สะเทือนขวัญโลกออนไลน์แดนมังกร เซเลบจบชีวิตตนเองด้วยการดื่มยาฆ่าแมลงระหว่างไลฟ์ จุดประเด็นถกเดือด ชาวเน็ตที่ยุส่ง ควรมีความผิดหรือไม่
อินฟลูเอนเซอร์จีนที่ใช้ชื่อในโลกออนไลน์ Luoxiaomaomaozi เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ต.ค.) หลังดื่มยาฆ่าแมลง ขณะไลฟ์สตรีมบนแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอในวันก่อนหน้า เธอถูกนำตัวส่งรพ.ในเวลาไม่นานหลังเกิดเหตุ แต่หมอช่วยชีวิตไม่ทัน และจากไปในวัยเพียง 25 ปีในวันถัดมา โกลบอล ไทมส์ ระบุว่า เหตุการณ์เช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น และจุดประเด็นถกเถียงอย่างหนักว่า บรรดาผู้ชมเกรียนคีย์บอร์ด ที่ยุให้เธอดื่มยาฆ่าแมลงจนนำไปสู่โศกนาฏกรรม ควรต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายด้วยหรือไม่
“Luoxiaomaomaozi” มีผู้ติดตาม 6.78 แสนคน โพสต์คลิปสั้น 38 คลิป ส่วนใหญ่เกี่ยวกับแฟชั่น และมีร้านขายของชื่อเดียวกันอยู่บนเวบไซต์อีคอมเมิร์ซ Taobao ก่อนจากไป หญิงสาวไลฟ์โดยพูดว่า นี่อาจเป็นคลิปวิดีโอสุดท้าย และขอบคุณผู้ติดตามทุกคน ทั้งยังเปิดเผยว่า เธอทรมานกับโรคซึมเศร้ามานาน เข้าออกรพ.นานกว่า 2 เดือน “ฉันดูเหมือนมีความสุข แต่ทั้งหมดที่เห็นคือการแสดง ฉันหวังว่าทุกคนจะมีความสุขเมื่อดูคลิปของฉัน และเห็นว่าฉันมีความสุขเช่นกัน แต่ตอนนี้ ไม่ไหวแล้ว”
แม้ก่อนหน้านี้ Luo เคยบอกเล่าปัญหาความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับแฟนหนุ่ม แต่ยังตัดใจไม่ได้และบางครั้งก็ซึมเศร้า แต่ครอบครัวอ้างว่าไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เธอจบชีวิตตนเอง แต่โทษบรรดาเกรียนคีย์บอร์ด ที่ยุส่งให้เธอดื่มยาฆ่าแมลง
ภาพบันทึกจากหน้าจอแสดงให้เห็น Luo ชูขวดเครื่องดื่มผสมยาฆ่าแมลง ขณะอ่านความเห็นของผู้ติดตาม ที่ปรากฎว่ามีผู้ชมบางคน เขียนว่า “ดื่มเลย” กับอีกส่วนเตือนให้แจ้งตำรวจ ถูกแชร์ว่อนในโลกออนไลน์
ชาวเน็ตรายหนึ่งที่อ้างว่าเป็นเพื่อนของผู้ตาย บอกสื่อท้องถิ่นว่า Luo ไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย แต่ใช้วิธีการนั้นเรียกความสนใจจากคนรัก เหตุผลที่เธอดื่มฆ่าแมลงผสมกับเครื่องดื่มในท้ายที่สุด เพราะชาวเน็ตยุให้ทำ หลังการไลฟ์จบลง หญิงสาวโทรแจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลด้วยตัวเอง Beijing News รายงานว่า ครอบครัวของเธอประกาศจะฟ้องร้องเอาผิดผู้ชมไลฟ์ ที่ยุให้ลูกสาวดื่มยาฆ่าแมลง จนนำไปสู่โศกนาฏกรรม ส่วนเพื่อน ๆ ของเธอ กล่าวว่า หวังว่าคนที่มีส่วนการตายของเธอแม้ทางอ้อม จะออกมาขอโทษ
Zhu Wei นักวิจัยด้านการสื่อสาร มหาวิทยาลัยกฎหมายและรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยจีน บอกโกลบอล ไทมส์ ว่าแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบในการตรวจทานข้อมูลที่ผู้ใช้โพสต์ เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มเหล่านั้นควรยกระดับการมอนิเตอร์ไลฟ์สตรีม โดยเฉพาะในห้องที่มีผู้ชมจำนวนมาก ใช้เอไอจับคีย์เวิร์ดและการรายงานจากผู้ชม และปิดไลฟ์ทันทีที่พบปัญหา นักวิจัยรายนี้เชื่อว่า หากมองด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบทางสังคม ควรเอาผิดผู้ชมได้ ขณะที่ Ding Jinkun ทนายความจากบริษัททนายความ Dabang ในเซี่ยงไฮ้ แสดงความเห็นกับเดอะ เปเปอร์ ว่าหากพบว่าข้อความบูลลี่ มีส่วนกับการฆ่าตัวตายโดยตรง ชาวเน็ตเหล่านั้น อาจมีความผิด ส่วนแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น ควรต้องรับผิดชอบและเอาผิดทางแพ่งได้ฐานล้มเหลวในการตรวจจับและสกัดการฆ่าตัวตาย