สธ. พบผู้ติดเชื้อ BA.2.3.20 ที่เพิ่งเข้ามาใหม่และพบการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งแล้ว 2 ราย ทั้งคู่ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ด้านองค์การอนามัยโลก สั่งไทยให้จับตาการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์นี้
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 พ.ย. 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวประเด็น “อัปเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สายพันธุ์ที่เฝ้าติดตาม” โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ในช่วงฤดูหนาวนี้ยังมีความจำเป็น ส่วนสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็น BA.5 เช่นเดียวกับทั่วโลก แต่ทั่วโลกก็พบว่ามีสายพันธุ์บางตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น XBB และ BA.4.6 หรือ BQ.1 ส่วนแนวโน้มสถาการณ์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พบว่ามีแนวโน้ม สายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 จะเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.5 แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานเช่นเดียวกันว่าสายพันธุ์ BQ.1 หรือ BQ.1.1 มีความรุนแรงกว่า BA.4 หรือ BA.5 พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบการกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ เพราะยังเป็นหลายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้ เช่น เดลตา อัลฟา แกมมา
ส่วนประเทศไทย พบมีผู้ติดเชื้อ BA.2.3.20 ที่เพิ่งเข้ามาใหม่และพบการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ซึ่งมีจำนวน 2 ราย ขณะที่อาการเหมือนโควิดทั่วๆ ไป ส่วนประวัติพบว่าไม่ได้เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งคู่ อาศัยในประเทศ และขณะนี้ทั้งคู่หายดีแล้ว โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้ไทยจับตาการกลายพันธุ์ชนิดนี้ ทั้งนี้ในอนาคตทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการแยกตรวจสายพันธุ์ BQ แยกออกมาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่สายพันธุ์ BA.4.6 ที่น่าจับตา พบในไทยจำนวน 3 รายแล้ว และ XBB.X ที่มาจากประเทศสิงคโปร์ พบแล้ว 5 ราย
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ยืนยันว่าการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติของไวรัส บางตัวอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่บางตัวหากมีอำนาจก็จะไปกดตัวเลขเชื้อตัวอื่นต่อไป โดยทั้งหมดยังไม่มีสัญญาณของความรุนแรง และมีแนวโน้มรุนแรงน้อยลง ประกอบกับคนทั้งโลกมีภูมิคุ้มกัน พร้อมขอบคุณประชาชนคนไทยที่ยังสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ เชื่อว่าจะผ่านพ้นหน้าหนาวนี้ไปด้วยดี โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประชาชนสบายใจต่อไป.