ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” พร้อมกันทั่วประเทศ #NARIT อย่าลืมติดตามชม
วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดีจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง
นับเป็นตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 600 ล้านกิโลเมตรเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจะสังเกตได้ยาวนานจนถึงรุ่งเช้า
หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สามารถเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า และถ้าสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสังเกตเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ในคืนดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย
ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาในตำแหน่งใกล้โลกทุกๆ 13 เดือน ครั้งต่อไปจะเข้ามาใกล้โลกในวันที่ 27 กันยายน 2565
ดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุด
ดาวพฤหัสเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา เป็นดาวที่มีดาวบริวารมากที่สุด คือ 49 ดวง
โดยมีดาวบริวารขนาดใหญ่ 4 ดวงถูกค้นพบโดยกาลิเลโอ ดวงจันทร์สี่ดวงนี้มีชื่อว่า ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), กานีมีด (Ganymede) และคาลิสโต (Callisto)
ดาวทั้งสี่ดวงนี้มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ทีเดียว อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ เช่น กานีมีดเป็นดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดและเป็นดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีสนามแม่เหล็กเป็นของตัวเอง
ส่วนยูโรปานั้นก็เป็นดาวที่มีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวซึ่งเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เป็นต้น เราสามารถเห็นดาวพฤหัสมีลวดลายเป็นเส้น ๆ ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศของดาวพฤหั สและจุดแดงใหญ่ซึ่งเป็นพายุขนาดใหญ่บนดาวพฤหัสซึ่งตรวจพบมากว่า 300 ปีแล้ว
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุด
ผู้สนใจสามารถชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมกันทั่วประเทศ #NARIT ถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 20.00-21.00 น. พร้อมสัญญาณภาพจากหอดูดาว 4 ภูมิภาค
– หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
– หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
หากใครมีกล้องโทรทรรศน์ส่วนตัว หรือเป็นโรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก NARIT ก็เป็นโอกาสดีที่จะนำกล้องออกมาตั้งสังเกตการณ์