“หมออุดม” รับ กังวลลูกผสม “เดลตา+โอมิครอน” วอนช่วยกันสกัด หวั่นเชื้อกลายพันธุ์ ฝากปีใหม่ยึดมาตรการป้องกันโควิดเข้ม
เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 13 ธ.ค. 2564 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หรือ โอไมครอน (Omicron) ว่า เป็นข่าวดีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมเเละป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า เชื้อโอมิครอนจะเกิดไม่รุนแรง แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) 2-5 เท่า
แต่ถ้าดูข้อมูลบ้านเราในขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ถือว่าประชาชนช่วยกันด้วยดี แต่อยากให้ดูข้อแตกต่างระหว่างบ้านเรากับยุโรป วัคซีนของยุโรปเขาฉีดได้ 80-90% แต่ติดเชื้อวันละถึง 3 หมื่นราย ส่วนที่เห็นชัดเขาต่างจากเราคือไม่ได้เคร่งครัดเรื่องมาตรการ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งต่างจากคนไทย 99% ใส่หน้ากากอนามัย จึงอยากเตือนพวกเราอย่าชะล่าใจ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100% แต่เป็นพื้นฐานในการป้องกัน
ทั้งนี้ โควิดโอมิครอนไม่รุนแรง ส่วนหนึ่งให้เครดิตวัคซีนเพราะมีการฉีดกันไปเยอะ จึงอยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์คนที่ยังลังเลไม่ไปฉีด ขอให้ไปฉีดวัคซีนช่วยได้จริงๆ ถ้าไม่คิดถึงตัวเองก็ขอให้คิดถึงคนรอบข้าง แม้ท่านติดเชื้อไม่แสดงอาการ แต่เอาเชื้อไปติดคนอื่นได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจเกิดอัตราการตายสูง พร้อมกันนี้ ยอมรับว่าการฉีดวัคซีนไม่ได้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะครบ 100 ล้านโดสภายในเดือน พ.ย. เพราะคนยังลังเล แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้เป็นไปตามเป้าภายในเดือน ธ.ค. 70% ให้ครบ 2 เข็ม จึงอยากเรียกร้องให้มาฉีดเพราะจะช่วยปกป้องคนรอบข้างและประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ รวมทั้งป้องกันโอมิครอน
“เราหนีโอมิครอนไม่ได้แน่ ขณะนี้มี 8 รายแล้ว และกำลังจะมีเข้ามาอีก อย่างเช่นประเทศเกาหลี คนที่ติดโอมิครอนไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศเลย แต่เกิดจากภายในเพราะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อและโอมิครอนแพร่ไปกว่า 60 ประเทศทั่วโลกแล้ว และยิ่งแพร่เชื้อเร็วกว่าเดลตา อย่างเช่นปีที่ผ่านมาการแพร่เชื้อของอัลฟา (Alpha) 80-90% ใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือนก็กลายพันธุ์เป็นเดลตา ฉะนั้นถ้าเราไม่ระวังโอมิครอนจะมาแทนเดลตาแน่นอน สิ่งที่ป้องกันได้จริงคือวัคซีน และพฤติกรรมของตัวเราเองใส่แมสก์ล้างมือบ่อยๆ ยิ่งใกล้เทศกาลปีใหม่เป็นเรื่องที่น่าห่วง อยากให้ไปเที่ยว มีการจัดงาน แต่ก็ต้องระวัง”
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าห่วงเรื่องการกลายพันธุ์ระหว่างเชื้อเดลตากับโอมิครอนอาจมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดเป็นลูกผสมหรือไฮบริด และอาจทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ นพ.อุดม ตอบว่า มีความเป็นไปได้แน่นอน แต่การที่จะกลายพันธุ์ได้จะต้องมีการแพร่เชื้อออกไปถึงกลายพันธุ์ได้ ยิ่งแพร่เชื้อมากจะยิ่งมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มาก ถ้าเราตัดขั้นตอนไม่ให้มีการแพร่กระจายได้ โอกาสกลายพันธุ์ก็จะลดลง ซึ่งเป็นหลักการทางการแพทย์ แต่ถ้าเราช่วยกันตามมาตรการสาธารณสุข จะเป็นการลดและช่วยป้องกันไม่ให้กลายพันธุ์ได้ด้วย.