แนวทางการปลูก-นำเข้า/นำติดตัว “กัญชา-กัญชง”

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเผยแนวทางการปลูก-นำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตนของกัญชา-กัญชง ภายหลังปลดล็อกพ้นจากยาเสพติด

วันนี้ (26 พ.ค.65) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยแพร่คำถาม-คำตอบ แนวทางการปลูก นำเข้า และนำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง ภายหลังปลดล็อก กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติด

การปลูก กัญชา กัญชง

1.การปลูก ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด หรือไม่

ตอบ  ไม่ต้อง ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง แจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application “ปลูกกัญ” ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจัดทำขึ้น 

การนำเข้า กัญชา กัญชง

1. การนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ  สามารถกระทำได้ โดยการนำเข้าต้องขออนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด เนื่องจากสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

2.สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกายสำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หรือไม่ และการนำเข้าต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ   ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5  แต่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์  ดังนั้นการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์

3. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด

ตอบ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5  การนำเข้าจึงไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้งานบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือความมุ่งหมายของผู้ผลิต ดังนี้

กรณีอาหาร จัดเป็นอาหารห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ. 2564 ที่ออกตามมาตรา 6(8) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท  ที่เป็นโทษ ให้ปรับเป็นตันเลขบน info จะดูง่ายกว่า ทำทั้งหมดนะคะ 

กรณีเครื่องสำอาง  จัดเป็นเครื่องสำอางที่ห้ามนำเข้าตามประกาศฯที่ออกตามความในมาตรา 6(1)   ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558

กรณีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร  ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

4. การนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง และส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชา กัญชง เช่น เปลือก ลำต้น ใบ เส้นใย กิ่งก้าน ราก ยอดหรือช่อดอก มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ต้องขอรับอนุญาตตามกฎหมายใด

ตอบ  ต้องขอรับอนุญาต ดังนี้

1. ขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และกรณีนำเข้าเมล็ดกัญชา กัญชง ต้อง

ขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เพิ่มเติมด้วย

2. เมื่อได้รับอนุญาตตามข้อ 1 แล้ว หากจะนำพืชกัญชา กัญชงดังกล่าวมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากกัญชา กัญชง ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น ๆ โดย

1.กรณีผลิตเป็นอาหาร  ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากจัดเป็นอาหารห้ามนำเข้า 

2.กรณีผลิตเป็นเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ห้ามนำเข้า 

3.กรณีผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น  ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ผลิตถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบ

ในการผลิตผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน

การนำเข้า/นำติดตัวเพื่อใช้เฉพาะตน ของกัญชา กัญชง

1. การนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง รวมถึงการนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เพื่อใช้เฉพาะตัว ครอบคลุมการนำเข้าในลักษณะใดบ้าง และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ  การนำเข้าตามข้อ 1  เพื่อใช้เฉพาะตัว ครอบคลุม 2 ลักษณะ ดังนี้

1. การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และ

2. การส่งทางพัสดุ/ไปรษณีย์ระหว่างประเทศ 

ผู้นำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาและนำมาใช้เองเท่านั้น  โดยพิจารณาจากรูปแบบของสินค้าที่นำเข้า ดังนี้

ก. การนำเข้าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ 

ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น  หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง จะไม่สามารถนำเข้าได้ 

ข. การนำเข้าในรูปแบบส่วนต่าง ๆ ของพืช 

ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ก่อน  ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร

กัญชา

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพ)