- “นิโรธ” มั่นใจ “บิ๊กตู่” พร้อมคณะรัฐมนตรีแจงฝ่ายค้านได้ทุกเรื่อง พร้อมรับข้อเสนอแนะ ถือโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบผลงานที่ผ่านมา
- โฆษกเพื่อไทย มั่นใจข้อมูลฝ่ายค้าน เตรียมเปิดแผลคณะรัฐบาลใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งเศรษฐกิจ โควิด และทุจริตคอร์รัปชัน
- “หมอชลน่าน” ขึ้นเปิดคนแรกในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ก่อน ส.ส. ทยอยอภิปราย คาดเลยเที่ยงคืนของทั้ง 2 วัน
และแล้ววันเวลาก็ดำเนินมาจนถึงกลางเดือน ก.พ. ซึ่ง 17-18 ก.พ. 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องตบเท้าเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เตรียมข้อมูลมากมายเพื่อมาชี้แจงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ขณะที่ฟากฝั่งฝ่ายค้านเองก็ต้องเตรียมข้อมูลอย่างหนักที่จะนำมาอภิปราย ครม. ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาถึงปัจจุบัน รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ไข แม้จะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ก็น่าติดตามไม่แพ้กัน
มั่นใจรัฐบาลแจงได้หมด รัฐมนตรีทุกคนพร้อมตอบ
นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า รัฐบาลมีความมั่นใจอยู่แล้ว เพราะบริหารเศรษฐกิจ บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความรู้ความสามารถเต็มที่ ทำงานได้ดี ตอบได้ทุกคำถาม และรัฐบาลคิดว่าจะรับคำชี้แนะ เชื่อมั่นว่าฝ่ายรัฐมนตรีตอบได้ทั้งหมด สำหรับการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นี้ จะเป็นเชิงซักถามและข้อเสนอแนะถึงการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม. ก็สามารถถามได้ทุกเรื่อง รัฐมนตรีทุกคน ทุกกระทรวง พร้อมที่จะตอบ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตอบได้ทุกเรื่องที่ฝ่ายค้านถาม
ส่วนเรื่ององครักษ์พิทักษ์ลุงตู่นั้นไม่ได้มี แต่พรรคพลังประชารัฐมีการคุยในส่วนของฝ่ายกฎหมายและฝ่ายวิชาการของพรรค ได้มอบหมายให้ดูเนื้อหาสาระของแต่ละกระทรวง และพร้อมที่จะซักถามหรือให้คำแนะนำกับรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ฝ่ายกฎหมายจะดูการอภิปรายของฝ่ายค้านด้วยว่าอยู่ในกรอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หรือไม่ หากเลยกรอบไปอาจจะต้องทักท้วงกันบ้าง แต่ไม่ได้มีการวางตัวว่าใครจะเป็นผู้แย้งหรือทักท้วง ซึ่ง ส.ส. ในพรรคพลังประชารัฐมีความรู้ความสามารถ ทุกคนพร้อมที่จะทำหน้าที่ และส่วนตัวไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาท้วงติงอะไร แต่คาดว่าฝ่ายค้านคงจะอภิปรายอยู่ในกรอบ
“คงไม่มีอะไรจะฝากถึงฝ่ายค้าน แต่การอภิปรายในครั้งนี้รัฐบาลรับฟังคำชี้แนะ ข้อซักถาม และจะถือโอกาสนี้อธิบายผลงานของรัฐบาลว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำงานอะไรไปบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังและเข้าใจ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงได้ทั้งหมดทุกข้อซักถาม ผมว่าไม่มีอะไรเกินความคาดหมาย คิดว่าประชาชนจะพึงพอใจผลงานที่รัฐบาลจะได้อธิบายในการประชุมวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ถือโอกาสเป็นการชี้แจงผลงานของรัฐบาลด้วย”
ขณะที่กรอบการอภิปรายใน 2 วัน วันที่ 17 ก.พ. 2565 จะเริ่มตั้งแต่ 09.30 – 00.30 น. ส่วนวันที่ 18 ก.พ. 2565 จะเริ่มตั้งแต่ 09.00 – 24.00 น. ซึ่งฝ่ายรัฐบาลใจกว้างมากให้ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาถึง 22 ชั่วโมง เพื่อให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้เต็มที่มากกว่าทุกๆ สมัยที่มีการเปิดอภิปราย ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีเวลา 8 ชั่วโมง และบวกเวลาเพิ่มได้ คาดว่าน่าจะจบได้ตามกำหนดเพราะได้คุยกับฝ่ายค้านแล้วขอให้รักษาเวลาตามกรอบ แต่หากฝ่ายรัฐบาลยังตอบไม่ครบถ้วนสามารถบวกเวลาเพิ่มไปจาก 8 ชั่วโมงได้
ฝ่ายค้านเตรียมเปิดแผล ชี้เรื่องร้ายแรงต้องรีบแก้ไข
