ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังยากลำบาก คนไทยจำนวนมากพยายามหาช่องทางทำธุรกิจหรือลงทุนเพิ่ม รวมทั้งหากู้เงินมาประกอบอาชีพ แต่หลายคนกลับโชคร้าย เพราะความพยายามดังกล่าว กลายเป็นช่องทางให้ “มิจฉาชีพ” เข้ามาหลอกลวง เพื่อฉกเงินในกระเป๋าของเราไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ทุกวันนี้ “ภัยการเงินจากโลกออนไลน์” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว จากผลสำรวจ 9 ใน 10 คน เคยได้รับข้อความหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ อาทิ หลอกให้ลงทุนได้ผลตอบแทนสูง หลอกให้กู้เงินผ่านทาง SMS หรือได้รับโทรศัพท์หลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งเคยได้ลิงก์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอม
จนหลายคนคาใจว่าภาครัฐทำอะไรกับเรื่องนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้สอบถามไปยังหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปราม “ภัยการเงินออนไลน์”
รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
“จากที่ผมนั่งทำงานในตำแหน่ง รมว.ดีอีเอสมาเกือบ 2 ปี กุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่กำลังแพร่หลายและเปลี่ยนมุกไปเรื่อยๆ คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานให้กับประชาชน เรื่องนี้สำคัญที่สุด เปรียบได้กับการลงเรียนวิชาพื้นฐาน Digital 101 ที่ต้องรู้ก่อนว่า โลกออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียนั้น หากไม่รู้จักตัวตนกันให้นับเป็นตัวปลอม”
“โลกออนไลน์” เป็นโลกที่ใครจะเป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ตัวเอง เมื่อไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงได้ โลกออนไลน์จึงเป็นพื้นที่สำหรับการก่ออาชญากรรมได้อย่างง่ายดาย การจะซื้อของ ร่วมลงทุน ลงเงิน ลงขัน ล้วนไม่ปลอดภัย และให้จำไว้เสมอว่า “ของถูกและดี และฟรีไม่มีอยู่ในโลก”
เมื่อคนไทยเป็นชาติที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์ ใช้งานอินเตอร์เน็ต และ Mobile Banking สูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ยิ่งเป็นเป้าหมายของเหล่าอาชญากรออนไลน์ ทั้งในประเทศและข้ามชาติ ความเสียหายแต่ละปีสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีกรณีซื้อรถแทรกเตอร์จากจีนที่หลอกว่าราคาคันละ 1 ล้านบาท แต่ขายแค่ 200,000 บาท มีผู้เสียหายโอนเงินไปซื้อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่ยากจะพิสูจน์ตัวตน ปรากฏว่าถูกหลอก ของก็ไม่ได้ เงินก็หาย
“หากจะให้แนะนำ ขอพูดตรงๆจากประสบการณ์ที่นั่งทำงานตรงนี้เลยว่า กรณีซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ มีการหลอกลวงจำนวนมาก ความเสียหายตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน การซื้อของออนไลน์จึงต้องระมัดระวัง การซื้อผ่านมาร์เก็ตเพลสที่เป็นตัวกลาง การันตีสินค้าและผู้ขายให้ น่าจะปลอดภัยกว่า”
