- “บิ๊กป้อม” ปะทะ “จุรินทร์” โต้กันเดือด แย่งชิงนโยบายคนละครึ่ง หวังโกยคะแนนเสียง เขต 6 สงขลา และ เขต 1 ชุมพร เพราะครั้งนี้ประชาธิปัตย์เดิมพันสูงจะแพ้ไม่ได้
- แต่พรรคพลังประชารัฐก็หวังอยากเอาชนะ เพื่อหยั่งเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ทำให้ “ธรรมนัส” ปราศรัยสร้างวลีเด็ด บอกชาวบ้าน “ต้องเลือกคนมีตังค์” ร้อนถึงพรรคประชาธิปัตย์ “นิพนธ์” สวนกลับ “สู้กับพรรคการเมืองมามาก ถ้าจะสู้กับพรรคนี้ เชื่อว่าวันไหนหมดพลเอกแล้ว พรรคก็คงตาย”
- ด้านอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยืนยัน ทั้ง 2 พรรค ยังสามารถร่วมงานกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะอย่าลืมว่าเรื่องการเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร หากผลประโยชน์ทางการเมือง และเงื่อนไข ไปด้วยกันได้
ปราศรัยโค้งสุดท้ายของทั้ง 2 เขต เลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคใต้ เขต 6 สงขลา และ เขต 1 ชุมพร เป็นไปอย่างดุเดือดเลือดข้น เมื่อพรรคประชาปัตย์หวังจะรักษาเก้าอี้ แต่พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ ต้องการจะได้พื้นที่ ส.ส.เพิ่ม เพื่อหยั่งเสียงไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า
วาทะร้อนแรงจึงเกิดขึ้น เพื่อหวังโกยคะแนนคนในพื้นที่อย่างหนัก โดยเฉพาะคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรพมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บนเวทีสงขลา ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง บอกให้ชาวบ้าน “เลือกคนมีตังค์และชาติตระกูลต้องดี” จนทำให้ นายธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา พรรคก้าวไกล นำคลิปวิดีโอไปยื่นร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสงขลา (กกต.สงขลา) ให้ตรวจสอบว่าปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 (1) หรือไม่ รวมถึงให้สอบสวน คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ร่วมฟังปราศรัยยู่ด้วย แต่กลับไม่มีการสั่งให้ยุติการกระทำ ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 22 หรือไม่
ส่วนเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทนไม่ได้กับคำปราศรัยนี้ จัดเวทีหาเสียง ชนกับ พลังประชารัฐทั้งสงขลา และชุมพร ฟาดวิวาทะกันไปมาอย่างเผ็ดร้อน ทั้งเรื่องมารยาททางการเมือง จิตสำนึก รวมถึงการโต้กลับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ให้เลือกคนมีตังค์ แต่ที่เด็ดสุด คือคำปราศรัยของนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บนเวทีสงขลาที่ออกมาขย่มคนใต้ เตือนสติให้มีศักดิ์ศรี พร้อมจิกกัดแบบแสบถึงทรวง “เชื่อว่าวันไหนหมดพลเอกแล้ว พรรคนี้ก็คงตาย” ทำให้ลืมไปเลยว่าทั้งคู่อยู่พรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน เพราะครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์เดิมพันสูงจะแพ้ไม่ได้ ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับบอกเองว่า เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ต้องสู้ศึกหนักถึง 3 เรื่อง คือ อำนาจเงิน อำนาจรัฐ และความไม่ชอบธรรมทางการเมือง พร้อมเอ่ยปากสงสารลูกหมี นายชุมพล จุลใส ที่ต้องนั่งน้ำตาตกใน ออกไปต่อสู้ทางการเมืองจนเสียที่นั่งเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเกิด
เลือกตั้งภาคใต้น่าจับตามองเพราะเป็นพื้นที่ใหม่ และเปิดสำหรับทุกพรรค
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์การเลือกตั้งโค้งสุดท้ายของทั้ง 2 เขต เลือกตั้ง กับไทยรัฐออนไลน์ ว่า เลือกตั้งภาคใต้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองเพราะเป็นพื้นที่ใหม่ และเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกพรรค โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2562 ที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐ เจาะฐานเสียงเลือกตั้งในภาคใต้เข้ามาได้ และบางจังหวัดได้คะแนนยกจังหวัด ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็สามารถเจาะพื้นที่เข้ามาได้เช่นเดียวกัน ส่วนพรรคไทยสร้างไทยเองครั้งนี้ยังไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกพรรคต้องการจะลงไปเจาะพื้นที่ภาคใต้
ในขณะพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เอง มานาน 20-30 ปี ก็ต้องการตรึงพื้นที่ภาคใต้ให้ได้ เพราะหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เกรดเอ อย่างเช่นเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราชในครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็เสียเก้าอี้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตาม
