สยองขวัญ “โควิดนรก” อาจทำคนไทยตายสังเวยถึงวันละ 500 ศพ ติดเชื้อวันละกว่า 4 หมื่นคน อธิบดีควบคุมโรคเผยหากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ไม่มีมาตรการเข้มข้นใดๆ เผยเชื้อเดลตาแพร่ไป 72 จังหวัด แซงหน้าเชื้ออัลฟา นายกฯบอกไม่อยากให้มีเจ็บป่วยตายในบ้าน หารือ 21 รพ.เอกชน เร่งเพิ่มเตียงความดันลบ เร่งรัดจัดหาวัคซีนบอกไม่ปิดกั้นเปิดรับทุกยี่ห้อ ด้าน รพ. เอกชนพูดเป็นเสียงเดียวกัน “วัคซีน” คือหัวใจสำคัญสยบปัญหาโควิด ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคถึงไทยเรียบร้อยแล้ว เตรียมฉีด 4 กลุ่มเป้าหมาย และสตาร์ตเข็มแรกให้ อสม. 9 ส.ค. อุปทูตสหรัฐฯยืนยันให้ไทยแบบไม่มีเงื่อนไข เตรียมบริจาคให้อีกลอต หลังเห็นสถานการณ์โควิดไทยแรงเกินรับมือไหว ด้านยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งหลัก 1.7 หมื่นกว่ารายตายอีก 117 ราย แพทย์นิติเวช รพ.รามาเผยมีคนตายคาถนน มากกว่าที่เป็นข่าว หดหู่ใจคนแก่ตายคาบ้าน 2 ศพ และยังมีคนแก่ที่ป่วยนอนเฝ้าร่างไร้วิญญาณ น่าอนาถใจ ส่วนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ผวจ.ภูเก็ตลั่นเปิดแล้วไม่ปิด แม้มีคำสั่งล็อกเกาะ เพราะไม่มีผลกับโครงการ
นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีเคสสลดใจเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ล่าสุดที่ย่านดินแดง กทม. ที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดคาบ้าน 2 ศพ เป็นคนแก่และยังมีคนแก่ที่ป่วยโควิดต้องนอนเฝ้าศพที่เริ่มเน่า สร้างความสลดสะเทือนใจแก่ผู้ทราบข่าวไม่น้อย ยกเว้นคนใจหินใจทมิฬที่ไม่เคยรู้สึกรู้สาอะไรกับการเจ็บป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วงของประชาชนจากไวรัสนรกโควิด-19
ไทยหนักติดเชื้อดับคาบ้านอีก 9
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 30 ก.ค. ว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 17,345 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 16,656 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,823 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 3,833 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 681 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 578,375 ราย รักษาอยู่ 192,526 ราย อาการหนัก 4,595 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 1,012 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 117 ราย เป็นชาย 62 ราย หญิง 55 ราย มากสุดอยู่ใน กทม. 55 ราย พบ
ผู้เสียชีวิตที่บ้าน 9 ราย อยู่ที่ กทม. 8 ราย ปทุมธานี 1 ราย การฉีดวัคซีนวันที่ 29 ก.ค. ฉีดไป 420,148 โดส ส่วนยอดฉีดวัคซีนสะสม 17,011,477 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 197,365,402 ราย เสียชีวิตสะสม 4,214,617 ราย
แรงงานกลับบ้านทำเลขแซง กทม.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 30 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,331 ราย สมุทรปราการ 1,386 ราย สมุทรสาคร 1,186 ราย ชลบุรี 914 ราย นนทบุรี 587 ราย ฉะเชิงเทรา 479 ราย นครปฐม 378 ราย อุบลราชธานี 350 ราย ปทุมธานี 330 ราย สงขลา 324 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ 6 แห่ง บริษัทระบบกำลังไฟฟ้า อ.เมืองสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย จ.สมุทรสาคร 2 แห่ง ใน อ.เมือง คือบริษัทยางรถยนต์ 14 ราย บริษัทผลิตภัณฑ์ปลา 13 ราย โรงงานเครื่องปรับอากาศ อ.เมืองชลบุรี 15 ราย บริษัทยางรถยนต์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 25 ราย โรงงานแม่แบบเซรามิก อ.สะเดา จ.สงขลา 13 ราย หากดูภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ตัวเลขต่างจังหวัดจะมีสูงกว่า กทม. และปริมณฑล วันที่ 30 ก.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดรวมกัน 57% กทม.และปริมณฑล 43% เป็นผลมาจากแรงงานเดินทางกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา ที่เห็นได้ชัดมีหลายจังหวัด พบผู้ติดเชื้อในบุคคลที่เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล โดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคอีสาน
เปิดยอดโรงงานป่วย 3.6 หมื่น
