แกนนำทะลุฟ้า มั่นใจ การปักหลัก “ยืนหยุดขัง” มาราธอน 4 วันรวด หน้าหอศิลป์ จะสร้างกระแสให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เมื่อคนส่วนใหญ่ทราบ มีเยาวชน 2 คน เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อความเปลี่ยนแปลง ยกเลิกม.112
จากกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม 2 เยาวชน ที่อยู่ระหว่างการประกันตัวในคดี ม.112 ร่วมกันแสดงออกซึ่งการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ด้วยการขอถอนประกันตัวเองในคดี ม.112 แล้วเข้าไปอดอาหารและน้ำประท้วงในทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชน และให้ทุกพรรคการเมืองเสนอนโยบายยกเลิกมาตรา 112 และ 116 จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลนั้น
เมื่อเวลา 01.12 น. วันที่ 22 ม.ค. ที่หน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ สี่แยกปทุมวัน กลุ่มทะลุฟ้า นำโดย นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน พร้อมสมาชิก เดินทางมารวมตัวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ยืนหยุดขัง 112 ชั่วโมง” (4 วัน 6 ชม.สิ้นสุด 26 ม.ค. เวลา 17.12 น.) ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของ 2 นักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันฯ ในเรือนจำ
โดยมีการทำป้ายผ้าข้อความ “มีคนอดน้ำอดอาหารอยู่ในคุก #ยกเลิก112” และป้ายระบุเวลาเป็นรายชั่วโมงในกิจกรรมการยืนหยุดขังครั้งนี้ มาผูกไว้เป็นสัญลักษณ์ มีการตั้งเต็นท์สำหรับให้ผู้ที่มายืนได้พักผ่อน ทั้งนี้ในช่วงสายได้ขยับพื้นที่การยืนหยุดขังมาบริเวณใต้ทางขึ้นสกายวอล์กปทุมวัน เนื่องจากหน้าหอศิลป์มีกิจกรรมเวทีเทศกาลภาพยนตร์ และต่อมาในช่วงเย็น นายอานนท์ นำภา นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นายพรชัย ยวนยี แกนนำสำคัญของกลุ่มราษฎร ตลอดจนประชาชนที่เห็นด้วยต่างทยอยเดินทางเข้าร่วม
นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ทะลุฟ้า เผยว่า เราต้องการแสดงออกให้สังคมได้รับรู้ว่า ขณะนี้กำลังมีเยาวชนหญิง 2 คน ที่เป็นเพื่อนของเราคือ ตะวันและแบม กำลังเอาอิสรภาพและชีวิตตัวเองเข้าแลกเพื่อเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เหตุที่ต้องเลือกพื้นที่ลานหน้าหอศิลป์ เพราะเป็นจุดศูนย์กลางการสัญจรที่จะสามารถสื่อสารกับคนทุกชนชั้นในสังคมที่ผ่านไปมาได้ดีที่สุด
แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ระบุด้วยว่า ยอมรับวิธีการต่อสู้ของเพื่อนในเรือนจำรอบนี้มีความสุ่มเสี่ยงมากแต่เคารพการตัดสินใจ และขอร่วมต่อสู้สนับสนุนข้อเรียกร้องไปด้วย ตลอด 24 ชั่วโมง จากนี้จนถึงวินาทีสุดท้ายของกิจกรรม จึงจะมีคนมาสลับกันยืนแบบมาราธอนไม่มีการหยุดพัก พร้อมถือภาพเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ ดอกทานตะวัน ป้ายยกเลิก 112 และยืนอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการเมือง สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ เริ่มมีคนมายืนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวต่างชาติที่ผ่านไปมาก็สนใจและบันทึกภาพไว้ แต่สิ่งที่ตั้งใจให้เกิดคือ อยากให้มีคนมายืนร่วมกันให้ได้มากที่สุด หรือแค่ช่วยกันสื่อสารสิ่งที่เราได้ทำต่อๆ กันไป นั่นก็ถือเป็นความสำเร็จ มั่นใจ 4 วันนี้ ต้องเกิดผลบางอย่างกับสังคมแบบซอฟต์พาวเวอร์บ้างไม่มากก็น้อย สังคมจะได้เห็นว่า แม้กระแสการเคลื่อนไหวของเยาวชนอาจจะไม่ได้แรงเหมือนแต่ก่อน อย่างน้อยก็มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่หยุดสู้ และอุทิศชีวิตเพื่อความเปลี่ยนแปลง