สถานการณ์การปะทะระหว่างกองทัพรัสเซียและยูเครนสร้างกระทบแก่วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะชีวิตของชาวยูเครนและยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบจากไฟสงคราม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมน้องใหม่อย่าง ‘วิดีโอเกม’ อุตสาหกรรมความบันเทิงที่เติบโตแบบมาแรงจนแซงสื่อบันเทิงกระแสหลักอย่างภาพยนตร์ไปแล้ว แต่ตอนนี้ดันต้องมาสะดุดเพราะเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เรื่องนี้ทำให้คนในวงการเกมหลายคนต่างออกมาแสดงความเห็น รณรงค์ หรือแม้แต่ลงมือช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าทีมพัฒนาเกมชื่อดังจำนวนไม่น้อยในประเทศยูเครนและแถบยุโรปตะวันออกคือหนึ่งในนั้น
ยูเครนเป็นประเทศที่มีออฟฟิศของทีมพัฒนาเกมชื่อดังหลายราย ครอบคลุมทั้งทีมใหญ่ระดับโลกและทีมพัฒนาเกมอินดี้ ตัวอย่างเช่น บริษัทเกม Ubisoft เจ้าของซีรีส์เกมดังระดับโลกอย่าง Assassin’s Creed และ Far Cry บริษัท Wargaming ผู้พัฒนาเกมออนไลน์ World of Tanks และทีม Crytek ผู้สร้างซีรีส์เกมกราฟิกงาม CRYSIS ต่างก็มีออฟฟิศสาขาย่อยอยู่ในยูเครน โดย Ubisoft มีทีมงานอยู่ทั้งในกรุงเคียฟและกรุงโอเดสซ่า ทีมที่ถือเป็นพลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาเกม Assassin’s Creed ภาคใหม่ๆ ตั้งแต่ภาค Origins เป็นต้นมา ทั้งนี้ ทั้งสองเมืองต่างถูกทิ้งระเบิดจากกองทัพรัสเซียที่เปิดฉากรบในวันพุธที่ 23 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังการถูกรุกราน บรรดาทีมพัฒนาเกมสัญชาติยูเครนหลายทีมได้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อขอความช่วยเหลือจากนานาชาติกันอย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ทีมพัฒนา 4A Games เจ้าของเกมแนวเดินหน้ายิงระทึกขวัญซีรี่ส์ Metro ที่ได้ออกมาทวีตข้อความสรรเสริญกองทัพยูเครนในทวิตเตอร์และเรียกร้องให้แฟนๆ ผู้ติดตามช่วยบริจาคเงินไปที่บัญชีธนาคารของกองกำลังป้องกันประเทศยูเครน ถึงแม้ปัจจุบัน 4A Games จะย้ายออฟฟิศหลักมาอยู่ที่สาธารณรัฐมอลตา แต่บริษัทก็ยังมีสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับยูเครนเนื่องจาก 4A Games ตั้งออฟฟิศแห่งแรกในกรุงเคียฟและแม้แต่ในตอนนี้ก็ยังมีสตูดิโอพัฒนาเกมอีกสาขาหนึ่งของบริษัทตั้งอยู่ที่นั่น
หลังจากที่ 4A Games ออกมาแสดงจุดยืน ทีมพัฒนาเกม GSC Game World สัญชาติยูเครน ผู้พัฒนาเกมเดินหน้ายิงที่เกมเมอร์หลายคนจับตารอในปีนี้อย่าง S.T.A.L.K.E.R. 2: Heart of Chernobyl (ซีรีส์เกมที่เป็นดั่งแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างเกม Metro) ที่มีออฟฟิศหลักตั้งอยู่ในกรุงเคียฟ ประเทศยูเครนก็ออกมาแถลงการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยแถลงการณ์ของบริษัทในทวิตเตอร์ระบุว่า “ประเทศของเราต้องตื่นขึ้นท่ามกลางเสียงระเบิดและเสียงปืน แต่เราก็พร้อมที่จะปกป้องอิสรภาพและอธิปไตยของเรา เพราะประเทศเรานั้นแข็งแกร่ง พร้อมรับมือกับสถานการณ์ทุกรูปแบบ” นอกจากนี้ ทีม GSC Game World ยังแชร์เลขบัญชีจากธนาคารแห่งประเทศยูเครน เพื่อให้แฟนเกมของบริษัทช่วยบริจาคไปยังกองทัพยูเครนด้วย
ส่วนทีมพัฒนาเกมนอกประเทศยูเครนต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หนึ่งในทีมพัฒนาเกมยุโรปที่มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ช่วยเหลือประเทศยูเครนครั้งนี้ก็คือบริษัทพัฒนาเกมชื่อดังสัญชาติโปแลนด์อย่าง CD Projekt Red เจ้าของผลงานเกม The Witcher ที่กลายเป็นซีรีส์ใน Netflix และเกม Cyberpunk 2077 โดยบริษัทได้ประกาศว่าจะส่งเงินบริจาคกว่า 243,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 8 ล้านบาท) ให้แก่องค์กรด้านมนุษยธรรมของโปแลนด์ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศยูเครน ณ ตอนนี้