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานการระบาดในพื้นที่โรงงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. พบมีการระบาดในโรงงาน 518 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 36,861 ราย ครอบคลุม 49 จังหวัด 5 อันดับแรก ได้แก่ เพชรบุรี 4,464 ราย เพชรบูรณ์ 3,487 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2,538 ราย สมุทรสาคร 2,496 ราย สงขลา 2,209 ราย อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมโลหะและอุตสาหกรรมพลาสติก นอกจากนี้ มีการรายงาน
ผลการตรวจสอบประเมินตัวเองผ่านระบบออนไลน์ ไทยสต็อปโควิดพลัสของโรงงาน ว่าโรงงานทุกขนาดมี 64,038 แห่ง ประเมินแล้ว 18,005 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 12,256 แห่ง ไม่ผ่าน 5,749 แห่ง จัดทำแผนสุ่มตรวจประเมินทั้งสิ้น 955 แห่ง ขณะนี้ตรวจสอบครบแล้ว การแถลงข่าว ศบค.จะปรับเปลี่ยนมาเป็นทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี และเน้นการสื่อสารทางเฟซบุ๊กมากขึ้น
รอ สธ.ชงผ่อนขายอาหารห้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ตามที่มาตรการล็อกดาวน์จะครบกำหนดในวันที่ 2 ส.ค. เบื้องต้นยังคงปฏิบัติตามข้อกำหนดต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เนื่องจากข้อกำหนดระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องไว้อย่างน้อย 14 วัน ไม่ได้ระบุวันสิ้นสุดไว้ชัดเจน ดังนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มตามที่ผู้ประกอบการมีข้อเสนอ เช่น การให้เปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า อาจมีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ให้ขายผ่านทางออนไลน์ ห้ามรับประทานในร้าน เป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเรื่องดังกล่าวมาให้ ศบค.ชุดเล็กพิจารณา
วัคซีนไฟเซอร์ถึงไทยแล้ว
เช้าวันเดียวกัน ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง ไปตรวจรับวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ไทย นายอนุทินกล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลสหรัฐ– อเมริกาที่ได้มอบวัคซีนให้ไทย การกระจายวัคซีนชุดนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 วัคซีนไฟเซอร์จะต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ -70 ถึง -90 องศาเซลเซียส เพื่อคงประสิทธิภาพของวัคซีน จากนั้นจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศตามแผนการฉีดที่กำหนดไว้
คงมาตรการเดิมไม่ล็อกเข้มข้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 21.50 น. วันที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงแนวทางการขยายเวลาล็อกดาวน์ หรือยกระดับมาตรการที่สูงขึ้นว่า ต้องปรึกษาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะล็อกดาวน์เข้มข้นหรือไม่ จากความเห็นทางสาธารณสุขและทางการแพทย์ มาตรการเดิมที่ออกไปยังใช้ได้อยู่ การที่ตัวเลขไม่ลดลงด้วยเหตุผลหลายประการ แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมือกัน สิ่งที่ห้ามอย่าทำ ทั้งการเดินทาง การมั่วสุม ที่เป็นต้นตอการระบาดวันนี้ เข้าใจว่าประชาชนสนใจตัวเลขเจ็บเท่าไหร่ตายเท่าไหร่ อาจมองดูแล้วน่าตกใจ แต่อยากให้สนใจตัวเลขเพื่อนบ้าน มีหลายประเทศมากกว่าเราหลายเท่า
ไม่อยากให้มีเจ็บป่วยตายในบ้าน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีการปรับแนวทางการรักษาเพิ่มเติม ได้นำ Antigen Test Kit (ATK) เข้ามาช่วยตรวจหาเชื้อขั้นต้น เพื่อเข้าสู่ระบบ การรักษาต่อไป ลดความแออัดที่ไปรอการตรวจ RT-PCR ที่เป็นกังวลอีกเรื่องคือผู้ป่วยโควิดรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ไม่ได้เข้าออก เพื่อนบ้านไม่ทราบ แต่ละวันเยอะใช้เวลาติดต่อซักถาม วันนี้ปลดล็อกให้ใช้บริการฟรี ให้ กสทช.ดูแลตรงนี้ ให้มีแพทย์มีชุดลาดตระเวนลงไป ทั้งการเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิต นำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบรักษา ประชาชนขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการได้ทุกที่ ขณะที่ทหารปรับพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามหลายสิบแห่ง เพิ่มเตียง ให้ทุกค่ายทหารทุกหน่วยดูแลประชาชนเป็นที่พึ่งประชาชนได้ทุกโอกาส เราเอาตัวรอดไม่ได้ ย้ำเสมอ อาจมีคนไม่ดีบ้าง ขอให้แจ้งมาที่สำนักนายกฯ
ไม่กีดกั้นรับวัคซีนทุกยี่ห้อ
นายกฯกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องวัคซีน รองนายกฯยืนยันว่าเดือน ส.ค.จะเข้าสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น เท่าที่ถามหลายประเทศมีปัญหา อาจมีปัญหาขีดการผลิตเพราะลูกค้าเยอะ จำเป็นต้องตัดยอด ส่วนการกระจายวัคซีนอย่าจับผิดกัน เขาพยายามทำเต็มที่แล้ว พร้อมยินดีปลดล็อกให้นำเข้าได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนมีคุณภาพนำเข้าได้จริง ส่วนวัคซีนสปุตนิก-วี อยากได้มานาน เป็นวัคซีนหลัก แต่บริษัทไม่พร้อมส่งเอกสารไม่ครบ เราเปิดรับทุกยี่ห้อ ขอเคลียร์เสียทีหลายคนบอกว่าวัคซีนที่ญี่ปุ่นบริจาค วัคซีนไฟเซอร์ของอเมริกาเข้ามาแล้วหายไปไหน ของญี่ปุ่นเข้ามาแล้วและรวมกับยอดที่ไปฉีดแล้ว ส่วนของอเมริกามาวันนี้ ไม่มีการเก็บซ่อน
ผุดพื้นที่สีฟ้าชุมชนปลอดเชื้อ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ความคิดว่า หากเราประกาศพื้นที่สีแดงเป็นจังหวัด ดูแล้วน่ากลัวเกินไปหรือเปล่า จึงให้ไปดูเมื่อมีสีแดง สีส้ม สีเขียว ทำไมไม่มีสีฟ้าบ้าง คือชุมชนหรือหมู่บ้านที่ประชาชนร่วมมือกันปกป้องตัวเอง ได้ยินหลายที่อย่าง จ.นครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าพร้อมทำตรงนี้ หลายจังหวัดหลายหมู่บ้านบางวันไม่มีติดเชื้อ เพื่อแยกพื้นที่ให้เห็นชัดเจน สนับสนุนทุกจังหวัดให้ทำแบบนี้เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ อะไรดีมีประโยชน์แนะนำทำต่อๆกันไป จะได้เกิดความคิดใหม่ๆ ถ้าเราทำแบบเดิมๆ จะได้แบบเดิมๆ ถ้าเรามามองแต่ตัวเลขสีแดงอย่างเดียว จะไม่มีอะไรใหม่ๆเลย ต่างประเทศเขาไม่เปิดเผย แต่เราไม่ปกปิดเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตัวเลขเยอะแล้ว ต้องระวังจะทำอะไรต่างๆ
ยังมั่นใจ ศบค.เป็นกลไกสำคัญ
เมื่อถามว่าถึงตอนนี้ยังมั่นใจว่า ศบค.บริหารจัดการสถานการณ์ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คิดว่าเป็นกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญ นายกฯในฐานะผู้รับผิดชอบด้วยการบริหารให้ข้อสังเกตลงไปให้แนวคิดลงไปตนประเมินสถานการณ์เองทุกวันจากข้อมูลที่ข้างล่างส่งมาเก็บข้อมูลไว้ทุกอันแล้วนำมาคิดเองบ้างข้างล่างคิดขึ้นมา ถ้าครบแล้วนายกฯไม่ต้องห่วงอะไรนำเสนอขึ้นมาก็อนุมัติดำเนินการต่อมาตรการปิดร้านอาหารขอให้เข้าใจ อย่างในศูนย์การค้า หมอเป็นห่วงต้องปิดไปก่อนช่วงนี้ แต่มีแอบกินเหล้า ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ บางโรงแรมลักลอบจัดกิจกรรม อย่างที่ภูเก็ตปิดโรงแรมไปแล้ว จะโทษกันไปมาไม่ได้ ต้องปรับปรุงตัวเองกันให้ได้
เห็นใจ จนท.ไม่ใช่ขี้เหนียว
นายกฯกล่าวว่า เราใช้บุคลากรการแพทย์ พลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นแสนคน เพื่อดูแลคน 70 ล้านคน อาจมีปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต้องอาศัยอาสาสมัคร อสม. จิตอาสา เห็นใจคนเหล่านี้ บางคนทำงานติดต่อกัน 60 วัน ไม่ได้พักเป็นปีแล้ว ก็เห็นใจและให้ไปดูแลค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามระเบียบราชการให้เร็วที่สุด ต้องขอบคุณทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ส่วนปัญหางบประมาณที่บอกว่าล่าช้า หากไม่พอให้บอกมารัฐบาลพร้อมดูแล ปัญหาตอนนี้อยู่ที่เบิกมาช้า กลายเป็นว่ารัฐบาลผิดอีกเราสั่งเต็มที่ตรงนี้เตรียมอนุมัติให้เร็วที่สุด แต่ต้องระมัดระวังให้สุจริต เงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ต้องระวังตรงนี้ด้วยไม่ใช่ขี้เหนียวอะไร แต่ต้องรักษาระบบไว้ให้ได้ รัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มความสามารถ
นายกฯหารือ 21 รพ.เอกชน
ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานประชุมหารือการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเตรียมความพร้อมของหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (ฮอสพิเทล) กับ รพ.เอกชนจำนวน 21 แห่ง ผ่านระบบโปรแกรมซูมจากบ้านพักภายในร.1 ทม.รอ. มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทีมแพทย์สาธารณสุข และผู้บริหาร รพ.เอกชน เข้าร่วมที่ประชุมรับทราบรายงานการครองเตียงของผู้ป่วยใน รพ.เอกชน 21 แห่ง ทั้งส่วนฮอสพิเทล รพ.สนามพบ 21 แห่ง มีเตียง 34,560 เตียง มีการครองเตียงไปแล้ว 32,215 เตียง เหลือเตียงว่าง 2,345 เตียง
