“หมอโอภาส” ยืนยัน พบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 3 ในไทยแล้ว เป็นชายชาวเยอรมัน สสจ.ภูเก็ต กำลังสอบสวนโรคและไทม์ไลน์ เผย วัคซีนเตรียมเข้ามาในเดือนนี้ เล็งฉีดให้ 2 กลุ่มเป้าหมาย
วันที่ 3 ส.ค. 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox) ยืนยัน รายที่ 3 เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี
ผู้ป่วยรายดังกล่าว เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 มาเที่ยวที่ จ.ภูเก็ต เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการ ไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตุ่ม จากการสอบถามเบื้องต้นและดูช่วงระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ พบว่าชายคนดังกล่าวเข้ามาประเทศไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ ก็น่าจะติดเชื้อมาจากต่างประเทศ โดยขณะนี้มีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด และคนในกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจคัดกรอง ซึ่งโรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรง ไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันได้ง่าย ดูจากผู้ป่วยฝีดาษาลิง 2 รายแรก เมื่อมีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด ก็ไม่มีผู้ใดติดเชื้อเลย แต่ทั้งหมดต้องเฝ้าระวังและคุมไว้สังเกตอาการให้ครบ 21 วัน
นพ.โอภาส กล่าวต่อถึงเรื่องความเสี่ยงของโรคที่จะกระจายในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ราย เป็นชายทั้งหมด ซึ่งตรงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิง 98% จะมีประวัติในกลุ่มชายรักชาย ในส่วนของไทยก็สอดคล้องกัน เป็นชายทั้งหมด ซึ่ง 2 คนเป็นคนต่างชาติ ส่วนอีก 1 เป็นคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนต่างชาติ ดังนั้น ความเสี่ยงของไทยคือการสัมผัสใกล้ชิดกับคนต่างชาติ หรือคนที่มีประวัติเป็นโรคฝีดาษลิง
ส่วนวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงนั้น องค์การเภสัชกรรมคาดว่าจะนำเข้ามาได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีน 2 กลุ่ม
- กลุ่มแรก คนที่ยังไม่มีประวัติติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ในห้องแล็บ ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- กลุ่มที่สอง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงสูง หากได้รับวัคซีนไม่เกิน 14 วันหลังการสัมผัสครั้งสุดท้าย ก็เชื่อว่าจะป้องกันโรคได้
สำหรับยารักษาโรคฝีดาษลิง นพ.โอภาส ระบุว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่หายเองได้ ผู้ป่วย 2 คนแรกของไทยก็มีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ สำหรับยาอาจจะจำเป็นกับคนที่ร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันไม่ดี ดูได้จากผู้ป่วยที่มีรายงานเสียชีวิต ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีโรคประจำตัว เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ดังนั้น ยาต้านไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยทุกคน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กำลังสอบสวนโรคและไทม์ไลน์ของผู้ป่วย เบื้องต้นผู้สัมผัสใกลชิดหรือเสี่ยงสูงมีไม่มาก และผู้ป่วยก็ให้ความร่วมมือดี
ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า ตามที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ อีโอซี กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษวานร สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ขณะนี้กรมการแพทย์ประกาศแนวทางดังกล่าว หากพบผู้ป่วยที่สังสัยป่วยโรคฝีดาษลิง ขอให้รับเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Admit) เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน และเพื่อการควบคุมโรคไปในตัว โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าสามารถตรวจเชื้อได้ใน 24 ชั่วโมง อย่างเร็วที่สุดคือ 3-4 ชั่วโมง
“แนวทางรักษา โดยหลักการเป็นโรคที่หายเอง แต่มีการพูดคุยเรื่องยาต้านไวรัสเผื่อไว้ด้วย ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยสงสัยเราจะแอดมิตจนแน่ใจว่าเป็นหรือไม่ จากนั้นจะต้องดูเป็นรายๆ ไป หากเราสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ชัดเจน ไม่มีโรคประจำตัวที่น่ากังวล เราก็จะกลับไปรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่ต้องมั่นใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อน และสามารถป้องกันควบคุมโรคได้”