ศบค.ห่วงยอดเสียชีวิต-ผู้ป่วยปอดอักเสบพุ่ง เร่งกระตุ้นฉีดวัคซีนลดเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศ ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณหลักร้อย แต่ขณะนี้ขึ้นมาเป็นหลักพัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะเห็นว่า มีทิศทางแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยวันเดียวกันนี้มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุด และทิศทางตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 2 สัปดาห์ จาก RT-PCR หรือ ATK พบว่า รวมกันยังมีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แบบทรงๆ ไม่ได้เพิ่มสูงมาก
ทั้งนี้ ในที่ประชุมศบค.เช้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้พูดคุยเรื่องการเร่งรัดการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเสียชีวิตหากติดโควิด-19 โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ครอบคลุมอย่างน้อย 70% จึงกำหนดสัปดาห์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในวันที่ 21-31 มีนาคม 2565
พร้อมขอความร่วมมือประชาชน กรรมการโรคติดต่อจังหวัดทำแผนเชิงรุง สำรวจผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วให้เคร่งครัดมาตรการ Universal Prevention ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
พญ.สุมนี กล่าวย้ำว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ 6 เท่าของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และถ้าฉีด 3 เข็มเป็นเข็มกระตุ้น จะลดการเสียชีวิต 7 เท่าของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีด ดังนั้นการฉีดวัคซีนจะช่วยลดการเสียชีวิตได้อย่างมาก
พญ.สุมนี ยังได้กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และมีการหารือถึงการแบ่งระยะเวลาการดำเนินการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นทั้ง 4 ระยะ ประกอบด้วย
1. ระยะขาขึ้น คือ การที่มีจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยจะต้องมีการควบคุม เพื่อลดการระบาดให้ได้มากที่สุด
2. ระยะคงที่ คือ ระยะที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนคงที่ และไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปกว่าเดิม
3. ระยะที่มีการลดลงของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
4. ระยะที่ออกจากการเป็นโรคระบาดเข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่น
พญ.สุมนี กล่าวว่า การเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องพิจารณาจากปัจจัยในหลายด้าน เช่น จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบหรือผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ความครอบคลุมในการได้วัคซีน อัตราการเสียชีวิต เป็นต้น และการจัดแผนรองรับในด้านต่างๆจะต้องมีความพร้อม ซึ่งในการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ได้มีการจัดการเรื่องการทำแผนการเฝ้าระวังป้องกันโรค การสอบสวนโรค และทำแผนการดูแลรักษา รวมทั้งมาตรการต่างๆด้านกฎหมายที่จะต้องรองรับทั้ง 4 ระยะ ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้คณะกรรมการฯจะต้องมีการพิจารณาเป็นระยะ เพื่อความครอบคลุมในการดำเนินงานในทุกๆด้าน
ภาพจาก : AFP