เร่งเพิ่มเตียงห้องความดันลบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.เอกชน 18 แห่ง ที่การครองเตียงเต็มทั้งหมด อาทิ รพ.ธนบุรี 1,300 เตียง รพ.สนามในสังกัด 600 เตียง รพ.วิภาราม 600 เตียง รพ.วิชัยเวท 1,500 เตียง รพ.กรุงเทพ 71 เตียง รพ.ปิยะเวท 3,000 เตียง รพ.กล้วยน้ำไท 2,200 เตียง รพ.ลาดพร้าว 700 เตียง ส่วน รพ.3 แห่งที่ยังเตียงว่างอยู่ มี รพ.เกษมราษฎร์ 11,141 เตียง เหลือ 1,920 เตียง รพ.สนามในสังกัด 508 เตียง ใช้งานครบ 100% รพ.มงกุฎวัฒนะ 100 เตียง เหลือ 10 เตียง รพ.สนามในสังกัดมี 215 เตียงเหลือ 15 เตียง รพ.จุฬารัตน์ และในเครือเหลือ 400 เตียง จากทั้งหมด 4,000 เตียง ทั้งนี้ในที่ประชุมเจ้าของและตัวแทน รพ.เอกชน ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางรับผู้ป่วยการรักษาการลดการติดเชื้อ ซึ่งต่างยอมรับว่า ต้องเพิ่มเตียงสีเหลือง-แดง ห้องความดันลบ
บอกเสียงเดียวกันวัคซีนคือหัวใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ที่ประชุมต่างนำเสนอปัญหาทำนองเดียวกันว่าวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญ ขณะที่นายกฯย้ำว่ารัฐบาลจะเร่งรัดจัดหานำเข้าวัคซีนทั้งของรัฐและเอกชน วัคซีนหลักของรัฐบาลคือซิโนแวค แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่กำลังดำเนินการด้านเอกสารคือสปุตนิก-วี ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนอยากซื้อผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น เช่น ซิโนฟาร์มที่มีเข้ามาแล้ว โมเดอร์นาจะเข้ามาไตรมาส 4 ต้องแจกจ่ายให้ทั่วถึงตามสัดส่วนประชากรและการระบาด รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ ทุกส่วนต้องทำงานทั้งเชิงรุก เช่น การขยายเตียง การตรวจคัดกรอง ต้องบูรณาการงานร่วมกัน ชีวิตประชาชนคนไทยต้องได้รับการดูแล ข้อกฏหมายที่ติดขัดจะแก้ไข ให้แพทย์บริหารจัดการโรคได้ รวมทั้งชุดตรวจ ATKจะมีแจกจ่ายไปตรวจดำเนินการต่ออย่างไรต้องให้ชัดเจน ทั้งนี้ ขอร่วมมือพูดคุยกัน เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน “ผมรักทุกคนนะครับ”
แท็กซี่ร้องเยียวยาให้ทั่วถึง
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล กลุ่มสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย นำโดยนายพัลลภ ฉาอินธุ นายกสมาคม ยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย นายพัลลภกล่าวว่า ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยไม่สามารถเข้าถึงนโยบายที่ภาครัฐออกมา ขอให้ช่วยเหลือพักชำระหนี้ระยะเวลา 1 ปี ทุกสถาบันการเงิน รวมถึงไฟแนนซ์ลีสซิ่งเอกชน และสหกรณ์ฯ เยียวยา 5,000 บาท เมื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 นอกเขต 13 จังหวัดสีแดงเข้มด้วย ขอให้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาให้ครบวงจร
ฉีดวัคซีนยังติดแต่อาการไม่หนัก
วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า จากการศึกษาติดตามอาสาสมัครในโครงการวิจัยในระยะยาวหลังได้รับวัคซีนทั้งชนิดเชื้อตายและไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทย กว่า 100 รายในแต่ละกลุ่ม พบการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ เช่นรายที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาห่างกัน 10 สัปดาห์หลังเข็ม 1 จะเห็นว่าภูมิต้านทานขึ้นสูงถึง 450 ยูนิต เมื่อมาที่ 10 สัปดาห์ภูมิต้านทานลดลงมาเหลือ 203 ยูนิต ได้ให้วัคซีนเข็มที่ 2 อีก 1 เดือนต่อมา ภูมิต้านทานขึ้นไป 514 ยูนิต หลังจากนั้นไม่นานอาสาสมัครรู้สึกเจ็บคอ เวียนศีรษะ ไม่มีไข้ มีน้ำมูกและไอ จึงไปซื้อชุดตรวจมาตรวจผลเป็นบวก จึงได้แจ้งมาและได้ตรวจ rt-pcr ยืนยันการติดเชื้อ
ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีไข้ ให้รักษาตัวแบบเก็บตัวอยู่บ้าน จนถึงวันนี้ไม่มีอาการอะไรนอกจากจมูกไม่ได้กลิ่น
ยันช่วยลดอาการและป้องกัน
ศ.นพ.ยง โพสต์อีกว่า รายที่ 2 รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ติดตามภูมิต้านทานมาตลอดจนจะเข้าโครงการวิจัยมาตลอดและจะทำการศึกษาการกระตุ้นเข็มสาม จากการติดตามภูมิต้านทานจะเห็นว่า ภูมิต้านทานของอาสาสมัครกระโดดขึ้นไปสูงมาก จึงได้ย้อนถามประวัติว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ตอบว่ามีอาการแต่ไม่คิดว่าเป็น เมื่อซักในรายละเอียดจึงรู้ว่า อาสาสมัครมีอาการแต่น้อยมากๆ และไม่ได้ไปหาหมอ รับการตรวจอย่างไรในขณะที่อยู่กันสามคน กับพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว พ่อแม่ก็ไม่ได้มีการติดเชื้อ แสดงว่าวัคซีนช่วยลดอาการและป้องกันไม่ให้ไปติดพ่อแม่ที่มีอายุมาก ในรายนี้เห็นได้ชัดว่า มีการติดเชื้อเพราะมีภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid ขึ้นไปสูงมากถึง 8.89 และภูมิต้านทานกระโดดไปสูงแบบผิดปกติเป็นหมื่น แสดงถึงการติดเชื้อแน่นอน ถ้าเป็นคนทั่วไปไม่ได้ตรวจเลือดจะไม่รู้เลยว่าติด
