ดร.โจนาลิซา แอล เซี่ยงหลิว นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมสยาม เปิดเผยว่า ทีมวิจัยไบโอเทค ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และหน่วยงานพันธมิตรประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมสยามหลังใช้เวลากว่า 10 ปี ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมให้มีความทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพการหุงต้มดีเหมือนข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบผสมกลับ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการคัดเลือก ระหว่างข้าวสายพันธุ์แม่ “RGD03068-2-9-1-B (RGD03068)” ซึ่งเป็นข้าวเจ้าหอมนุ่มที่มีลักษณะทนแล้ง กับข้าวสายพันธุ์พ่อ “แก้วเกษตร” ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานต่อโรคไหม้ ทรงกอตั้ง จนกระทั่งได้พันธุ์ข้าวหอมสยาม มีคุณลักษณะเด่น 3 ประการ 1.ต้นข้าวมีลักษณะเตี้ยลงและมีลำต้นแข็งแรง 2.ต้านทานต่อโรคไหม้ และ 3.มีผลผลิตสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 2 เท่า ข้าวหอมสยามยังมีระบบรากลึก ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อยเหมาะสมสำหรับพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝน ซึ่งมักประสบปัญหาน้ำแล้ง
ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรอง ผอ.ไบโอเทคและหัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของไบโอเทค กล่าวว่า ปัจจุบันไบโอเทค สวทช. ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 กับกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว โดยข้าวพันธุ์หอมสยามนี้ จะเป็นข้าวหอมไทยคุณภาพอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการข้าวหอมคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูงเกินไปสามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งยังช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี.