สิ้น!! “หลวงปู่ขันธ์” เกจิดังแปดริ้ว มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 100 ปี 80 พรรษา

“หลวงปู่ขันธ์” ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต เกจิผู้เฒ่าที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวแปดริ้ว มรณภาพอย่างสงบ ณ รพ.กรุงเทพฯ กลางดึก 19 ส.ค. สิริอายุ 100 ปี พรรษา 80

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกจิผู้เฒ่า ที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวแปดริ้ว “พระราชมงคลวชิรโสภิต (หลวงปู่ขันธ์ สิริวณฺโณ)” ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต (วัดต้นสน) ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มรณภาพอย่างสงบ ณ รพ.กรุงเทพ เมื่อเวลา 23.16 น. วันที่ 19 ส.ค.66 สิริอายุ 100 ปี 80 พรรษา

สำหรับ ประวัติพระราชมงคลวชิรโสภิต (หลวงปู่ขันธ์) เกิดในสกุล คงสาคร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.2466 ที่บ้านหมู่ที่ 1 ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา อายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย.2486 ที่วัดโพธาราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา สำเร็จนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก จากสำนักเรียนวัดมงคลโสภิต (วัดต้นสน) เป็นพระเถระเมืองแปดริ้ว ที่ได้รับการยกย่องว่าเคร่งครัดระเบียบวินัย ใส่ใจกัมมัฏฐาน มีความเชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ เคยฝากตัวเรียนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานกับศิษย์สายพระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์ที่สำคัญหลายรูป เช่น หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล หลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง หลวงปู่ดุลย์ วัดบูรพาราม และหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

ช่วงถือธุดงควัตรนั้น หลวงปู่ขันธ์ เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ถือธุดงค์วัตรนั้นเป็นไปอย่างอุกฤษฏ์ ได้บุกป่าฝ่าดงไปมาเกือบทั่วประเทศ มีครั้งหนึ่ง เข้าไปเจริญภาวนาในถ้ำ พอออกจากถ้ำจะไปบิณฑบาต พบเสือแม่ลูกอ่อนที่ปากถ้ำ ต่างจ้องตากันอยู่ จิตตอนนั้นไม่คิดกลัว มีแต่การกำหนดรู้เท่านั้น ไม่นานเสือแม่ลูกอ่อนก็กระโดดหายไปในป่าลึก หลวงปู่ท่านผ่านการธุดงควัตร มาอย่างเชี่ยวกราก ผ่านประสบการณ์ ลี้ลับมากมาย ในขณะธุดงค์ ทั้งเจอสัตว์ร้าย วิญญาณร้าย หรือโอปาติกะ ท่านก็สามารถผ่าน สิ่งเหล่านั้นมาได้ด้วยยึดมั่นใน คุณพระพุทธ พระธรรม และบารมีของครูบาอาจารย์ของท่าน โดยใช้การปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มแข็ง มีจิตที่หนักแน่น ท่านว่า เราทำดีไม่ได้คิดร้ายกับเค้า ถ้าจะตายก็ให้มันรู้ไป หลวงปู่ท่าน บอกว่า เค้าไม่ทำร้ายคนดี ไม่ทำร้ายคนจิตมีเมตรา เค้าแค่มาขอส่วนบุญส่วนกุศล

ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า การนั่งภาวนาทำให้เกิดภูมิธรรมปัญญา คราวหนึ่งท่านนั่งภาวนาทำกรรมฐานอยู่ใต้ต้นไม้ในสวน ลูกมะพร้าวลูกหนึ่งได้ตกลงมาตรงหน้าท่าน ท่านได้กำหนดจิตมองที่ลูกมะพร้าว แล้วเกิดการพิจารณา ได้ธรรมะดังนี้ว่า เปลือกลูกมะพร้าวเปรียบเหมือนศีล กะลามะพร้าวเปรียบเหมือน สมาธิ เนื้อมะพร้าวเปรียบได้กับปัญญา และน้ำมะพร้าวเปรียบ เหมือนจิต เพราะจิตดั้งเดิมของเราทุกคน เป็นจิตที่บริสุทธิ์ เปรียบเหมือนน้ำมะพร้าว เราต้องใช้ศีลเป็นเปลือกป้องกันความชั่ว ใช้สมาธิ เป็นพลังขับเคลื่อน ให้เกิดปัญญา เพื่อจะรักษาจิต ของเราให้บริสุทธิ์ ไม่มั่วหมองไปด้วย กิเลส มายาตามโลกต่างๆ