ยาฟาวิฯมีสำรองพอ
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่ยังมีผู้ติดเชื้อระดับสูง อาจเป็นเช่นนี้สักระยะหนึ่ง เดิมระบบสาธารณสุขมีเตียงดูแลผู้ป่วยแสนเตียง เมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ได้ปรับและเพิ่มรองรับผู้ป่วยโควิด โดยภูมิภาคเพิ่มขึ้นถึง 1.35 แสนเตียง กทม. 4 หมื่นกว่าเตียง รวมทั้งประเทศ 1.74 แสนเตียง มีอัตราการใช้เตียงถึง 80% กทม.ใช้กว่า 90% เตียงที่เหลือไม่พอรองรับกับอัตราการติดเชื้อ รายวันที่เพิ่มขึ้น บางแห่งไม่มีเตียงรองรับ ทุกจังหวัดใช้ไปจำนวนมากโดยเฉพาะเตียงสีแดง จากสถานการณ์ไม่สามารถเพิ่มเตียงมากกว่านี้ เนื่องจากบุคลากรที่มีทำงานเต็มที่ จึงได้เสริมระบบการดูแลที่บ้านหรือ HI และการดูแลโดยชุมชนหรือ CI รวมถึงการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้มีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ในเดือน ส.ค 40 ล้านเม็ด เดือน ก.ย.อีก 40 ล้านเม็ด แต่ละจังหวัดมีสำรองอยู่ คนไข้ที่อยู่ในระบบ รพ. CI และ HI มีโอกาสได้รับยาหากเข้าสู่ระบบสาธารณสุข
ส.ค.ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง–อสม.
นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า วัคซีนฉีดไปกว่า 17 ล้านโดส ถือว่าฉีดได้ค่อนข้างเร็ว กทม.ฉีดครอบคลุม 61.67% โดยเฉพาะผู้สูงอายุใน กทม.ฉีดไป 70% ในเดือน ส.ค.วัคซีนจะได้มาอีกประมาณ 10 ล้านโดส จะกระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาเน้นฉีดใน กทม. ปริมณฑล เพื่อ ควบคุมการระบาด ทั้งนี้ยังเน้นฉีดในผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์และ อสม. เป็นวัคซีนซิโนแวคและแอสตราเซเนกาเป็นหลัก เปลี่ยนสูตรการฉีดเป็นฉีดไขว้ห่าง 3 สัปดาห์ ประสิทธิภาพใกล้เคียงสูตรเดิมคือแอสตราฯ 2 เข็ม แต่จะฉีดครบ 2 เข็มเร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์เป็น 3 สัปดาห์
ถ้าไม่ล็อกดาวน์ติดเกิน 4 หมื่น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้คาดการสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการเข้มข้นใดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 4 หมื่นได้ จุดสูงสุดจะอยู่วันที่ 14 ก.ย. แต่หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคน หากทำได้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% นาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจะลดลงจากเกิน 4 หมื่นกว่า เหลือ 3 หมื่นกว่า จุดสูงสุดอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค.แต่หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้จะลดติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือน หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประ– สิทธิภาพ 20% จะทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 2 หมื่นกว่ารายจาก 4 หมื่นกว่า
พูดให้สยองตายถึง 500 ศพ/วัน
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า ส่วนการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวันหากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์พบว่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย. แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ปลายเดือน ก.ค. ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดอยู่วันที่ 26 ต.ค.ในมาตรการตั้งแต่ 20-25% หากล็อกดาวน์นานขึ้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ความร่วมมือของประชาชน ลดกิจกรรมไม่จำเป็น อยู่บ้านมากที่สุด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปิดเมืองเห็นผล 2–4 สัปดาห์
นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์สำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่การล็อกดาวน์ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะลดลง มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่าล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา กระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และจะนำเสนอ ศบค.ต่อไป
4 กลุ่มได้ไฟเซอร์ลอตบริจาค
