ศาลอาญายกฟ้อง 10 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ไม่ผิด ม.116 ชุมนุมหน้า ทบ.ปี 2561 ชี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบตามระบอบประชาธิปไตย แต่ให้ปรับคนละ 200 บาท ผิด พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง
วันที่ 15 พ.ย. 2565 ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายรังสิมันต์ โรม, นายสิริวิชญ์ หรือ จ่านิว เสรีธิวัฒน์, นายปกรณ์ อารีกุล, นายอานนท์ นำภา, นายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายศรีไพร นนทรี, นายธนวัฒน์ พรหมจักร, นายโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ และเอกชัย หงส์กังวาน แกนนำผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง หรือ คดี ARMY 57 เหตุชุมนุมและปราศรัยที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเคลื่อนขบวนไปชุมนุมหน้ากองบัญชาการทัพบก ในวันที่ 24 มี.ค. 2561 ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันเดินขบวนขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
วันนี้จำเลยทั้งสิบและทนายความได้ทยอยมาศาลพร้อมกับญาติและผู้ที่มาให้กำลังใจส่วนหนึ่งนั่งรออยู่ในห้องพิจารณา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน รายงานว่า วันนี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ลงโทษปรับคนละ 200 บาท
โดยสรุประบุว่า ในคดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของของจำเลยทั้งสิบเป็นความผิดหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันที่ 19 มี.ค. 2561 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้ทำการยื่นแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะ และการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อผู้กำกับ สน.ชนะสงคราม โดยระบุสถานที่จัดการชุมนุมคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนจะมีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนราชดำเนินกลาง ราชดำเนินใน และราชดำเนินนอก ไปสิ้นสุดที่กองบัญชาการกองทัพบก เจ้าพนักงานที่รับแจ้งการชุมนุมได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้จัดการชุมนุมต้องควบคุมการชุมนุมไม่ให้กีดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะและกีดขวางการจราจร ต้องไม่เคลื่อนขบวนระหว่างเวลา 18.00-06.00 น. และต้องเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในวันเกิดเหตุ 24 มี.ค. 2561 จำเลยทั้ง 10 ได้มาร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุ รวมถึงมีการขึ้นรถกระบะสลับกันกล่าวถ้อยคำปราศรัย โดยเนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้ง และเรียกร้องไม่ให้มีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและการนำสืบพยานเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่มีความรุนแรง หรือพฤติกรรมยุยงปลุกปั่น เป็นการกระทำซึ่งเป็นวิถีในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการชุมนุมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและสิทธิพลเมือง เห็นว่าไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
ในส่วนของประเด็นการกีดขวางทางจราจร ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวประมาณ 300 คน แม้ประชาชนบางส่วนลงไปบนพื้นผิวจราจรบ้าง แต่ไม่ได้สร้างความรบกวนถึงขั้นเดือดร้อนต่อผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการชุมนุม นอกจากนี้จำเลยทั้งสิบไม่ได้มีเจตนาจะกีดขวางทางจราจร รวมถึงไม่มีผู้ใดมาแจ้งความว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมดังกล่าวแต่อย่างใด
ในเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ รับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ขณะที่กลุ่มจำเลยและผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางที่กำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสกัดกั้นขบวนของผู้ชุมนุม จึงทำให้ไม่สามารถเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด ทางฝั่งโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานมาแสดงและโต้แย้งในประเด็นนี้ ศาลจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะมีตัวแทนมายื่นหนังสือขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม แต่ไม่ได้มีการยื่นหนังสือขออนุญาตกับเจ้าพนักงานเขตท้องที่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งขออนุญาตดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดความฟ้อง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ยังรายงานอีกว่า สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้เริ่มจาก กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จัดการชุมนุมเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 พร้อมเรียกร้องให้ยุติการสืบทอดอำนาจ โดยมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างน้อย 6 ครั้ง ตลอดครึ่งปี 2561 นำไปสู่การถูก คสช. กล่าวหาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการชุมนุม #ARMY57 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดกิจกรรม “รวมพลถอนราก คสช.” เดินขบวนไปชุมนุมหน้ากองทัพบก ต่อมามีผู้ชุมนุมถูกกล่าวหาดำเนินคดีรวม 57 คน แยกเป็นสองคดี ได้แก่ คดีของผู้ชุมนุม และคดีของแกนนำ
ในส่วนของคดีผู้ร่วมชุมนุม 46 คน ที่ศาลแขวงดุสิต ศาลก็ได้พิพากษายกฟ้องจำเลย 45 คน ยกเว้น น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งศาลเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในฐานะผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่สามารถดูแลการชุมนุมให้เลิกภายในเวลาตามที่แจ้งไว้ได้ และไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เดินบนพื้นผิวการจราจรได้ แต่ต่อมาจำเลยอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา โดยให้ยกฟ้องชลธิชาไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565
คดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด โดยเฉพาะคดีของแกนนำ ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 ศาลยกฟ้องทั้งคดี MBK39, RDN50 และคดี ARMY57 นี้ โดยยังเหลือคดี UN62 ที่ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาล.