3 มรสุมจ่อถล่ม“ลุงตู่” งบ66-ซักฟอก-8 ปี นายกฯ
“โรงเรียนนักการเมือง” ปิดเทอมไปร่วม 3 เดือน พอย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2565 การประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง กำหนดให้เปิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2565 เป็นต้นไป จนถึง 19 ก.ย.2565
สมัยประชุมสภาฯ นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเจอกับศึกหนัก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “มรสุม” รอถล่มรัฐบาลอยู่ โดยมีเรื่องที่จะเกิดขึ้นในสภา 2 เรื่องคือ
1.ศึกอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระแรก และ 2.ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล
นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง มีมรสุมอีกลูกที่รอชี้ชะตาว่า “บิ๊กตู่” จะยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้อีกหรือไม่ นั่นคือ ประเด็นปัญหาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์
เปิดสภาประเดิมถล่มงบ66
ไปดูที่เรื่องแรกกันก่อน ที่เป็นเรื่องหนักๆ นั่นคือ การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่คาดว่าสำนักงบประมาณจะส่งร่างคำขอจัดทำงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ ส่งถึงสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 17 พ.ค.2565 ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้
นางสาวอรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาชี้ถึงความบกพร่องในการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 ซึ่งมีวงเงินรวม 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณปี 2665 เกือบ 85,000 ล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ การจัดสรรงบประมาณจะยังคงฉายหนังวนซ้ำ
นั่นคือ จัดงบแบบไม่ได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เพราะอิงกับความเคยชินในการจัดทำงบประมาณในโครงการเดิมของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2566 ลดลงถึง 4,526 ล้านบาท หรือลดลง 1.37% เมื่อเทียบกับปีก่อน
แม้ในช่วงปี 2563-2566 จะมีการปรับลดงบกระทรวงกลาโหม ลงในภาพรวม เพราะเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละกองทัพกลับพบว่า กองทัพอากาศยังคงได้รับการอนุมัติงบซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่จำนวน 4 ลำ วงเงินกว่า 13,800 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพันงบประมาณปี 2566-2569 ยิ่งตอกย้ำว่า “อาวุธสำคัญมากกว่าอนาคตของเด็กไทย”
น.ส.อรุณี ย้ำว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2566 ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะถูกจัดสรรงบประมาณ เป็นอันดับ 1 แต่งบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำของข้าราชการ ยิ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมงบประมาณกระทรวงศึกษาฯ กลับถูกปรับลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจตกต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง สินค้าขึ้นราคา ผู้ปกครองแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการเรียนออนไลน์แทบไม่ไหว และปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่เคยให้ความสำคัญกับการศึกษา อนาคตเด็กไทยไม่ได้รับเหลียวแล
…นี่คือการเรียก “น้ำย่อย” เรื่องงบประมาณ ก่อนที่จะเจอกับการอภิปรายแบบหนักหน่วงในสภาฯ
6ปมซักฟอกนายกฯ-รมต.
ถัดไปที่ฝ่ายค้าน “วางคิว” ถล่ม ภายหลังจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 3 แล้ว (ก.ค.65) นั่นคือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 (มีลงมติ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือร่วมกัน และมีมติว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี เป็นรายบุคคล โดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันในกรอบเนื้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็น 6 ประเด็นดังนี้
1. เนื้อหามุ่งเน้นไปที่ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม
2. จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฏหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม
3. การทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง
4. ไม่ปฎิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
5. การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
และ 6. การทำลายประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา
นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละพรรคได้รวบรวมข้อมูล และเตรียมความพร้อมทั้งประเด็นการอภิปราย เอกสาร และหลักฐานเรียบร้อยแล้ว โดยจะยื่นญัตติให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือ ภายหลังจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 3 แล้ว
เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยุบสภา หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จะแล้วเสร็จ อาจทำให้เกิดทางตัน หรือ เดดล็อกทางการเมือง
8 ปี นายกฯ ชี้ชะตาลุงตู่
หาก “รัฐบาลลุงตู่” สามารถผ่านศึกงบประมาณ 2566 และ ศึกซักฟอก ไปได้ ก็จะไปเจอกับเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่รอชี้ชะตาว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่ หรือ ไป นั่นคือ ปัญหาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี
ประเด็นนี้ ฝ่ายค้าน โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เคยตั้งแท่นเอาไว้แล้วว่า เมื่อถึงวันที่ 23 ส.ค.2565 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ฝ่ายค้านจะยื่นให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยทันที
สำหรับกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นประเด็นให้ถกเถียงกัน และอาจต้องส่งศาลตีความ ก็เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ระบุว่า นายกฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี วันที่ 8 มิ.ย.2570
แต่ฝ่ายค้านมองว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปีในวันที่ 23 ส.ค.2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ 24 ส.ค.2557 ในยุครัฐบาล คสช.
มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า จะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อไหร่ ซึ่งมี 3 แนวทาง คือ
1. เริ่มนับวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้คือ 6 เม.ย.2560 จะพ้นตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 5 เม.ย.2568 แต่ถ้าอยู่ครบเทอม 4 ปี ในปี 2566 สามารถเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีก 2 ปี
2.นับตั้งแต่ 9 มิ.ย.2562 วันที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ต่อเนื่องได้จนถึง 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570 หรือเป็นนายกฯ ได้ 2 วาระเต็ม
3. นับตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะทำให้เหลือเวลาการเป็นนายกฯ ไปถึงแค่ วันที่ 23 ส.ค. 2565 ซึ่งครบ 8 ปี
“3 อาวุธ” ของฝ่ายค้าน ทั้งเรื่อง “งบประมาณ 2566 – อภิปรายไม่ไว้วางใจ- ปม 8 ปี นายกฯ” รอเวลาพุ่งใส่ “ลุงตู่”
หาก “เอาตัวรอดได้” ก็มีสิทธิ์ไปลุ้นเป็น “นายกฯ สมัย 3” ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 ต่อไป…