สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่งตั้ง ประธานาธิบดีคนใหม่ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน หลังจากสิ้น ชีค คาลิฟา เจ้าผู้ครองนคร จับตาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน-ตรุกี
สำนักข่าว เอพี รายงานว่า คณะผู้ปกครอง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แถลงผลการลงความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ให้แต่งตั้ง ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อบริหารปกครองประเทศ หลังการสวรรคตของ ชีค คาลิฟา บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยพระชนม์ชีพ 73 พรรษา
สถานีข่าว WAM ของรัฐบาลยูเออี รายงานว่า คณะปกครองที่ประกอบด้วยเจ้าผู้ครองนคร 7 รัฐ ของยูเออี ลงความเห็นในการประชุมที่พระราชวัง อัล มูชริฟ ในกรุงอาบูดาบี ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ให้ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ นับจากยูเออีได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ. 2514 (ค.ศ.1971)
“เราขอแสดงความยินดีต่อชีค โมฮัมเหม็ด และขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อพระองค์ เช่นเดียวกับประชาชนที่จะภักดีต่อพระองค์” ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม นายกรัฐมนตรียูเออี โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ หลังจากลงมติคัดเลือกประธานาธิบดี
พร้อมระบุด้วยว่า “เมื่อประเทศนำโดยพระองค์จะเดินไปบนเส้นทางแห่งชัยชนะและมีเกียรติ ตามพระประสงค์ของพระเจ้า”
การแต่งตั้งเร็วเพื่อแสดงเสถียรภาพแถลงการณ์แต่งตั้งประธานาธิบดีอย่างรวดเร็วนี้ คาดว่ายูเออีต้องการแสดงให้โลกเห็นถึงเสถียรภาพของประเทศที่อุดมด้วยน้ำมันและก๊าซ ทั้งเป็นที่ตั้งของฐานทัพชาติตะวันตก
“การถ่ายโอนอำนาจที่ราบรื่นในยูเออี สะท้อนถึงความสุขุมของการทำงานโดยสถาบันและระดับธรรมาภิบาล กลไก และความมีเสถียรภาพของประเทศนี้” นายอันวาร์ การ์กาช นักกการทูตเอมิเรตส์ กล่าว
วันเดียวกันนี้ กระทรวงกิจการประธานาธิบดียูเออี ยังเผยแพร่ภาพสมาชิกราชวงศ์ร่วมพิธีฝังพระศพ ชีค คาลิฟา ที่สุสานบาทีน ในกรุงอาบูดาบี โดยชีค โมฮัมเหม็ด ทรงร่วมแบกพระศพชีค คาลิฟา ที่เป็นพระเชษฐา มายังสุสานด้วย
สำหรับ ชีค โมฮัมเหม็ด ประธานาธิบดีคนใหม่ มีพระชนมายุ 61 พรรษา ทรงรักษาการและปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดี แทนชีค คาลิฟา พระเชษฐาต่างมารดา มาตั้งแต่ปี 2557 นับจากชีคคาลิฟาประชวรด้วยอาการเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน
ภายใต้การบริหารของชีค โมฮัมเหม็ด ยูเออีแสดงบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าร่วมกับซาอุดีอาระเบีย ทำสงครามเลือดที่เยเมนเพื่อต่อสู้กับอิหร่าน มายาวนานหลายปี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
ชีคโมฮัมเหม็ดทรงถูกสงสัยถึงบทบาทการสู้รบกับกลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด และอิหร่าน รวมถึงการจัดแผนเล็งเป้าหมายนักรบอิสลามในยูเออี นับตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดสถานการณ์อาหรับ สปริง และกระตุ้นให้ชาติตะวันตกแข็งกร้าวต่ออิหร่านมากขึ้น ด้วยความวิตกว่าอิหร่านเดินหน้าพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และอยู่เบื้องหลังกลุ่มนักรบต่างๆ ในภูมิภาคอาหรับ
อย่างไรก็ตาม นับจากเกิดโรคระบาดโควิด ชีคโมฮัมเหม็ดหาทางที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านและตุรกีมากขึ้น