นพ.โอภาส กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาว่า จะกระจายฉีดใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เป็นเข็มสาม หรือบูสเตอร์โดส เป้าหมาย 7 แสนโดส ได้ให้แต่ละ รพ.สำรวจรายชื่อและกระจายไป รพ.ต่างๆ 2.กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง รวมกับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ป่วยเรื้อรัง 7 โรค กระจายวัคซีนไปใน 13 จังหวัดสูงสุด ควบคุมเข้มงวด ได้แก่ กทม.และปริมณฑล ชลบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 645,000 โดส 3.ฉีดให้กับคนต่างชาติที่อาศัยในแผ่นดินหรือทำงานในประเทศไทย 150,000 โดส ฉีดให้นักเรียนหรือคนไทยที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ 4.นำไปฉีดเพื่อการศึกษาวิจัย 5,000 โดส
สตาร์ตฉีด 9 สิงหา
นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนชนิดเข้มข้น ต้องผสมกับน้ำเกลือ 0.9% 1 ขวด ให้ได้ 2.25 มิลลิลิตร (CC) เท่ากับ 6 โดส ที่แตกต่างจากวัคซีนอื่นที่ฉีด เพราะวัคซีนไฟเซอร์กำหนดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 โดส 0.3 มิลลิลิตร (CC) และการฉีด 2 เข็ม ต้องห่างกัน 3 สัปดาห์ วัคซีนนี้สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่เนื่องจากการจัดเก็บวัคซีนไฟเซอร์ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องเก็บที่ในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน หากเก็บอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสจะเก็บได้แค่ 1 เดือน จึงต้องวางแผนการฉีดให้ดีและเตรียมกระจายฉีดในวันที่ 5-6 ส.ค. เพื่อเตรียมพร้อมฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ในวันที่ 9 ส.ค. จากนั้นห่าง 3 สัปดาห์ เริ่มฉีดในเข็ม 2 การนัดหมายฉีดต้องมีความแม่นยำ เพื่อคงคุณภาพของวัคซีน คาดว่าการฉีดจะเสร็จสิ้นในเดือน ส.ค.
ระดมทีมสาธารณสุขภูมิภาค
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 4-10 ส.ค. จะมีบุคลากรสาธารณสุขในภูมิภาคเป็นกลุ่มที่มีความอดทน มีประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ยากลำบากเข้ามาร่วมทีม CCRT ราวๆ 500 คน ทำงานเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ร่วมคัดกรองฉีดวัคซีน ตั้งเป้าว่าจะปฏิบัติการตรวจคัดกรองเชิงรุกได้กว่า 4-5 แสนราย แยกผู้ป่วยได้อย่างน้อย 7-8 หมื่นราย จะทำให้ผู้ป่วยที่อาการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสีเหลือง หรือสีแดงได้รับยาครบถ้วน ขณะเดียวกันยังมาช่วยเสริมทีมฉีดวัคซีนให้ด้วย
สหรัฐฯยันให้วัคซีนไทยไร้เงื่อนไข
วันเดียวกัน นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลสหรัฐฯบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้ไทย ทั้งหมด 2.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 1,503,450 โดส ยี่ห้อไฟเซอร์ เหลืออีก 1 ล้านโดส ที่ยังไม่กำหนดยี่ห้อและระยะเวลาการส่งมอบ แต่ตัดสินใจบริจาคเพิ่มให้เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยที่ทวีความรุนแรง สหรัฐฯพร้อมที่จะพิจารณาต่อไปว่าจะบริจาคเพิ่มอีกหรือไม่ ส่วนคำถามเรื่องการจัดสรรวัคซีนควรให้ใครก่อน นายฮีธกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการตัดสินใจ วัคซีนจากสหรัฐฯถือเป็นการให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ยินดีที่ทราบว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม และมุ่งเน้นการจัดสรรให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด
แฉตายคาถนนเยอะกว่าที่มีข่าว
ขณะที่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ แพทย์นิติเวชรพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีคนแชร์ว่ามีทีมจัดฉากแกล้งตายตามถนน ผมโกรธคนเริ่มสร้างเรื่องนี้ และแชร์เรื่องนี้ต่อโดยไม่คิด เพราะมันทำให้ดูเหมือนว่าเคสคนตายกลางถนนหรือตายในบ้านไม่มีจริง บอกเลยว่าเคสที่ตายจากโควิดแบบนี้มีเยอะจริงและมีมากกว่าที่ออกข่าว เพราะแค่เขตหนึ่งที่โรงพยาบาลผมดูแลใน กทม. นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.มี 40 กว่าเคส ที่หมอนิติเวชใน รพ.ไปตรวจแล้วพบว่าตายจากโควิดคาบ้านหรือตามท้องถนน (จำนวน 40 กว่าเคสนี้ ยังไม่รวมในสถิติที่แจ้งประจำวัน เพราะน่าจะอยู่ในระหว่างรวบรวม จากที่ผมแจ้งให้กรมไปสัปดาห์ที่แล้ว)
หดหู่คนแก่ป่วยเฝ้า 2 ศพเน่า