นอกจากทีม CD Projekt Red ทีมพัฒนาเกมสัญชาติโปแลนด์ชื่อดังอีกหนึ่งรายอย่าง 11 Bit Studios ก็ได้ออกมารณรงค์ช่วยเหลือประเทศยูเครนด้วยเช่นกัน โดยทีมพัฒนาได้ออกมาประกาศว่าจะบริจาคผลกำไรทั้งหมดจากยอดขายเกม “This War of Mine” ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2565 ให้แก่สภากาชาดของประเทศยูเครน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครนโดยตรง ทั้งนี้ เกม This War of Mine คือเกมที่ให้ความสำคัญกับธีมเรื่องการต่อต้านสงคราม เกมให้ผู้เล่นได้สวมบทเป็นพลเรือนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในยามสงคราม โดยตัวเกมได้รับเสียงตอบรับในแง่บวกอย่างล้นหลามจากทั้งเกมเมอร์และสื่อทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การออกมาประกาศช่วยเหลือยูเครนของทีมพัฒนา 11 Bit Studios ก็ทำให้มีผู้เล่นเกมชาวจีนและรัสเซียส่วนหนึ่งไม่พอใจเช่นกัน และหลายรายถึงกับพากันออกมาลดคะแนนรีวิวเกมในแพลตฟอร์มขายเกมออนไลน์ Steam เลยทีเดียว
ขณะเดียวกันทางฝั่งของนักกีฬาวงการอีสปอร์ตก็ออกมาแสดงความเห็นถึงประเด็นนี้ โดยคุณ Aleksandr Kostyliev นักแข่งเกมสัญชาติยูเครน เจ้าของฉายา “s1mple” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เล่นเกม Counter Strike: Global Offensive ที่เก่งที่สุดในโลกได้ออกมาทวีตข้อความขอร้องให้สถานการณ์การรบยุติลง โดยตัวเขาเองไม่สามารถทนรับมือเหตุการณ์ตรงหน้าได้ และเขาเชื่อว่าทุกคนต้องการสันติภาพ
เขาได้ให้สัมภาษณ์ในรายการแข่งขันเกม Counter-Strike: Global Offensive ทัวร์นาเมนต์ Intel Extreme Masters ในกรุงคาโตไวซ์ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “ตัวผมเองเคยเล่นเกมร่วมกับทั้งผู้เล่นชาวยูเครน ชาวรัสเซีย และชาวอเมริกาหลายต่อหลายคน ซึ่งทุกคนล้วนแต่เป็นคนที่ยอดเยี่ยม ตอนนี้ ผมมีมิตรแท้คอยอยู่เคียงข้าง เราจะชนะไปด้วยกัน แพ้ไปด้วยกัน และพวกเราทุกคนต้องการสันติสุขให้แก่ประเทศยูเครน แก่โลกใบนี้ เราทุกคนล้วนรู้สึกหวาดกลัวไม่ต่างกัน”
ทั้งนี้ แม้ Aleksandr Kostyliev และทีมจะพ่ายแพ้ในรายการการแข่งขันดังกล่าว แต่เขาก็ได้บริจาคเงินกว่า 33,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณหนึ่งล้านบาทให้แก่กองทัพยูเครนหลังเสร็จสิ้นการแข่ง พร้อมทั้งกล่าวย้ำถึงข้อความว่า “สันติสุขแก่ยูเครนและโลกใบนี้” ในการขึ้นกล่าวปิดท้ายบนเวที
อุตสาหกรรมเกมในยูเครนถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงสุด สร้างรายได้ให้แก่เหล่าโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนาในประเทศจำนวนมาก ทั้งยังมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศยูเครนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2568 อุตสาหกรรมการพัฒนาเกมของยูเครนจะสร้างรายได้ให้แก่ภาคการส่งออกด้านไอทีของประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 270,000 ล้านบาท) สิ่งเหล่านี้คงเป็นเรื่องน่าเสียดายหากไฟสงครามทำให้ภาคอุตสาหกรรมนี้ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ เพราะนอกจากเรื่องรายได้ที่เกิดขึ้นเพื่อปากท้องของคนยูเครน ผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างเราก็อาจจะพลาดโอกาสได้เห็นงานศิลป์ดิจิทัลชั้นดีที่เข้ามาเพิ่มสีสันแก่วงการเกม ด้วยกลิ่นอายของยุโรปตะวันออก ซึ่งรังสรรค์โดยทีมพัฒนาเกมอินดี้ที่เปี่ยมความสามารถในยูเครนนั่นเอง
ที่มา: