ศบศ.จ่อเพิ่มเงินคืนให้กองถ่ายภาพยนตร์ ดึงต่างชาติเลือกไทยเป็นโลเกชัน

ศบศ.เสาะหามาตรการดึงการลงทุน จ่อเพิ่มเงินคืนให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่เลือกไทยเป็นโลเกชัน จากปัจจุบันสูงสุด 15% เป็นสูงสุด 30% หวัง 5 ปีดึงเงินเข้าไทย 20,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมออกวีซ่า LTR อยู่ในไทยยาว 10 ปีให้เศรษฐีและคนเกษียณต่างชาติ ลุยลดกฎระเบียบกิจการคลาวด์เซอร์วิสและยกเว้นภาษีให้สตาร์ตอัพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางพลิกโฉมประเทศ จะต้องทำทุกด้าน อยู่แบบเดิมไม่ได้เนื่องจากโลกไร้พรมแดน จึงต้องแสวงหาประโยชน์จากทุกด้านให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ ที่จะมาดูแลผู้มีรายได้น้อยหรือมาลงทุนในด้านอื่นๆ ซึ่งศักยภาพของประเทศไทย มีเยอะมาก
“ศบศ.ได้หารือมาตรการแรงดึงดูดที่จะทำให้คนมาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้แนวทางการพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการดึงดูดกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่ล้าสมัย หามาตรการที่จะลดปัญหาอุปสรรค รวมทั้งการพัฒนาระบบ Cloud Computing และ Big Data มาช่วย รวมถึงการบริหารงานในภาครัฐ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 4 มาตรการสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ โดยมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์เสนอแนวทางการคืนเงินค่าใช้จ่ายเป็น 20-30% เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการเลือกประเทศไทย จากปัจจุบันมีอัตราการคืนเงินอยู่ที่ 15% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย โปแลนด์ ให้เงินคืน 30% ส่วนแอฟริกาใต้ ให้เงินคืน 25%

“ข้อเสนอใหม่ที่ทาง ศบศ.มอบหมายให้ไปหารือกับกระทรวงการคลัง ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายจากการถ่ายทำ 50-100 ล้านบาท ให้เงินคืน (Cash back) 20% ค่าใช้จ่าย 100-500 ล้านบาท ให้เงินคืน 25% และเกิน 500 ล้านบาท ให้เงินคืน 30% รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกเพดานการคืนเงินสูงสุดจากปัจจุบันกำหนดไม่เกิน 75 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายว่าหากแก้ไขสำเร็จใน 5 ปีจากนี้จะดึงเงินเข้าประเทศไทยได้อย่างน้อย 20,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 40,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการคืนเงินอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท”

ขณะเดียวกันได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านวีซ่าและภาษี ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปให้เสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นจึงเสนอ ศบศ. ในการประชุมเดือน ม.ค.2565 โดยกำหนดให้มีวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) สูงสุด 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในไทยได้ 5 ปี และยื่นขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรไม่เกิน 4 คน

ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันกรมที่ดินอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดการให้สิทธิประโยชน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ โดยตอนนี้ยังคงใช้กฎหมายเดิม เช่น ชาวต่างชาติยังถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของเนื้อที่อาคารชุดทั้งหมดและถือครองที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ ขณะที่การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ให้กรมสรรพากรออกกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากกิจการที่ทำในต่างประเทศและการกำหนด
ผู้ถือวีซ่า LTR ซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 17% และให้กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกในการจัดทำแนวทางการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่า LTR เป็นการเฉพาะเทียบเคียงกับการเดินทางทางการทูต

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ตามข้อเสนอที่ต้องไปปรับปรุง แนวทางการดำเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting services แก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต และเห็นชอบในหลักการมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพ ที่ต้องปรับด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเพื่อให้เกิดการลงทุนสตาร์ตอัพในไทย.