ผศ.นพ.สมิทธิ์ระบุด้วยว่า จริงๆยังมีอีกหลายเคสที่ตายช่วงนี้ แล้วไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นโควิด เพราะตอนนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์เบิกค่า swab จากเคสนิติเวชแบบนี้ ทำให้บาง รพ.ไม่ทำหรือบาง รพ.ทำแต่ antigen test kit ในศพ ถ้าผลเป็นบวกไม่รู้ว่าได้เข้าระบบว่าเป็นตายจากโควิดไหม บางเคสหดหู่มาก เช่นล่าสุดเจ้าหน้าที่ไปพบว่ามีคนแก่สองศพที่ตายจนเน่าอืดคาเก้าอี้ อยู่ร่วมกับคนแก่อีกคนที่นอนป่วยจนลุกไม่ไหว สงสารคนป่วยมากที่ต้องมองศพที่ตายและเน่าไปกับตา ตัวเองก็ป่วยจนลุกไปไหนไม่ไหว เหมือนรอความตาย น่าเศร้ามาก ถ้าจับขบวนการจัดฉากแบบนี้ได้ แจ้งมาผมลบโพสต์แน่ แต่ก็ลบความจริงที่มีการตายในบ้าน กับตายตามถนนจำนวนมากใน กทม.ไม่ได้
เชื้อเดลตาแซงอัลฟาในไทย
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด- 19 ในไทย ว่า ภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 17-23 ก.ค. จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 3,206 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 2,215 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) พบ 905 ราย และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 86 ราย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตรวจหาสายพันธุ์จำนวน 1,273 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 1,053 ราย สายพันธุ์อัลฟา 220 ราย สายพันธุ์เบตาไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนภูมิภาคตรวจ 1,933 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 1,162 ราย สายพันธุ์อัลฟา 685 ราย สายพันธุ์เบตา 86 ราย โดยสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะนี้พบแล้ว 72 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เบตามีแนวโน้มสัดส่วนลดลง สายพันธุ์เบตาส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้ มากที่สุดที่จังหวัดนราธิวาส พบประปรายในจังหวัดปัตตานี สตูล ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี และมีพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดบึงกาฬ ที่ผ่านมาพบ 4 ราย หน่วยงานในพื้นที่ได้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ส่วนการติดเชื้อร่วม 2 สายพันธุ์ ยังไม่พบรายใหม่เพิ่ม
1-31 ส.ค.ฉีดวัคซีนกลุ่มใหม่
ด้านการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ วันเดียวกัน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าตั้งแต่เวลา 06.00 น.มีประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับต่างจังหวัด มาเข้ารับการฉีดวัคซีนจำนวนมากจากกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดให้บริการแบบวอล์กอิน โดยเจ้าหน้าที่ได้เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่เวลา 07.30 น. และวันที่ 31 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์ฯจะให้บริการ โดยจะเริ่มปรับให้บริการใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นการฉีดวัคซีนให้ผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “วัคซีนบางซื่อ” ผ่าน 4 ค่ายมือถือ ประมาณ 2 หมื่นคน ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. คาดว่าศูนย์จะให้บริการไปจนถึงเดือน พ.ย. ให้บริการประชาชนได้ประมาณ 1.25 ล้านคน
ลุยลงเข็มพระ-สัปเหร่อ
อีกด้าน ที่อาคารโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตบางกอกน้อยและโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ เปิดจุดฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับพระภิกษุ แม่ชี สัปเหร่อ มัคนายก บุคลากรต่างๆของวัด ในพื้นที่เขตกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ รวม 221 วัด พร้อมจัดอบรมการจัดพิธีฌาปนกิจ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างถูกวิธี มีพระภิกษุกับผู้ที่ทำหน้าที่ต่างๆในการทำศพ มาฟังการอบรมและฉีดวัคซีนกันเนืองแน่น โดยการฉีดวัคซีนรอบแรกมีทั้งพระและฆราวาสรวม 800 คน จากนั้นจะดำเนินการต่อไปจนครบตามเป้าหมาย
ไม่กลัวศพตายโควิด
นายจรัณ ชอนบุรี สัปเหร่อวัดนิมมานรดี วัย 58 ปี กล่าวว่า ทำหน้าที่ดูแลการฌาปนกิจผู้เสียชีวิตด้วยโควิด-19 มากว่า 2 เดือน เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละประมาณ 4 ศพ ตามนโยบายของเจ้าอาวาส ที่สั่งการให้ฌาปนกิจศพโควิด-19 ฟรี ยืนยันว่าไม่ได้รู้สึกกลัวเพราะถือเป็นหน้าที่ อีกทั้งโรงพยาบาลและมูลนิธิที่นำศพมา ได้ซีลศพตามมาตรฐานทางการแพทย์ ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งในและนอกโลงศพ เวลาปฏิบัติหน้าที่ได้ใส่ชุด PPE วันนี้ได้มาฉีดวัคซีน รู้สึกสบายใจเพราะอย่างน้อยมีภูมิคุ้มกันขึ้นบ้างและยิ่งเพิ่มความมั่นใจในการทำงานแต่ก็ต้องระวังตัวอย่างเต็มที่ จากการที่ได้พูดคุยกับเพื่อนสัปเหร่อต่างวัดทุกคนก็ล้วนปฏิบัติแบบเดียวกัน และไม่ได้รู้สึกลำบาก ยินดีที่จะให้บริการ ด้วยความพร้อมและ จรรยาบรรณในวิชาชีพ