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหานี้ ดีอีเอสผลักดันการออก พ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่จะต้องได้รับอนุญาต พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 21 มิ.ย.2566 ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ต้องมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ หากมีกรณีฉ้อโกง แพลตฟอร์มเหล่านี้จะต้องแสดงความรับผิดชอบ ตลอดจนการผลักดันให้มีการใช้ระบบ Digital ID ซึ่งจะเริ่มต้นใช้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเป็นเครื่องการันตี ตัวตนบนโลกออนไลน์ได้ในที่สุด
นอกจากการเร่งปัดกวาดกรณีหลอกขายสินค้าออนไลน์แล้ว ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการแพร่ระบาดของมัลแวร์อันตรายที่มาในรูปแบบของการล่อหลอกให้คลิกลิงก์และโหลดแอปพลิเคชัน เพื่อขโมยข้อมูลหรือเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์จากทางไกล (Remote) ก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่
รากเหง้าของปัญหา ส่วนใหญ่เกิดจากความโลภและความกลัวของคน เช่น หลอกให้คลิกลิงก์ที่มากับเอสเอ็มเอส (SMS) หรือเพิ่มเพื่อนจากไลน์ไอดี รูปแบบและเนื้อหาดีเกินจริง หรือทำให้หวาดกลัว เช่น “คุณได้รับอนุมัติวงเงินกู้ 50,000 บาท คลิกลิงก์…” หรือ “โปรดยืนยันรหัสผ่าน มิฉะนั้นบัญชีของท่านจะถูกระงับการใช้งานติดต่อไลน์ไอดี…” เช่นเดียวกับการหลอกลวงโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เล่นกับความโลภและความกลัว
“ไม่ว่าจะแกร่ง ใจแข็งแค่ไหน ผมแนะนำเลยว่าหากมีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทร.เข้ามา อย่าไปต่อปากต่อคำ วางหูไปเสียพวกนี้เป็นแก๊งต้มตุ๋นมืออาชีพ คุยไปจะมีเคลิ้ม แพ้ทาง โดนทุกราย เห็นมาเยอะแล้ว”
ส่วนกรณีมัลแวร์ที่แฝงตัวมากับลิงก์ปลอมหรือแอปพลิเคชันปลอมที่หลอกให้ดาวน์โหลดนั้น ดีอีเอสมีประกาศรายชื่อแอปฯอันตรายไว้ 203 แอปฯ สามารถตรวจสอบได้ที่เฟซบุ๊กของกระทรวง ส่วนแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ คือต้องไม่คลิกลิงก์หรือแอปฯจากช่องทางที่ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านไลน์เพื่อน SMS ห้ามกดทั้งสิ้นเพื่อความไม่ประมาท หากจะดาวน์โหลดแอปฯ ให้ไปที่แพลตฟอร์มทางการอย่าง App Store หรือ Play Store หากจะเข้าเว็บไซต์ ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์นั้นๆผ่านเบราเซอร์อินเตอร์เน็ตโดยตรง จะปลอดภัยกว่ามาก
เพราะขณะนี้ อาชญากรเปลี่ยนมุกไปลอกเลียนแอปฯ หรือเว็บไซต์หน่วยงานราชการ หรือธนาคารเพื่อหลอกให้ประชาชนคลิกดาวน์โหลดเลยด้วยซ้ำ ซึ่งต้องขอฝากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย หากพบเว็บไซต์หรือแอปฯของหน่วยงานตนถูกปลอมแปลงให้รีบดำเนินการแจ้งปิดในทันที
นอกจากการให้ความรู้เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนแล้ว ดีอีเอสยังได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเร่งสกัดกั้นการก่ออาชญากรรมออนไลน์ได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น เริ่มจากการกำจัด “บัญชีม้า” ซึ่งหมายถึงบัญชีธนาคารที่ขบวนการมิจฉาชีพจ้างคนทั่วไปมาเปิดบัญชีเอาไว้เพื่อให้เหยื่อโอนเงินเข้าและส่งต่อเงินผ่านบัญชีม้าเป็นทอดๆ จนเงินออกนอกประเทศ โอกาสตามเงินคืนแทบไม่มี จึงอาจกล่าวได้ว่าบัญชีม้าคือต้นตอสำคัญของอาชญากรรมทั้งระบบ