“ต้องบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลครั้งนี้ เพื่อเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้นการตรึงพื้นที่ในภาคใต้ก็มีผลอย่างมาก พื้นที่ภาคใต้ในการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 เขต ครั้งนี้ หากเสียพื้นที่ไป จะเกิดการโดมิโนมาสู่การเมืองในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเร่งฟื้นฟูความนิยม ความเชื่อมั่น และเชื่อถือของพรรค เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้ ส.ส. เลย ถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่ เพราะฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ภาคใต้ก็ฟันหลอ กทม.ก็สูญพันธุ์ พอเป็นแบบนี้ โจทย์ประชาธิปัตย์จึงแพ้ไม่ได้ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐหากจะแพ้ก็ไม่ได้ส่งผลต่อรัฐบาล เพราะภาวะเสียงปริ่มน้ำไม่มีแล้ว แต่หากประสบความสำเร็จ จะเป็นการเปิดพื้นที่มากกว่า” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
เลือกตั้งซ่อม กลับเห็นภาพความล้มเหลว ของระบบการเลือกตั้ง
จะเห็นได้ว่าเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ดุเดือดอย่างมาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีการวิวาทะกัน มีการแย่งชิงนโยบายคนละครึ่ง ส่วน ร.อ.ธรรมนัส ก็ปราศรัย เรื่องเลือกคนรวย ทำให้นายจุรินทร์ออกมาแย้งว่าการเมืองมันต้องเลือกคนดี ในเรื่องนี้ อาจจะเป็นสีสันของการหาเสียง แต่ภาพล้มเหลว คือระบบการเลือกตั้ง เพราะความจริงมันต้องถูกออกแบบมาเป็นนวัตกรรมทางการเมือง ที่จะเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง และความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสันติวิธี
“มีคำกล่าวไว้ว่า การเลือกตั้งนั้นจะช่วยเปลี่ยนจาก Bullet (หัวกระสุน) มาสู่ Ballot (บัตรเลือกตั้ง) เพื่อไม่ให้การเข้าสู่อำนาจ เป็นการต่อสู้พลังอำนาจเข้าหากัน และใช้สันติวิธีผ่านกลไกในการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันการเลือกตั้งก็จะเป็นการยอมรับจากสังคม จากประชาชน เข้าสู่อำนาจรัฐนั่นเอง ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาในเมืองไทย การเลือกตั้งกลับไม่ใช่นวัตกรรมทางการเมืองในการแก้ปัญหา จึงจะเห็นได้ว่ามีวาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ปัจจุบัน วาทกรรม คนดี ขายไม่ได้แล้ว จึงกลายเป็นการหยิบยกวาทกรรม คนรวย มาแทน ซึ่งทั้ง 2 คำ นี้มันสะท้อนถึงความล้มเหลวในระบบเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นปัญหาในเรื่องนี้ เราต้องให้ความสำคัญมากกว่าวิวาทะทางการเมืองกันไปมา” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
พลังประชารัฐ หรือ ประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ใครจะได้เก้าอี้ไปครอง?
ในพื้นที่ชุมพรและสงขลา รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีความได้เปรียบอยู่เล็กน้อย แต่จะประมาทพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ เพราะเมื่อเอกซเรย์ไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ชุมพร เป็นการต่อสู้กัน ของ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มรักชุมพร ของตระกูลจุลใส ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง นายอิสรพงษ์ มากอำไพ อาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อ แต่ในพื้นที่ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เพราะคือหลานชายภรรยา ของนายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส. เจ้าของที่นั่งเก่า ส่วนอีกฝากฟั่ง คือกลุ่มชุมพรต้องเดินหน้า ของนายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร 6 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ แต่ปัจจุบันหันมาสนับสนุน พรรคพลังประชารัฐ ด้วยการส่งทนายแดง หรือ นายชวลิต อาจหาญ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 จึงเป็นการต่อสู้ของ 2 กลุ่มนี้ แต่อย่างไรฐานคะแนนเสียงของตระกูลจุลใส ก็มีความได้เปรียบมากกว่า
ขณะที่พื้นที่สงขลา ฝั่งผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เพราะ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล “น้ำหอม” คือภรรยาของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกชาย ที่ปัจจุบันเพิ่งรับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ แบบหมาดๆ ในพื้นที่ถือว่ามีพลังไม่น้อย และ น.ส.สุภาพร ก็เคยเป็นอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่คนในพื้นที่รู้จักกันดี
