แท้งลูกไม่เศร้าฟูมฟาย ไม่ใช่ครั้งแรกที่แท้ง สั่งประหารได้ทันที แอม ไซยาไนด์ ไม่ได้ตั้งครรภ์แล้ว หากผิดจริงรับโทษสูงสุด
จากข่าวนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ผู้ต้องหาคดีวางยาฆ่าผู้อื่นกว่า 15 ราย อยู่ระหว่างการฝากขังของศาล ในขณะยังตั้งครรภ์อยู่นั้น ได้เกิดแท้งลูก นำตัวไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยได้รับการยืนยันจาก น.ส.โศรยา ฤทธิอร่าม ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง ว่า เป็นเรื่องจริงที่แอมแท้งลูก เนื่องจากมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา โดยแอมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ผู้คุมว่าบุตรในครรภ์ชีพจรไม่เต้น เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบ และเชิญแพทย์สูตินารีของราชทัณฑ์เข้าตรวจเช็กด้วย ปรากฏว่าบุตรในครรภ์หัวใจไม่เต้น จึงนำตัวส่ง รพ.ตำรวจ พบว่าแท้งลูกจริง เจ้าหน้าที่พยาบาล และแพทย์จึงได้ทำการยุติการตั้งครรภ์ จากนั้นนำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
น.ส.โศรยา เผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้แอมได้เปิดเผยกับตนเองว่าที่ผ่านมาเคยตั้งครรภ์และแท้งมาก่อน แท้งลูกบ่อยครั้งมาก จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่แท้งลูกด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ และจากการแท้งลูกในครั้งนี้ เจ้าตัวไม่ได้มีอาการเศร้าฟูมฟาย เสียใจ หรือเครียด แต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว อย่างไรก็ตามไม่ได้รับรายงานว่าทนายความของแอม ได้ประสานขอเข้าเยี่ยมแอมหรือไม่
ล่าสุดกรมราชทัณฑ์ ได้อัพเดตอาการแอม ผ่านทางโซเชียล โดย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทัณฑสถานหญิงกลางว่า ข.ญ.สรารัตน์ หรือแอม รังสิวุฒาภรณ์ คดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งตั้งครรภ์ได้ 26 สัปดาห์ เมื่อมีการตรวจสุขภาพครรภ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 พบความผิดปกติเนื่องจากไม่พบการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ จึงส่งตัวเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2566
แพทย์ได้ให้การรักษา โดยการผ่าตัดทารกในครรภ์ซึ่งเสียชีวิต และมีภาวะครรภ์เป็นพิษและในวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ได้ส่งตัวมาสังเกตอาการต่อทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
โดยมีเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง จำนวน 3 คน ควบคุมตัวออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.20 น. ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัว ข.ญ.สรารัตน์ฯ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาการโดยรวมรู้สึกตัวดี ให้ความร่วมมือถามตอบได้ตามปกติ มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อยหลังการผ่าตัด สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ รักษาต่อเนื่องโดยการฉีดยาปฏิชีวนะและติดตามอาการทางคลินิกใกล้ชิดโดยทีมสหวิชาชีพ
ทั้งนี้ กรมราชราชทัณฑ์ยืนยันว่า ได้ดูแลผู้ต้องขังทุกราย ให้ได้รับการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOPs) ของกรมราชทัณฑ์และตามหลักสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม สำหรับในโทษประหารชีวิตนั้น ก่อนหน้านี้ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีมีกระแสสงสัยกรณี แอม ไซยาไนด์ ตั้งครรภ์ จะรับโทษประหารได้หรือไม่ว่า ความจริงมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเขียนชัดเจนแล้วในมาตรา 247 วรรคแรก คดีที่จำเลยต้องโทษประหารชีวิต ห้ามมิให้บังคับตามคำพิพากษา จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอภัยโทษแล้ว
และในวรรคสอง ระบุว่า “หญิงใดต้องโทษประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่ ให้รอไว้จนพ้นกำหนดสามปี นับแต่คลอดบุตร ให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต เว้นแต่บุตรถึงแก่ความตายก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ในระหว่างสามปีนับแต่คลอดบุตร ให้หญิงนี้เลี้ยงดูบุตรตามความเหมาะสมในสถานที่ที่สมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรในเรือนจำ”
ด้าน ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ เปิดเผยในรายการข่าวอัมรินทร์ทีวี ว่า หากในอนาคตมีการชี้ชัดว่า แอมมีความผิดจริง ในฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยการวางยาพิษ ก็จะถือว่าประหารชีวิตได้เลย เนื่องจากไม่มีอุปสรรคใดแล้ว ไม่ต้องมานั่งถกเถียงว่าผู้ต้องหาตั้งครรภ์ประหารไม่ได้