เป็นที่ประจักษ์ชัดของประชาชนทั้งประเทศว่า “สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงพระปรีชาสามารถรอบด้าน โดดเด่นทั้งด้านกีฬา, ดนตรี, ศิลปวัฒนธรรม และการออกแบบแฟชั่น ซึ่งล้วนแต่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติและยังประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทย อีกทั้งทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในการเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระกรณียกิจ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะสำเร็จลุล่วงด้วยดีเสมอมา
หนึ่งในพระปณิธานอันมุ่งมั่นของ “สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” คือการปลุกกระแสผ้าไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นำอัตลักษณ์ดั้งเดิมในการทอผ้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย มาประยุกต์ใหม่เพิ่มลวดลายเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหมาย โดยได้พระราชทานแบบผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” อันงดงามทันสมัย พร้อมแนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งไม่เพียงจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสวมใส่ผ้าไทยอย่างจริงจัง แต่ยังส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ช่วยชุบชีวิตในยามวิกฤติ เพิ่มรายได้และต่อลมหายใจให้ชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีรายได้จุนเจือครอบครัว และสามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้จะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงสนพระทัยงานด้านศิลปาชีพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเสด็จ “สมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” (สมเด็จย่า) ไปทรงเยี่ยมสมาชิกศิลปาชีพในภูมิภาคต่างๆทั่วไทย ทำให้ทรงรับรู้ว่า “สมเด็จย่า” ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์และสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้เสริมนอกภาคเกษตรแล้ว ยังทำให้คนในชาติเกิดความรักและความภาคภูมิใจในงานศิลปะและหัตถกรรมไทย ที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน โดยการทอผ้าด้วยมือนั้นถือเป็นมรดกของแผ่นดินที่ได้รับการยกย่องและชื่นชมเสมอมา ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท “สมเด็จย่า” ทรงสานต่องานด้านศิลปหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถักทอด้วยฝีมือของชาวนาชาวไร่ โดยมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะส่งเสริมอาชีพกลุ่มผ้าไทยทุกแขนง ที่ก่อเกิดขึ้นจากสายธารแห่งพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระบรม ราชชนนีพันปีหลวง” เพื่อให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนของประชาชนคนไทย ตลอดจนสานต่องานด้านการอนุรักษ์ผ้าทอพื้นเมืองอันทรงคุณค่ายิ่งไว้บนผืนแผ่นดินไทยสืบต่อไป
“งานศิลปาชีพการทอผ้า” จึงนับเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจสำคัญยิ่งในการแบ่งเบาพระราชภารกิจของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดย “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงนำประสบการณ์จากการทรงงานและการศึกษาผ้าทอพื้นเมือง ตลอดจนผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมพื้นบ้านในแต่ละภูมิภาค ที่ทรงตามเสด็จโดย “สมเด็จย่า” มาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทว่ายังคงไว้ซึ่งลวดลายของผืนผ้า ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นในแต่ละภาค นับเป็นพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบที่ลึกล้ำ ทรงผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมเข้ากับความทันสมัยได้อย่างกลมกลืนลงตัว สอดคล้องกับแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ทรงริเริ่มไว้เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมานิยมสวมใส่ผ้าไทย
ทั้งนี้ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงถือเป็นผู้นำในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมการทอผ้าพื้นเมืองไทยอย่างแท้จริง ด้วยทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย จึงเสด็จไปทรงเยี่ยมกลุ่มทอผ้าในชุมชนจังหวัดต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดในยามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19
ครั้งหนึ่งระหว่างเสด็จไปทรงเยี่ยมกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พระองค์ทรงร่วมทอผ้าและทรงปั่นด้าย พร้อมมีพระปฏิสันถารกับประชาชนกลุ่มทอผ้าย้อมคราม สร้างขวัญกำลังใจแก่กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย และประชาชนชาวพรรณานิคม อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวภูไทเป็นที่รู้จักแพร่หลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสำเร็จรูป, กระเป๋า และของที่ระลึกต่างๆ จากที่เคยขาดรายได้ เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาถึงวันนี้ชาวภูไทกลับมามีรายได้จุนเจือครอบครัว และสามารถพึ่งพาตนเองได้
ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังตระหนักถึงความห่วงใย เมื่อพระองค์เสด็จไปพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่กลุ่มชุมชนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในงาน “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา OTOP ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดขึ้นที่หอประชุมจามจุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร นอกจากจะเสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ต่างๆด้วยความสนพระทัย อาทิ ผ้าทอของกลุ่มชุมชนภูไทดำ, ทอผ้าไหมแพรวา ตำบลบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ และกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ในโอกาสนี้ยังมีพระวินิจฉัยแนวทางการพัฒนาลวดลายต่างๆ พร้อมพระราชทานคำแนะนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้มีสีสันโดดเด่นทันสมัย
ผลจากการรณรงค์พลิกฟื้นผ้าไทยในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในการทอผ้าและการพัฒนาฝีมือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากความสำเร็จของงานผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัด นราธิวาส คึกคักไปด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่างๆ และผ้าทอแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งกลุ่มทอผ้าทั่วทุกจังหวัดของภาคใต้ ได้น้อมนำไปพัฒนาต่อยอดลวดลายการทอผ้าไหม, ผ้าฝ้าย และผ้าบาติก
ในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย “นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” บอกเล่าว่า รู้สึกซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” พระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ” ทำให้จังหวัดที่ไม่เคยมีการทอผ้า เช่น บ้านผมที่ตราด คึกคักตื่นเต้นมากกับเรื่องผ้าลายขอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรีฯ และได้เรียกร้องมาที่กรมพัฒนาชุมชน ซึ่งสมัยนั้นผมดำรงตำแหน่งอธิบดี ขอให้ช่วยหาอาจารย์ไปสอน ตอนนี้มีกลุ่มทอผ้าเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า พระปณิธานที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการพระ ราชดำริต่างๆ สามารถทำได้สำเร็จจริง และให้คุณประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยจริงๆ ทำให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมอาชีพงานหัตถศิลป์หัตถกรรม โดยเฉพาะด้านผ้า ทำให้เห็นแต่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงให้ความสำคัญเรื่องทัศนคติมาก ตลอดจนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้มารวมกันเป็นกลุ่ม OTOP และกลุ่มศิลปาชีพ นอกจากนี้ พระองค์ได้พระราชทานองค์ความรู้ใหม่ๆมากมาย โดยทรงเน้นให้ใช้สีธรรมชาติ เพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพพลานามัยของคนในชุมชน พระเมตตาที่ทรงช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 9,000 ล้านบาท มีคนได้รับประโยชน์โดยตรงกว่า 100,000 ครอบครัว
ด้านประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย “ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ” กล่าวว่า จากที่เสด็จไปทอดพระเนตรผลงานของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองในแต่ละจังหวัด “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ทรงตั้งพระทัยว่าจะริเริ่มงานพัฒนาลายผ้า เพื่อสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและสร้างแรงบันดาลใจแก่กลุ่มทอผ้าต่างๆ โดยใช้ลวดลายโบราณดัดแปลงปรับปรุงลายเก่า และประดิษฐ์ลวดลายแปลกใหม่ ตลอดจนออกแบบตัดเย็บผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยเหมาะกับทุกเพศทุกวัยทุกโอกาส สอดคล้องกับพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งทรงเป็นต้นแบบฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทยมาตลอด ในนามสภาสตรีแห่งชาติฯ และสตรีไทยทั้งประเทศ ขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยร่วมกันรักชาติ ด้วยการแสดงออกง่ายๆใส่ผ้าไทยทุกวัน ก็จะเป็นการช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก เพื่อที่รายได้จะได้กลับไปสู่ชุมชนในชนบท และต่อยอดผ้าถิ่นไทยสู่ระดับสากล
ไม่เพียงยกระดับผ้าทอให้เป็นผ้าไทยยุคใหม่ที่มีความร่วมสมัยเป็นสากล ทว่าลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทรงมอบให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มทั่วทุกภูมิภาค เพื่อนำไปเป็นต้นแบบ และต่อยอดพัฒนาลวดลายให้สอดคล้องกับแฟชั่นร่วมสมัย ยังปลุกกระแสให้เกิดความตื่นตัวในการทอผ้า และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือของกลุ่มทอผ้าทั้ง 4 ภาค ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” วันที่ 8 มกราคม 2565 ขอน้อมเกล้าฯถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