เอ๊ะ หน้ากากอีกาติดโควิด
คนบันเทิงติดเชื้อโควิด-19 อีกราย คือ นักร้องชื่อดัง “เอ๊ะ-จิรากร สมพิทักษ์” ที่โด่งดังจากการเป็น “หน้ากากอีกา” แชมป์รายการหน้ากากนักร้อง ได้แจ้งผ่านอินสตาแกรมระบุว่า ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งภรรยาก็ติดด้วยคาดว่าติดจากคุณย่าของภรรยาที่ไปตลาดหน้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งแจ้งไทม์ไลน์ เอ๊ะกล่าวว่าเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะพยายามป้องกันและดูแลตัวเองเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ที่บ้านมีทั้งเด็กและคนแก่ ตนจึงออกไปนอกบ้านเท่าที่จำเป็นจริงๆ ตอนนี้อาการคุณย่าปกติทุกอย่าง มีแค่ไข้ขึ้นใน 2 วันแรก เมื่อพูดคุยสอบถามคุณย่าซึ่งพักที่บ้านอีกหลัง คุณย่าแจ้งว่า ไปแค่ตลาดสดหน้าหมู่บ้านเพียงที่เดียวเท่านั้น ตอนนี้คุณย่ากับลูกๆ อีก 3 คน และคนอื่นๆในครอบครัว กำลังรอคิวที่จะได้รับการเข้าตรวจอย่างเป็นทางการ
แนะการใช้ฟ้าทะลายโจร
รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรมมีแถลงการณ์เรื่องการใช้ยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด-19 ว่าวิทยาลัยฯสนับสนุนให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรและแนวทางการรักษาโควิดของกรมการแพทย์ ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เพื่อลดความรุนแรงของโรค แต่ไม่สนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันประสิทธิผล ขอให้ผู้ผลิตยาเร่งแก้ไขฉลากยาให้ระบุปริมาณสารแอนโดรกรา–โฟไลด์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้อง ระบุข้อห้ามใช้ ความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่นๆ และขอเสนอให้ฟ้าทะลายโจรเป็นสินค้าควบคุมราคา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน สนับสนุนให้มีการนำอาหารสมุนไพร ได้แก่ กระชายขิง ขมิ้นชัน มะขามป้อม และอื่นๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันในรูปแบบของอาหาร
ผวจ.ยันไม่ปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ส่วนการล็อกภูเก็ตปิดเกาะทุกช่องทางเพื่อยกระดับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ตวันเดียวกัน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ. พร้อมด้วยทีมภูเก็ตที่ประกอบด้วย ภาคสาธารณสุข ภาคเอกชนในภูเก็ต แถลงข่าวร่วมกับการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) ผ่านระบบ Zoom นายณรงค์กล่าวยืนยันถึงการออกคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ล่าสุด 3 ฉบับ ต้องการควบคุมการติดเชื้อภายในจังหวัดภูเก็ตให้ได้ ไม่มีผลต่อการเดินหน้าโครงการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่เปิดขึ้นมาแล้วต้องไม่ปิด การออกคำสั่งที่มีความเข้มข้นในครั้งนี้อยู่บนความคิดว่าเพื่อช่วยคนภูเก็ต ช่วยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และช่วยประเทศไทย ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจนถึงวันที่ 29 ก.ค.รวม 12,599 คน ติดเชื้อจากกลุ่มนี้ 30 ราย คิดเป็น 0.2% น้อยมาก และติดมาจากนอกประเทศอยู่แล้ว มีคนเฉลี่ยเข้ามาวันละ 300-400 คน สายการบินเพิ่มมากขึ้น มีตัวเลขการจองห้องพักตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.แล้ว 298,858 คืน แต่ที่รอนักท่องเที่ยวมาเยอะคือตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป ตอนนี้ถือว่าทดสอบระบบ ถือว่าไปได้ด้วยดี ทำให้แรงงานเข้ามาหางานทำและนำเชื้อเข้ามา
ผวจ.โพสต์เฟซทนไม่ไหว
ขณะที่จ.สมุทรสาคร ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงไปถึง 1,186 ราย เสียชีวิต8 ราย นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผวจ. โพสต์เฟซบุกส่วนตัวว่าทุกคนทนไม่ไหวแล้วผมก็ทนไม่ไหวครับพร้อมเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการโควิด อย่าออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น มีบางคนยังจับกลุ่มกินเหล้า สังสรรค์ ปาร์ตี้ ขอให้กำลังใจแพทย์พยาบาลทุกคน