ในเมื่อครั้งท่านธุดงถ์ ไปสงขลา ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า ชาวบ้านต่างมาเฝ้ากราบไหว้ เพราะชาวบ้านลือกันว่า ท่านใบ้หวยแม่น ทั้งๆที่ท่านไม่เคยให้หวยใคร แต่ชาวบ้าน เหล่านั้นพากันมานั่งเฝ้า และดูกริยาอาการที่หลวงปู่ท่าน ท่านปฏิบัติกิจ ต่างๆ อาทิ ตำยาสมุนไพร เขียนหนังสือ แล้วเอาไปตีเป็นเลข แทงหวยกันเอง ก็เป็นเรื่องที่แปลก เค้าก็ถูกหวยกัน เรื่องนี้ดังมาก เพราะมีคนถูกหวยกัน หลายเจ้า แม้แต่ยามท่านป่วยอาพาธ นอนป่วยที่โรงพยาบาล ยังมีคนตามมาเฝ้า จะมาขอตัวเลขจากท่าน จนท่านต้องขอกระดาษและดินสอ จากพยาบาลมาเขียนไปติดไว้ที่ เตียงนอนท่านว่า นะไม่รู้ โมไม่เห็น ใครเคี่ยวเข็ญ ตกนรก

มีอยู่คราวหนึ่งท่าน ธุดงค์ ไปพบวัดร้างอยู่ติดตีนเขาบรรยากาศเงียบสงบ เย็นสบาย หลวงปู่ท่านเลยจะพำนักเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ชาวบ้านแถวนั้น บอกท่านว่าให้ย้ายไปพักที่อื่นเถอะที่นี้ผีดุ พระที่มาพักที่นี้ อยู่ได้ไม่เคยเกิน 3 คืนต้องย้ายไปที่อื่น หลวงปู่ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร จะลองพักดู ถ้าอยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ไหวค่อยไป ท่านอยู่พักปฏิบัติธรรมที่วัดร้างนั้น ถึงสองอาทิตย์ ไม่มีเหตุอะไร จวบจนคืนวันที่ 15 ตกตอนกลางคืน ขณะท่านนั่งภาวนาอยู่ ได้พบวิญญาณตนหนึ่งตัวสีดำ ดวงตาโตมีสีแดง น่ากลัวเดินเข้ามาทำท่า ยืนมือมาจะหักคอท่าน หลวงปู่ท่าน สำรวมจิต ตั้งมั่นแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ให้กับวิญญาณตนนั้น สักพัก วิญญาณนั้นก็หายไป และไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย ท่านสอน ลูกศิษย์เสมอว่า การให้ด้วยความเมตราด้วยจิตที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทน เป็นเกราะคุ้มภัยทั้งปวงที่ดีที่สุด เทวดาฟ้าดิน จะคุ้มครอง จากภัยทุกๆอย่าง

ท่านปฏิบัติถุดงค์วัตร อย่างยาวนานหลายปี ธุดงค์ไปทั่วจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงเดินทางกลับวัด คอยช่วยเหลืองานศาสนกิจภายในวัด เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมวัดมงคลโสภิต และสอนพระกรรมฐาน ที่วัดต้นสนตั้งแต่ปี 2505 โดยหลวงปู่ขันธ์ ท่านยังหาโอกาสที่ว่างศาสนะกิจในวัด ออกธุดงถ์บ้างอีกเป็นครั้งคราว ด้วยความเป็นพระปฏิบัติดี เคร่งครัดพระธรรมวินัย ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโสภิต ในปี พ.ศ.2511