“เราพบว่า บัญชีม้าทำให้เกิดระบบการโอนเงินเป็นทอดๆ ที่สาวถึงต้นตอได้ยากขึ้น หลายครั้งจับตัวการไม่ได้เพราะการเปิดบัญชีม้า การจะดำเนินคดีได้จึงต้องปิดบัญชีม้าให้ได้ก่อน เมื่อปีที่ผ่านมา เราปิดบัญชีม้าไปกว่า 58,000 บัญชี ทำให้เชื่อได้ว่าบัญชีม้าน่าจะ มีเป็นแสนบัญชี”
สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องสั่งปิดบัญชีม้าให้ได้ก่อน ยอมรับว่ากฎหมายปัจจุบันจะปิดบัญชีม้าได้ต้องเกิดความเสียหายก่อนทำให้ช้าเกินไป โดยดีอีเอสอยู่ระหว่างเสนอออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อให้อำนาจแบงก์พาณิชย์ปิดบัญชีม้าได้ชั่วคราวทันทีหากพบความผิดปกติ รวมทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีที่ผิดปกติและให้อำนาจสั่งปิดชั่วคราวได้
ระหว่างรอการออกกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ.2563 โดยได้ประกาศรายชื่อผู้ทำผิดกฎหมายราว 1,000 รายชื่อให้สถาบันการเงินเพื่อดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
และเมื่อพบว่าการก่ออาชญากรรมออนไลน์ส่วนใหญ่ใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สายผ่านซิมมือถือ ที่เรียกว่า “ซิมผี” ล่าสุดดีอีเอสได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการมือถือแจ้งเจ้าของซิมโทรศัพท์มายืนยันตัวตนให้ถูกต้อง โดยกรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย ให้ยืนยันตัวตนภายในเดือน ม.ค.นี้ ส่วนมี 30 ซิมขึ้นไป ประมาณ 22,000 ราย ยืนยันตัวตนภายในเดือน มี.ค.นี้ และมี 5 ซิม ขึ้นไป ประมาณ 380,000 ราย ยืนยันตัวตนภายในเดือน มิ.ย.นี้
ส่วนการลักลอบใช้อินเตอร์เน็ตข้ามประเทศผ่านการเชื่อมต่อสายไฟเบอร์ออปติกข้ามประเทศ จากประเทศไทยออกประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ได้กำชับผู้ให้บริการมือถือเข้าตรวจสอบ ล่าสุดจากความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา สามารถทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ Hybrid Scam ได้สำเร็จเมื่อปีที่ผ่านมา
ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ธปท.
“ภัยการเงิน” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบหลอกลวงได้หลากหลายแบบในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ ธปท.ตระหนัก และได้ประสานงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยประสานงานกับทั้งดีอีเอส กสทช. ปปง. ตำรวจ และสมาคมธนาคารไทย
ทั้งนี้ ในการทำงาน ธปท.แบ่งกระบวนการที่ “มิจฉาชีพ” หลอกลวงประชาชนออกเป็น 2 ช่องทาง โดย ช่องทางที่ 1.คือ การหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ คือ หลอกลวง “ผ่านข้อความสั้น หรือ SMS” และการหลอกลวงด้วยการโทร.หาโดยตรงของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
วิธีการหลอกลวงมีหลากหลายรูปแบบ เช่น เสนอรางวัล อ้างเหตุการณ์ผิดกฎหมาย ชวนลงทุน ปล่อยเงินกู้ ซื้อสินค้า ฯลฯ หลังจากนั้นจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม หรือ Mobile Banking ไปยังบัญชีม้า
ซึ่ง ธปท. ได้ประสาน กสทช. และผู้ให้บริการมือถือ ดูแลช่องทางเหล่านี้ ป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพติดต่อกับเหยื่อได้ตั้งแต่เริ่มต้น
ส่วนแรก หากเป็นหมายเลขโทร.เข้าหรือ SMS ที่ผิดปกติ เช่นไม่มี ต้นสาย หรือพยายามเลียนแบบ SMS ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการมือถือจะคัดกรองและปิดกั้นสายเหล่านี้ไม่ให้มีการโทร.เข้า หรือส่งข้อความมาหาเหยื่อ รวมทั้ง “ใส่หมายเลข +679” ไว้หน้าหมายเลขของโทรศัพท์ที่โทร.มาจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการเตือนประชาชนที่ได้รับสายว่า “เป็นสายที่โทร.มาจากต่างประเทศ” หากประชาชนไม่รู้จัก หรือไม่มีความจำเป็นต้องติดต่อกับใครในต่างประเทศก็ไม่ควรรับ เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นคนร้ายโทร.เข้ามาหลอกลวง
ที่สำคัญ ธปท.มีนโยบายชัดเจน “ไม่ให้” ธนาคารพาณิชย์ส่ง SMS โดยตรงถึงลูกค้า “ไม่ให้” ส่งอีเมล หรือส่งลิงก์ (Link) ขอข้อมูลส่วนตัว เบอร์บัญชี ฯลฯ ลูกค้า ตรงกันข้ามกับคนร้ายมักพยายามส่งข้อความดังกล่าวโดยให้ประชาชนสับสนว่า เป็นข้อความที่ส่งมาจากธนาคาร หรือแอบอ้างชื่อสถาบันการเงิน
นอกจากนั้น ตั้งแต่ต้นปีนี้ ธปท.ได้ขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ต้องโชว์คำเตือน หรือ POP UP ในหน้าแรก หรือ หน้าโอนเงินของแอปฯ Mobile Banking ในกรณีการหลอกลวงให้โอนเงินในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็น “ตัวสะกิด” ให้ประชาชนคิดในจุดสุดท้ายก่อนที่จะกดโอนเงินทุกครั้ง
ขณะที่ช่องทางที่ 2 จะเป็นการหลอกลวงผ่านออนไลน์ เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย ไลน์ เฟซบุ๊ก และที่ฮิตมากขณะนี้คือ การหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันปลอม ซึ่งแฝงมัลแวร์ควบคุมอุปกรณ์สื่อสารของเหยื่อ
หากเหยื่อหลงเชื่อคลิกลิงก์ หรือโหลดแอปฯปลอม มัลแวร์ที่อยู่ในแอปฯจะสามารถส่งข้อมูลส่วนตัว พาสเวิร์ดและข้อมูลสำคัญๆอื่น ไปยัง “มิจฉาชีพ” และยังทำหน้าที่เป็น “รีโมท แอป” ที่ทำให้คนร้ายควบคุมโทรศัพท์ของเราจากระยะไกลได้ด้วย เป็นเหตุให้สามารถเข้าไปดูดเงินจากบัญชีของเหยื่อจนหมดเกลี้ยงตามที่เป็นข่าว โดยจะสามารถสังเกตแอปฯปลอม หรือแอปฯต้องสงสัยเหล่านี้ได้เบื้องต้นว่าจะเป็นแอปฯที่ไม่อยู่ใน Store ที่ถูกกฎหมาย
“ประชาชนไม่ควรคลิกลิงก์จาก SMS ไลน์ และอีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จัก หรือไม่น่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store รวมทั้งไม่ใช้มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) ให้โหลดแอปฯง่ายขึ้น เพราะมีโอกาสถูกแทรกแซงได้ง่าย แอปฯปลอมเหล่านี้มักจะนำเสนอให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของเหยื่อ เช่น แอปฯหาคู่ แอปฯดู Live สด ดูหนังฟรี แอปฯเกม รวมทั้งแอปฯแต่งรูปต่างๆ”
อีกแอปฯหนึ่งที่กำลังระบาดหนักขณะนี้ คือ แอปฯปล่อยเงินกู้ ที่อ้างว่า “ให้ไว ได้เร็ว ดอกเบี้ยถูก ไม่ต้องค้ำประกัน ติดแบล็กลิสต์กู้ได้” แต่พอเหยื่อเข้าไปขอกู้ จะหลอกให้โอนค่าบริการ ค่าธรรมเนียมก่อนมากมาย แต่ไม่มีเงินกู้จริง และส่วนใหญ่แอปฯเหล่านี้จะอ้างได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และ ธปท. ซึ่งไม่เป็นความจริง
หากประชาชนต้องการกู้เงิน ควรกู้จากผู้ได้รับอนุญาตจริงจาก ธปท. สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จากเว็บ ธปท. https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/ BOTLicensedLoan.aspx
