลาว,มติชนสุดสัปดาห์,Brand Think,Wikipedia,มติชนออนไลน์,มติชนสุดสัปดาห์: ชุติมา นุ่มมัน
ภาพ :AFP,Getty images