ส่วนทางพรรคพลังประชารัฐ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ หรือ โบ๊ท ก็เป็นหัวคะแนนคนสำคัญ ของนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม ถือเป็นจุดสนใจของพรรคพลังประชารัฐ
ปราศรัยให้เลือกคนรวย อาจยังไม่เข้าข่ายผิด แต่ต้องดูว่า กกต. จะวินิจฉัยอย่างไร
การปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส จะสามารถเอาผิดได้หรือไม่ ต้องดูในประเด็นว่ามีการสัญญาอะไรหรือไม่ และจะเอาเงินของคนรวยไปให้ใครหรือไม่ เพียงแค่การพูดเปรียบเทียบเรื่องการเลือกคนรวย อาจจะยังไม่ถือว่าเข้าข่าย แต่หาก ร.อ.ธรรมนัส มีการระบุว่า คนรวยคนนี้จะนำเงินมาลงในพื้นที่ให้ ถือว่ามีความผิดอย่างแน่นอน แต่ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้ปราศรัยดังกล่าว เพียงแต่บอกว่า เลือกคนรวยแล้วดีกว่า จึงอาจจะไม่เข้าข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะสัญญาว่าจะให้ หรือมีการให้อามิสสินจ้าง อันนี้ผิดกฎหมายเลือกตั้งแน่นอน
“ส่วนที่พรรคก้าวไกลไปร้อง ต้องดูว่า กกต. จะวินิจฉัยอย่างไร ในเรื่องการปราศรัย แต่อย่างที่บอกต้องดูเนื้อหาด้วย ในการที่บอกว่าเป็นคนรวยได้บอกไหมว่าจะเอาเงินมาให้ ถ้าได้เป็นผู้แทน จะเอาผลประโยชน์มาให้ อันนี้คือจุดตัดว่าให้ หรือสัญญาว่าจะให้ จุดตัดของกฎหมายมันอยู่ตรงนี้” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
เรียกร้องเรื่องมารยาททางการเมือง เป็นคนละประเด็นกับการเลือกตั้ง
รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า แม้จะมีการสัมภาษณ์หรือปราศรัย ฟาดวิวาทะกันไปมา แต่ก็ไม่มีปัญหาในการร่วมรัฐบาลต่อ เนื่องจากเรื่องการเลือกตั้งไม่มีฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เพราะคือผู้แข่งขันกันทั้งหมด และหลักการพรรคการเมืองคือรวมคนที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน เพื่อต่อสู้ช่วงชิงเข้าสู่อำนาจรัฐ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งมันคือหลักการที่ถูกต้องและเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น การออกมาเรียกร้องเรื่องมารยาททางการเมือง ถือเป็นคนละประเด็นกัน เพราะเรื่องมารยาทเกิดขึ้นหลังจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ในสนามเลือกตั้ง เรื่องมารยาททางการเมืองเป็นการต่อสู้ทางการเมืองกัน
“ไม่มีผล แต่ในแง่เสถียรภาพรัฐบาลผสม อันนี้เราไม่อาจคาดหวังได้อยู่แล้ว ถึงแม้ไม่มีเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ไม่ได้บอกว่า ประชาธิปัตย์ กับพลังประชารัฐ จะลงรอยกัน หลายกรณีเราก็เห็นว่าเขามีปัญหากันด้วย” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว
คนละครึ่งเป็นผลงานของคณะรัฐมนตรีไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง
นโยบายคนละครึ่ง สามารถอ้างได้ทุกพรรค เพราะออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสม จึงเป็นนโยบายของทุกพรรค เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐอาจจะอ้างในฐานะที่เป็นพรรคแกนนำหลัก และต้องการใช้ในการหาเสียง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันเป็นนโยบายที่รับผิดชอบร่วมกัน ภายใต้ระบบรัฐสภา ที่เรียกว่า หลัก collective responsibility (การรับผิดชอบร่วมกันเป็นองค์คณะ) ดังนั้น ความเป็นคณะรัฐมนตรีไม่ได้จำกัดอยู่ที่พรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว มันต้องเป็นคณะรัฐมนตรีร่วมกันของรัฐบาลผสม ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลผสมได้เช่นเดียวกัน
2 พรรค ยังร่วมงานกันได้ หากผลประโยชน์ลงตัว
หากมองไปถึงเรื่องการเมืองในอนาคต รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ ยังสามารถร่วมงานกันได้ ไม่มีปัญหา เพราะอย่าลืมว่าเรื่องการเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูที่ถาวร หากผลประโยชน์ทางการเมือง และเงื่อนไข ไปด้วยกันได้ ก็สามารถร่วมรัฐบาลกันได้ ไม่มีปัญหาอะไร
แต่ดูเหมือนว่ารอยร้าวรัฐบาลครั้งนี้ มันได้แตกออกจนละเอียด คล้ายว่ายากจะประสานไปแล้ว 1 ปี เศษของรัฐบาล ไม่ใช่แค่เวลาที่เหลือ แต่คือชั่วโมงวัดใจสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า จนทำให้พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยจูบปาก ถึงกับดับเครื่องชนกันแหลกลาญ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะรักษาเก้าอี้ได้หรือไม่ หรือพรรคอื่นๆ จะได้เก้าอี้ไปครอง 16 ม.ค. นี้เท่านั้น ที่คนชุมพร และสงขลา จะเป็นคนชี้ชะตา
ผู้เขียน : Supattra.l
กราฟิก : THEERAPONG.C