“อุตุฯ” แถลงด่วน เตือน 16-20 ก.ค. ฝนตกหนัก ถึงหนักมาก หลังคาดพายุโซนร้อน “ตาลิม” ขึ้นฝั่งเวียดนามตอนบน 18-19 ก.ค. ทำ ภาคเหนือ-อีสานตอนบน ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมแรงสูง 4 เมตร ชาวเรือควรงดอออกจากฝั่ง
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 ก.ค. ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา จัดแถลงข่าว เตือนประชาชนระวังฝนตกหนัก ถึงหนักมาก และคลื่นลมแรง มีผลกระทบวันที่ 16-20 ก.ค. โดย น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุฯ ได้แจ้งเตือนประชาชนจะมีฝนตกหนัก ถึงหนักมาก และคลื่นลมแรงฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทยตอนบน ช่วงวันที่ 16-20 ก.ค. ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ทวีกำลังแรงขึ้น ปัจจัยที่ 2 คือ ร่องมรสุมหรือร่องความกดอากาศต่ำ พาดผ่านประเทศไทยตอนบน
และปัจจัยที่ 3 เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 ก.ค. มีการก่อตัวของความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ แต่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และพายุโซนร้อน ตามลำดับในช่วงเช้าวันที่ 15 ก.ค. ในชื่อ พายุโซนร้อน “ตาลิม” (Talim) โดยเส้นทางพายุจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งฟิลิปปินส์ จากนั้นจะลงทะเล แล้วเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะขึ้นฝั่งตรงเกาะไหหลำ แล้วเคลื่อนข้าสู่ตอนบนของประเทศเวียดนาม ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว จากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ
“แนวพายุลูกนี้ไม่ได้เคลื่อนสู่ประเทศไทยโดยตรง แค่เฉียด แต่จาก 3 ปัจจัยดังกล่าว ก็จะมีมีอิทธิพลทำให้เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมากได้ ในบริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบน รวมถึงภาคกลาง รวมทั้ง กทม. และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงของแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และฝนที่ตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนคลื่นลมฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ก็มีแนวโน้มที่มีคลื่นสูง โดยบริเวณที่มีฝนตกหนักมาก อาจมีคลื่นสูง 4 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนตกฟ้าคะนองบางแห่ง อาจมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในช่วงนี้ไว้ด้วย”
น.ส.ชมภารี กล่าวต่อว่า การที่ฝนจะตกหนักบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ก็จะทำให้มีโอกาสเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกร สามารถเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อเพาะปลูกได้ อย่างไรก็ตาม แม้พายุดังกล่าวไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทยโดยตรง แต่ทางกรมอุตุฯ จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ และจะแจ้งเตือนทุกฝ่ายต่อไป