การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดขอนแก่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้สิ้นสุดโดยเร็ว
มั่นใจว่าในพื้นที่ขอนแก่น สถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นเดือนตุลาคม 2564 นี้ รวมถึงให้วางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดินไว้รองรับการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย
“แม้ปีนี้ขอนแก่นจะประสบปัญหาอุทกภัยในหลายอำเภอก็ตาม แต่ยังมีบางอำเภอประสบภัยแล้ง สทนช.ได้บูรณาการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดขอนแก่น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้วิกฤติน้ำท่วมเป็นโอกาส ดำเนินโครงการเพิ่มความสุขสูบน้ำด้วยเครื่องสูบส่งน้ำขนาดใหญ่ เติมน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อ.ภูเวียง และ อ.ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น”
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. บอกว่า โครงการเพิ่มความสุขสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เป็นการใช้รถสูบส่งน้ำระยะไกลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 6 ขอนแก่น สูบน้ำจากฝายลำบอง อ.ภูเวียง ซึ่งมีปริมาณน้ำมากไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำโสกรวก อ.ภูเวียง ของกรมชลประทานเป็นระยะทางยาวกว่า 7 กม. ที่มีปริมาณน้ำน้อยแค่เพียง 15% ของความจุ
โดยรถสูบส่งน้ำระยะไกลมีขีดความสามารถในการสูบส่งน้ำได้ประมาณ 35 ลบ.ม.ต่อนาที สูบ 20 วัน จะได้น้ำประมาณ 400,000 ลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณน้ำในอ่างจะทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งไม่น้อยกว่า 500,000 ลบ.ม. เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการผลิตน้ำประปาของ อ.ภูเวียง
นอกจากนี้ ยังมีการนำรถสูบส่งน้ำระยะไกลไปใช้ในการสูบส่งน้ำจากฝายหนองโดก อ.ชุมแพ ไปเติมน้ำให้สระโพนทอง อ.ชุมแพ อีกแห่งหนึ่งด้วย
สำหรับรถสูบส่งน้ำระยะไกล ครม.ได้อนุมัติงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 315 ล้านบาท ให้ ปภ.จัดหารถสูบส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพในการสูบส่งน้ำไม่น้อยกว่า 35,000 ลิตรต่อนาที และส่งน้ำระยะไกลไม่น้อยกว่า 10 กม. พร้อมอุปกรณ์ 7 คัน คันละ 45 ล้านบาท
เนื่องจากเครื่องจักรกลที่มีอยู่สูบส่งน้ำระยะไกลได้เพียง 3 กม. และมีอัตราสูบส่งที่ 2,500 ลิตรต่อนาทีเท่านั้น ไม่เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำในจังหวัดขอนแก่นให้เกิดความยั่งยืน สทนช. ได้มอบหมายสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 ร่วมกับอนุกรรมการทรัพยากรน้ำของจังหวัด ร่วมเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น โดยเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำชี และ สทนช. จะรวบรวมเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบต่อไป
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งรัดผลักดันแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561-64 มีการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นรวม 2,070 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกันกว่า 460,000 ไร่ โครงการสำคัญๆ เช่น ประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ แก้มลิงแก่งน้ำต้อน แก้มลิงหนองโป่งขี้กั่ว เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2565 มีแผนงานและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามงบบูรณาการอีก 40 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 3.62 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 13,589 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,475 ครัวเรือน โครงการสำคัญๆ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนบ้านไผ่ แก้มลิงกุดหมากเท้งพร้อมอาคารประกอบ ฝายห้วยสายบาตร และอนุรักษ์ฟื้นฟูห้วยโพงพร้อมระบบกระจายน้ำ”
ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้บูรณาการเร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการสำคัญอีก 13 โครงการที่เน้นเพิ่มการเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และการป้องกันน้ำท่วม โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2566-68 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 36.4 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 35,181 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 9,344 ครัวเรือน โดยมีโครงการสำคัญๆ เช่น การขุดลอกแม่น้ำชี ระยะทาง 215 กม. อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองขอนแก่น ระยะที่ 2 แก้มลิงหนองเอียด และแก้มลิงหนองแปน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าโครงการจะมาแก้ไขปัญหาด้านน้ำของขอนแก่น บางโครงการได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่อีกหลายโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงาน หลังปี 2566 เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาท่วมแล้งซ้ำซาก.