เข้าสู่วันที่สามของ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองทั้งในและนอกสภาร้อนระอุขึ้นมาเรื่อยๆ
ถือเป็นการซักฟอกรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นครั้งที่สาม นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละครั้งของการอภิปรายมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า ฝ่ายค้านต้องการจองกฐินผู้นำประเทศก่อนเป็นลำดับแรก
ตามมาด้วยรัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านเห็นว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีการบริหารส่อไปในทางทุจริตคอร์รัปชั่นแต่กระนั้นไม่ได้มองแค่การบริหารบกพร่องเท่านั้นแต่ยังเป็นการเจาะจงตัวบุคคลที่หวังว่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนในพรรคร่วมรัฐบาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จึงพ่วง 5 รัฐมนตรีเป้าหมาย
นั่นคือ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สองรายนี้จากพรรคภูมิใจไทย ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ชัยวุฒิ คมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเฉลิมชัย จากพรรคพลังประชารัฐ ตบท้ายด้วย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์
เรียกว่าเป็นแผนเขย่าพรรคร่วมอย่างครบครัน เพราะแต่ละรายคือระดับแกนนำคนสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล
คราวนี้ หากติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจสองวันที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ทำหน้าที่เปิดอภิปราย ถ้าไม่นับรวมการเอ่ยชื่อ-สกุล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างผิดพลาด เป็น “พล.อ.ประยุทธ์ ยงใจยุทธ์” ถึงสองครั้งสองครา ว่าเป็นการส่งสัญญาณออกสตาร์ทอภิปรายที่ไม่ค่อยราบรื่น
ยังพบถึงความไม่พร้อมของฝ่ายค้านในหลายต่อหลายช่วงการอภิปราย ทั้งการนำข้อมูลการอภิปรายมาจากสื่อออนไลน์ คัดสรรคลิปข่าวจากสำนักข่าวที่มีคน”ดูไบ”ให้การสนับสนุน ทั้งข้อมูลเท็จมากกว่าจริงผสมปนเป จนถูกองครักษ์ฝ่ายรัฐบาลต้องลุกขึ้นประท้วง
ดั่งกรณีส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายพาดพิงกองทัพสั่งนายทหารปฏิบัติการ IO.โดยโชว์เอกสารลับ ในที่สุด ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล กลายเป็นรายแรกประเดิมศึกอภิปรายโดนกองทัพภาคที่2ฟ้องร้องดำเนินคดีปั้นเอกสารเท็จ
ทราบกันดีศึกซักฟอกครั้งนี้ อยู่ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันวิกฤต แต่ปรากฎว่า “ฝ่ายค้าน” ฉกฉวยวิกฤตเป็นโอกาส นำปัญหาการบริหารของรัฐบาลต่อสถานการณ์โควิดมาเป็นประเด็นถล่มอย่างมันส์ปาก
ประเด็นโรคระบาดถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ในการวินิจฉัย รับษาโรค ทว่านักการเมืองฝ่ายค้านสวมบทเป็นแพทย์อยู่ในสภาจำนวนมาก
เก่งกล้าสามารถอภิปรายการบริหารจัดการสู้โควิดถึงขั้นชี้ว่าระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยังมิอัพเกรดข้อมูลที่นำมาอภิปราย
หมอการเมืองในสภาทั้งหลายมีความเชี่ยวชาญถึงกับแสดงภูมิปัญญา”ด้อยค่าวัคซีน”ชนิดนั้นชนิดนี้ กล่าวหารัฐบาลจัดหามาฉีดประชาชนได้อย่างไร ทั้งที่ส.ส.ในสภาส่วนใหญ่ก็ฉีดวัคซีนชนิดที่ตนเองกล่าวหาว่าด้อยค่าอยู่นั่นเอง
ในทำนองเดียวกันมีการเรียกร้องให้รัฐต้องนำวัคซีนขั้นเทพมาฉีดประชาชน แต่หารู้ไม่จากสถิติปัจจุบัน ประเทศที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ กลับพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เช่น สหรัฐอเมริกา ติดล่าสุด 1.8 แสนคน อิสราเอลติด 1.6 หมื่นคน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.64 )