หลังฟังเสียงฝ่ายพรรครัฐบาลไปแล้ว ลองมาฟังจากพรรคฝ่ายค้านกันบ้าง จากการพูดคุยกับ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร และโฆษกพรรคเพื่อไทย ว่า การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในครั้งนี้ เป็นการอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยมีการจัดสรรเวลาตามสัดส่วนของสมาชิก ซึ่งผู้อภิปรายคนแรกจะเริ่มจากผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามด้วยพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย โดยเริ่มจากหัวหน้าพรรคก่อนเพื่อเปิดประเด็น ส่วนการจัดลำดับการอภิปรายนั้นจะเป็นหัวข้อหลักสำคัญๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การบริหารราชการในช่วงการระบาดของโควิด-19 รวมถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อที่จะให้รัฐบาลทราบว่าข้อมูลที่พรรคฝ่ายค้านมีเป็นเรื่องร้ายแรง หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการจะสร้างผลเสียให้ประเทศชาติเป็นอย่างมาก และพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะให้ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ เพื่อที่รัฐบาลจะไปเร่งปรับปรุงให้เร็วที่สุด
เฉพาะพรรคเพื่อไทยเองมีผู้ที่จะอภิปรายกว่า 30 คน ข้อมูลค่อนข้างมากจึงต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัวมากที่สุด ซึ่งแต่ละคนจะได้รับเวลาในการอภิปรายไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประเด็น แต่พยายามที่จะให้ทุกคนได้อภิปรายอย่างทั่วถึง ในส่วนของประเด็นเศรษฐกิจนั้นจะเกี่ยวเนื่องหลายเรื่อง ขณะนี้ที่เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่และดูเหมือนวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลยังไม่ถูกจุด ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ แม้กระทั่งโควิด-19 ที่อยู่กับเรามา 2 ปีเศษ แต่ก็ประสบปัญหาอยู่ เพราะเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมต่างๆ ก็ตามมามากมาย ซึ่งฝ่ายค้านจะเจาะลงไปว่ารัฐบาลผิดพลาดเรื่องใดบ้าง อีกทั้งยังมีปัญหาคอร์รัปชันที่เป็นบ่อเกิดของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศด้วย
การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 จะเป็นการอภิปรายรัฐมนตรีทั้งคณะในเรื่องข้อผิดพลาดร่วมกัน หมายถึงการทำงานของ ครม. ทั้งคณะที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำรัฐบาล พร้อมมองว่ากรอบเวลา 22 ชั่วโมงที่ฝ่ายค้านได้รับนั้นไม่เพียงพอ เดิมมีการขอไป 30 ชั่วโมง การจัดสรรเวลาจึงเป็นงานหนักพอสมควร คาดว่าจะเลย 24.00 น. ของแต่ละวัน ซึ่งฝ่ายค้านวางไว้ต้องอภิปรายให้ได้อย่างน้อย 11 ชั่วโมงต่อวัน หากรัฐบาลได้มารับฟังปัญหาแล้วนำไปแก้ไขก็ดีกว่าไม่ให้ความสำคัญเลย
ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันยื่นญัตติตามมาตรา 152 ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เราทำงานใกล้ชิดกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด มีการพูดคุยกันทั้งเรื่องประเด็น หัวข้อ แบ่งให้สมาชิกได้พูดตามเวลาที่เราได้รับการจัดสรร ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมอย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าการอภิปรายของเราในครั้งนี้จะสามารถทำให้รัฐบาลเกิดความสั่นคลอนได้
“เราจะเปิดแผล เปิดประเด็นต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ ถือว่าเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องประชาชน และให้ประชาชนได้ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลเองก็จะต้องเร่งหาทางแก้ไข จะต้องใช้ความสมัครสมานสามัคคีซึ่งมันไม่มีอยู่แล้วในฝ่ายของรัฐบาล แม้จะบอกเราว่ามีจำนวนเสียงที่เยอะ แต่ในสภาพความเป็นจริงก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการขัดขากันเองอยู่ตลอดเวลา มีการกระทบกระทั่ง หรือมีการต่อรองกัน”
อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ แต่ฝ่ายค้านก็จะร่วมกันอภิปรายเพื่อเปิดแผลรัฐบาลให้ได้ประโยชน์กับพี่น้องคนไทยมากที่สุด โดยประชาชนสามารถติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางโทรทัศน์และออนไลน์ รวมถึงแสดงความคิดเห็นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสื่อสารพูดคุยกับ ส.ส. ได้เช่นกัน
แม้ว่าการอภิปรายในวันที่ 17-18 ก.พ. จะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ แต่เชื่อว่าประชาชนหลายคนน่าจะรอติดตาม ทั้งฝ่ายค้านที่จะเป็นผู้นำข้อมูลมาอภิปรายในประเด็นต่างๆ รวมถึงรอฟังคำชี้แจงในทุกเรื่องจากฝั่งคณะรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์การทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายผ่านสายตาประชาชน ก่อนที่ปิดประชุมสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 และการอภิปรายในครั้งนี้ไทยรัฐออนไลน์ร่วมดึงสัญญาณถ่ายทอดสดให้ได้รับชมไปพร้อมๆ กันด้วย.