ทั้งนี้ ความพยายามของคนร้ายที่จะเข้ามาเจาะ Mobile Banking เพื่อดูดเงินด้วยวิธีการต่างๆนั้น ธปท.และสมาคมธนาคารไทยได้หารือเพื่อป้องกัน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถป้องกันมัลแวร์ หรือวิธีการใหม่ๆของคนร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังสร้างระบบเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล กรณีที่จะเข้ามาทำงานในแอปฯธนาคาร ซึ่งเป็นเหตุผลที่ ธปท.ขอให้ประชาชนอัปเดต Mobile Banking เป็นเวอร์ชันล่าสุด หรือตั้งค่าให้อัปเดตแบบอัตโนมัติ เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ
นอกจากนั้น ธปท.ยังพยายามแก้ปัญหา “บัญชีม้า” ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยให้เกิดการก่ออาชญากรรมทางการเงิน เพราะเป็นบัญชีที่มิจฉาชีพจ้างวานให้ “คนอื่น” เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อรับโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเงินที่หลอกลวงได้ ซึ่งการเปิดบัญชีม้ามีทั้งแบบที่สมรู้ร่วมคิด โดนโจรกรรมข้อมูล หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่ง “มิจฉาชีพ” แต่ละรายจะมีบัญชีม้าจำนวนมาก เพื่อรับโอนเงินจากเหยื่อเป็นทอด เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ
ธปท.ได้กำชับไปยังสถาบันการเงินให้มีความเข้มงวดในขั้นตอนการตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าที่มาขอเปิดบัญชีเงินฝากให้มีความถูกต้องครบถ้วน ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้เข้มงวดการรับเปิดบัญชีเงินฝาก หรือยืนยันตัวตนในการเปิดบัญชีเงินฝากของ Banking Agent เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลมา เพื่อเปิดบัญชี หรือการยืนยันตัวตนแทนกัน และคอยตรวจสอบดูพฤติการณ์การเปิดบัญชีเงินฝากที่อาจเข้าข่ายเปิดบัญชีม้าด้วย
ทั้ง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ ตำรวจ และ ปปง.ยังได้ประสานงานกัน เพื่อให้เกิด “ข้อมูลบัญชีม้ากลาง” ขึ้นมา โดยจะมีข้อสังเกตการเปิดและใช้ “บัญชีม้า” ประมาณ 5-6 ข้อ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบ และหากพบเข้าข่าย จะส่งข้อมูลให้ ปปง.ตรวจสอบอีกครั้งก่อนที่กระจายข้อมูลไปยังสถาบันการเงินทั้งระบบ
ในช่วงต่อไป ยังมีแนวคิดที่จะควบคุม Mobile Banking ของแต่ละบุคคลให้เหมาะสม เช่น ให้ใช้ 1 แอปพลิเคชันต่อ 1 อุปกรณ์สื่อสาร และ 1 หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น โดยจะต้องยืนยันข้อมูลตรงกันระหว่างเจ้าของบัญชี และเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ จะลดโอกาสการเปิดบัญชีเพื่อนำไปเป็นบัญชีม้า
สำหรับใครที่พลาดถูกหลอกลวงเงินไป ให้รวบรวมหลักฐาน และแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com หรือ www.pct.police.go.th หรือสายด่วน 1441 เพื่อที่จะร่วมมือกันหาตัวคนร้าย และอายัดบัญชีคนร้าย เพื่อนำเงินมาคืนให้เร็วที่สุด
“ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ หากพบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน”.
ทีมเศรษฐกิจ