นี่เป็นเพราะการป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองที่หย่อนยานต่อการต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่นักการเมืองผู้ห่วงใยชีวิตประชาชนควรจะนำมาทำบอกกล่าวแจ้งเตือน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอดสองวันที่ผ่านมายังไม่นับรวมวันนี้ (2 ก.ย.64 ) เริ่มเข้าสู่การอภิปรายรมต.รายบุคคลมากขึ้น พบว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังไม่ชี้ให้เห็นถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบผ่านข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกัน ผลิตวาทกรรม ในลักษณะ “เฮชสปีช” สร้างความเกลียดชัง อาฆาตมาดร้าย
ไม่ว่าเป็นคำว่า ค้าความตาย ซึ่งปรากฎอยู่ในญัตติ โดยผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้เปิดประเด็น ตามด้วย ส.ส.ฝ่ายค้านรายอื่นตอกย้ำซ้ำไปซ้ำมา
ด้วยการยัดเยียดรัฐบาลเป็น “ฆาตกร” บ้าง “คลั่งอำนาจ”บ้าง ก่อนตบท้ายใช้ศาลเตี้ยกลางสภา พิพากษารัฐบาล สร้างบาปทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ซ้ำร้ายกว่านั้นคงมาจากวาทกรรมของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ถึงกลับผลักใสให้ผู้นำประเทศ “ตกนรกโลกันต์” คำนี้ นำไปสู่การประท้วงวุ่นวาย
นอกจากโหนกระแสโควิด-19 ด้วยการพ่นละอองฝอยเต็มสภาไปหมดแล้ว อีกประเด็นเป็นไปตามคาด เมื่อหยิบเหตุการณ์ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มป่วนเมืองแยกดินแดง มาอภิปราย “รัฐบาลทำร้ายประชาชน”บ้าง รัฐบาลทำร้ายเด็กและเยาวชนบ้าง
หากแต่ไม่เคยสำเหนียกมองดูอีกภาพ การที่เด็กและเยาวชนเหล่านั้น กลายเป็นหัวรุนแรง เกิดจากการสร้างสมจากกลุ่มนักการเมืองหรือไม่ ทำไมไม่พูด ไม่อภิปราย แต่กลับเลือกประจานเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามสร้างประโยชน์เข้าตน
ถ้าใช้คำแรงๆแบบคนในสภา ก็คงต้องบอกว่า “นี่คือสันดานนักการเมือง”นั่นเอง
สองวันที่ผ่านมาและกำลังรวมถึงวันนี้ วาทกรรมเลวร้าย จึงเกลื่อนสภาเต็มไปหมด ท่ามกลางการประท้วงเรียกร้องโดยเฉพาะกับคำอภิปรายของ ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พอกระตุกต่อมสำนึก หากให้ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ มาละเลงวาทกรรมต่ำตมแบบนี้คงจะไม่เหลือมาตรฐานสภาไทยอีกต่อไป
ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรมต. ถือเป็นมาตรการรุนแรงที่กำหนดไว้ให้สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหน้าที่ในฐานะสภานิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร
แต่ละยุคสมัย มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ด้วยข้อมูลหลักฐานการทุจริตและมีการส่งเรื่องต่อป.ป.ช.ดำเนินการเอาผิดอย่างชัดเจนก็มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
มาถึงยุคนี้ บทบาทการทำหน้าที่ของส.ส.ต่อญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นไปในลักษณะสาละวันเตี้ยลง หาข้อมูลหลักฐานเชิงตรวจสอบแทบไม่ได้เลย อาจมีดีขึ้นบ้างคือการว่าจ้างเอกชนทำสื่อสมัยใหม่มาฉายในสภา ซึ่งปรากฎทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
แต่ที่ขาดไม่ได้คือการสวมบทบาทนักแสดงตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ โหนข่าวการสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ในสถานการณ์โควิด-19 นำมาผูกโยงให้เห็นว่านี่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาล
ส.ส.ฝ่ายค้านจึงเน้นหนักไปกับการประดิษฐ์วาทกรรมทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาล สร้างความได้เปรียบเพื่อประโยชน์ทางการเมืองให้กับตน
เน้นหนักไปกับการเก็บเกี่ยวเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามร้านตลาด มาก่นด่าต่อในสภา จนแทบหาสาระสำคัญไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ติดตามรับชมรับฟัง