เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการโอนเงินงบประมาณตามโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพ ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน รวมประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท
โดยโอนไปยังหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัด ศธ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนักเรียน นักศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สามารถรับเงินคนละ 2,000 บาท ได้ทั้งในรูปแบบการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือรับเงินสดที่โรงเรียน โดยรับเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.ย.64 ส่วนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะได้รับเงิน วันที่ 6-10 ก.ย.64
“สถานศึกษาทุกแห่ง เมื่อได้รับการจัดสรรเงินตามมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไปแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการโอนเงินหรือจ่ายเงินสดให้ถึงมือผู้ปกครอง นักเรียน และนักศึกษา เต็มจำนวนโดยเร็ว ห้ามสถานศึกษาหักเงินนี้ เพราะรัฐบาลต้องการให้เงินนี้เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายในการเรียนที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ตามความจำเป็น เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า และอื่นๆ เป็นต้น”
ทั้งนี้ นักเรียน สังกัด สพฐ.สามารถตรวจสอบสิทธิ์ ได้ที่เว็บไซต์ https://student.edudev.in.th นักเรียน สังกัด สช.ตรวจสอบสิทธิ์ ได้ที่ https://opec.go.th และ นักศึกษา สังกัด สอศ. ตรวจสอบสิทธิ์ ได้ที่ https://www.vec.go.th สำหรับ นักศึกษา กศน.ตรวจสอบสิทธิ์ที่สำนักงาน กศน.จังหวัด/อำเภอ และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ส่วนกรณีไม่ได้รับเงินในช่วงเวลาที่กำหนด สามารถติดตามสอบถามได้ที่ สถานศึกษาต้นสังกัด หรือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือส่วนราชการต้นสังกัด หรือโทร. 1579 , 1693 ซึ่งอาจจะมีนักเรียนบางคนได้รับเงินล่าช้า เพราะมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ นักเรียนย้ายโรงเรียนหลังวันที่ 25 มิ.ย.64 โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามยืนยันว่านักเรียน นักศึกษา ทุกคนที่มีสิทธิ์ต้องได้รับเงินเยียวยาเต็มจำนวน
น.ส.ตรีนุช กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองและนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสอศ.จำนวน 23 แห่ง ร้องเรียนว่าไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงินเยียวยา คนละ 2,000 บาท นั้น ที่ผ่านมา สอศ.ได้จัดทำตัวเลขข้อมูลนักศึกษา ในสังกัด สอศ.ที่จะได้รับการเยียวยาครอบคลุมทุกระดับ และเสนอไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา แต่เมื่อสภาพัฒน์ฯ พิจารณาและส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับตัดกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีของสอศ.ออกไป เมื่อตนทราบเรื่องจึงหารือกับ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และมอบหมายให้ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ประสานไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาทบทวนและขยายเพดานการเยียวยาเงินคนละ 2,000 บาท ให้ถึงกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีแล้ว
เมื่อผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของสภาพัฒน์ฯ ก็ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป หากผ่านมติ ครม.แล้ว สอศ.จะเร่งดำเนินการโอนงบประมาณให้แก่สถาบันการอาชีวศึกษาทันที ทั้งนี้ สอศ.ได้จัดทำตัวเลขข้อมูลนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 10,538 คน ที่จะได้รับการเยียวยาเงินคนละ 2,000 บาท เพื่อเสนอให้สภาพัฒน์ฯ พิจารณาแล้ว.