3 เหล่าทัพ ยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม
12 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3 เหล่าทัพพร้อมใจกัน ทำการยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2564 จำนวน 21 นัด ประกอบด้วย กองทัพบก โดย กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ทำการยิงที่ท้องสนามหลวง กองทัพเรือ โดย กองพันทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ทำการยิงที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ และ กองทัพอากาศ โดย กรมทหารต่อสู้อากาศยานรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ทำการยิงที่ ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนวมินทกษัตริย์ตริยาธิราช
การยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำ หรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ
สำหรับในประเทศไทยมีการยิงสลุตครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีในบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิไชยเยนทร์ (ป้อมวิไชยประสิทธิ์ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ในปัจจุบัน) มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องหรือไม่ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือป้อมวิไชยเยนทร์ในขณะนั้น เป็นสถานที่ ที่เกิดการยิงสลุต ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ในรัชสมัยของ สมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป ธรรมเนียมการยิงสลุตได้เริ่มกลับมารื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ต้อนรับ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2398 ต่อมาในปี พ.ศ.2448 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.125 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ
ส่วนในช่วงเช้าที่ผ่านมา พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2564 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย อย่างสมพระเกียรติ แม้จะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีพิธีถวายเครื่องราชสักการะ และถวายพระพรชัยมงคล สำหรับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอื่นๆ อาทิ การบริจาคโลหิต การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ยังคงจัดให้มีขึ้นในรูปแบบวิถีใหม่ (New normal) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามที่รัฐบาลกำหนด
ขณะที่กองทัพเรือ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ทำพิธีถวายราชสักการะ พร้อมกล่าวถวายพระพรชัยมงคล ที่กองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ลงนามถวายพระพรฯ ผ่านระบบออนไลน์ แล้วออกแจกจ่ายอาหารกล่อง ถุงยังชีพให้แก่ประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
กองทัพอากาศ พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้ถวายเครื่องราชสักการะ พิธีถวายพระพรชัยมงคล และการลงนามถวายพระพร การใส่บาตรถวายพระสงฆ์ถวายเป็นพระราชกุศล ณ วัดดอนเมือง พร้อมจัดพิธีไถ่ชีวิตโค-กระบือ ณ ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ส่วนกองทัพบก พลเอก ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำพิธีถวายพระพร และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ไปตั้งแต่เมื่อวานนี้
ขณะที่เวลา 12:00 น. ของวันนี้ ทั้ง 3 เหล่าทัพจะมีการยิงสลุตหลวง 21 นัด เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง