เรียกร้อง! ศาลอาญาระหว่างประเทศ เปิดไต่สวน “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำรัฐประหารในพม่า ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เรียกร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ เปิดไต่สวนพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารในพม่า ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะที่ UN ประณาม มีรายงานทหารพม่ายิงชาวบ้านหลายคน ก่อนจุดไฟเผาทั้งเป็น

เมื่อ 10 ธ.ค. 64 เว็บไซต์อัลจาซีรารายงาน โครงการความรับผิดชอบเมียนมา (The Myanmar Accoutability Project) หรือ MAP ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่กรุงเฮก เปิดการไต่สวน พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำก่อรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ 1 ก.พ. 64  ที่ถูกกล่าวหา ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารด้วยความรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,305 ศพ

‘มีการใช้วิธีทรมานอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ แถลงการณ์ของ MAP ขณะที่ คริสโตเฟอร์ กุนเนส ผู้อำนวยการโครงการ MAP ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า ผู้นำก่อรัฐประหารที่ผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของกองกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่อยู่ภายใต้คำสั่งของเขาในการก่ออาชญากรรมที่โหดร้าย

‘ความหวังของการตัดสินว่ากระทำผิดเป็นเรื่องดี และพวกเราเชื่อว่าหลักฐานต่างๆสำหรับการออกหมายจับมิน อ่อง หล่ายกำลังท่วมท้น’

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำก่อรัฐประหารในเมี่ยนมา เมื่อ 1 ก.พ. 64

ตามรายงานของสมาคมความช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ติดตามการเสียชีวิตและการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมือง ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา มีผู้ชุมนุมประท้วงถูกสังหารระหว่างทหารเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมอย่างน้อย 1,305 ศพ ในจำนวนนี้ รวมถึงเด็กกว่า 75 ศพ และยังมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย 10,756 คน ซึ่งการยกระดับการใช้ความรุนแรงทางทหารในการจัดการกับการชุมนุมประท้วงต่อต้าน ยังทำให้ผู้ชุมนุมต้อง ‘ติดอาวุธ’ ให้กับพวกเขาเอง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น

อัลจาซีรายังรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 8 ธ.ค. สเตฟาน ดูจาร์ริช โฆษกประจำสหประชาชาติ แถลงว่า ได้เกิดเหตุการณ์นองเลือดมากขึ้นในเมียนมา มีการกล่าวหาทหารยิงชาวบ้านหลายคน รวมทั้งเด็ก 5 คนในเขตซะไกง์ หรือสะกาย ทางฝั่งขวาของแม่น้ำอิรวดี และยังจุดไฟเผาคนเหล่านี้ทั้งเป็นเพื่อตอบโต้ที่ชาวบ้านดักซุ่มโจมตีทหาร

‘พวกเราขอประณามอย่างแรงต่อการกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ และขอเตือนเจ้าหน้าที่ทหารว่าการกระทำของพวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและการคุ้มครองพลเรือน โดยบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ชั่วร้ายจะต้องถูกนำมาพิจารณาคดี’ โฆษกสหประชาชาติแถลง