30 ก.ย. รูดม่านปิดฉาก ศบค.ยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยก พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม

30 ก.ย. รูดม่านปิดฉากสุดท้ายการทำงานของ ศบค.ยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่ นายกรัฐมนตรีและ ครม.ใช้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทั้งหมด ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่มีมติเห็นชอบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โลกและไทยดีขึ้นตามลำดับ ยก พ.ร.บ.โรคติดต่อคุมโควิดแทน มอบดาบ ผวจ.ประกาศโรคระบาดหากโควิดคัมแบ็กอีก “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมนัดสุดท้ายของ ศบค.แต่เป็นครั้งแรกของรักษาการนายกฯ ขอบคุณทุกความร่วมมือร่วมใจ “สาธิต” มั่นใจแผนรับมือเอาอยู่ หนุนฉีดวัคซีนไม่มี ค่าใช้จ่าย ส่วนที่ปรึกษา ศบค.แฉตัวเลขยังมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นต่อวัน แต่อาการไม่รุนแรง ที่เข้ารักษาใน รพ.มีแค่ 800-1,000 คน สามารถเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคเฝ้าระวังได้ แต่ ปชช.ยังต้องเข้มดูแลระมัดระวังป้องกันตัวเอง เชื่อยกเลิก ศบค.ไม่เกิดสุญญากาศ

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยแผ่วลงตามลำดับและปิดฉากการทำงานของ ศบค.ในวันที่ 30 ก.ย. ทั้งนี้ ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมศบค.ชุดใหญ่ครั้งที่ 12/2565 ที่เป็นการทำหน้าที่ประธานการประชุม ศบค.ครั้งแรก เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะกระทบต่อการดูแลสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดีเดย์ 1 ต.ค. ปิดฉาก ศบค.ด้วย ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 800-1,000 คน ส่วนผู้ที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกอยู่ที่ 1.3-1.4 หมื่นคนต่อวัน คาดว่ามีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าระบบอีก 2-3 เท่า โดยรวมมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นรายต่อวัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ถึงขั้นโรคประจำถิ่นที่ผู้ป่วยต้องน้อยกว่านี้ การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังทำให้สบายขึ้นเยอะ เพราะทุกอย่างผ่อนคลายเกือบหมด แต่เรายังต้องดูแลตัวเอง เพราะยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ต้องให้น้อยกว่านี้ เชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นต้องดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยง ถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง โควิดยังไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับไข้หวัด เพียงแต่เศรษฐกิจต้องเดินไป นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความจำเป็น ตอนนี้การฉีดเข็มกระตุ้นยังถือว่าต่ำ ขอให้เข้ารับการฉีดอย่างน้อยให้ได้เข็มที่ 3 ร้อยละ 70 จะทำให้สบายใจกันมากขึ้น แต่ขณะนี้พอเห็นอาการไม่รุนแรงเลยไม่ไปฉีด ยืนยันหลังวันที่ 1 ต.ค. จะไม่เกิดสุญญากาศ กระทรวงต่างๆยังทำหน้าที่ การทำงานจะไม่มีปัญหา แต่อาจไม่เข้มข้นเหมือนตอนมี ศบค.

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดีเดย์ 1 ต.ค. ปิดฉาก ศบค.ด้วย ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าขณะนี้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วใช่หรือไม่ ว่า ไม่มีคำว่าโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว คำว่าโรคประจำถิ่นเป็นภาษาที่หมอเขาใช้กัน แต่ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่มีคำนี้ เมื่อถามย้ำว่าในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นแล้วใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรายัง ให้การดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลอยู่ เพราะขณะนี้ยาเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ใช้หลักจด ทะเบียนเป็นยาที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ ยังไม่สามารถหายาเหล่านี้ได้ตามท้องตลาดทั่วไป เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยไม่ต้องกักตัว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นเช่นไร นายอนุทินกล่าวว่า เดี๋ยวว่ากัน มันมีรายละเอียดอยู่ ยังไม่สามารถลงรายละเอียดตรงนี้ได้

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดีเดย์ 1 ต.ค. ปิดฉาก ศบค.ด้วย ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม

ต่อมาเวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศที่ผู้ประกอบการขับเคลื่อนกิจการได้ปกติ กระทรวงสาธารณสุขปรับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ที่ประชุม ศบค.มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรที่ประกาศมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 และขยายมารวม 19 ครั้ง รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และ ครม.ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด ให้มีผลในวันที่ 30 ก.ย.65 เป็นต้นไป ดังนั้น วันที่ 1 ต.ค.65 ถือเป็นการสิ้นสุดของ ศบค.

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เมื่อไม่มีศบค.แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะเป็นผู้กำกับดูแลตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีแผนปฏิบัติการควบคุมโรครองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ควบคุมโรคให้อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังหรือรุนแรงน้อย วางแผนไว้ 4 ระดับ สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับเฝ้าระวังที่อัตราป่วยเสียชีวิตน้อยกว่า 0.1% อัตราครองเตียงอยู่ระหว่างที่ 11-24% จะให้หน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคเป็นระดับอำเภอ แต่ถ้าอัตราการป่วยเสียชีวิตขยับไปที่ 0.1-0.5% อัตราครองเตียง 25-40% จะถือเป็นระดับรุนแรงน้อย ศูนย์ปฏิบัติการจะเป็นระดับจังหวัดและเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคขึ้นมา หรือถ้าไปถึงระดับรุนแรงปานกลาง มีอัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 0.5% อัตราครองเตียง 41-75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุข หากเข้าขั้นระดับรุนแรงมากที่อัตราป่วยเสียชีวิตมากกว่า 1% อัตราครองเตียงมากกว่า 75% จะเปิดศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับประเทศ นายอนุทินเน้นย้ำว่า เตียงในระบบสาธารณสุขมีเป็นแสนเตียงที่รองรับได้ แต่ประชาชนยังต้องป้องกันตัวเองกันต่อไป

โฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การติดเชื้อมีผู้ติดเชื้อใหม่ 752 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 9 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,677,090 ราย หายป่วยสะสม 4,636,163 ราย เสียชีวิตสะสม 32,692 ราย กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าจากนี้จนถึงปี 66 อาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็กๆขึ้นบ้างตามสถานการณ์ แต่จะควบคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 8.3% ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานข้อมูลการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65-21 ก.ย.65 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งสิ้น 5,257,196 คน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม 211,974 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 432,889 ล้านบาท สำหรับโครงสร้างการดำเนินการในระยะสิ้นสุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องวัคซีนจะมีคณะกรรมการสร้างเสริมคุ้มกันโรคแห่งชาติภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมาทำหน้าที่ดูแลตรงนี้ การจัดหาและกระจายวัคซีนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ส่วนการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายใต้ได้รับวัคซีนจะมีคณะกรรมการมาดูแล หลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มต่อไปจะไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติแผนจัดหาวัคซีนเดือน ต.ค.65 ตามกรมควบคุมโรคเสนอเห็นชอบแผนการประชาสัมพันธ์โควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น รับทราบความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีน เห็นชอบการจัดจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รวมทั้งรับทราบการประมวลผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติป้องกันและควบคุมโรค

โฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตรได้ขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือ ขอบคุณผู้ประกอบการที่ร่วมใจ ภาครัฐที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็งจนผ่านพ้นและเปลี่ยนผ่านมาถึงปัจจุบัน ศบค.ชุดใหญ่ดำเนินงานมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้วางแผนป้องกันเอาไว้ ขอให้การดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็น ไปด้วยความเรียบร้อย ตนในฐานะโฆษก ศบค.ขอขอบคุณทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดีเดย์ 1 ต.ค. ปิดฉาก ศบค.ด้วย ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคุม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ ถึงการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคเฝ้าระวังว่า แต่ละจังหวัดต้องรับแผนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ไปดำเนินการเป็นไปตามแผนและกรอบกระทรวงสาธารณสุข โดยแต่ละจังหวัดใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการตามกรอบ มีแผนรองรับฉุกเฉินรวมอยู่ด้วย ยืนยันการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้แต่ละจังหวัดไม่มีปัญหาเพราะเตรียมการรองรับไว้แล้ว

ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ย. หมดความจำเป็นที่จะใช้ในการควบคุมโรค ระหว่างนี้จะนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาใช้ดูแล คิดว่าเพียงพอต่อการควบคุมสถานการณ์ หากมีการติดเชื้อมากขึ้นแบบก้าวกระโดด มีแผนรองรับไว้แล้วและมียุทธศาสตร์สำหรับสถานการณ์ในแต่ละประเภท หากเกิดเหตุนำแผนที่เตรียมไว้มาใช้ได้ทันที

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลไกต่อไปจะเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขจะดูแล เมื่อถามว่า หลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การดูแลสถานการณ์โควิด-19 จะไปใช้กฎหมายปกติใช่หรือไม่ เลขาฯ สมช. กล่าวว่า ใช่ เป็น พ.ร.บ. โรคติดต่อ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. และหน่วยงานภายใต้ ศบค. ต้องยุติและใช้กลไกปกติดำเนินการ เมื่อถามว่าหากสถานการณ์โควิดกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงอีกครั้งจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้หรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ประกาศได้อีก ในไทยอะไรที่เป็นวิกฤติ ที่ ครม.เห็นว่าต้องใช้กฎหมายพิเศษทำได้เลย แต่เรื่องโควิดเราและสาธารณสุขได้พูดคุยกันแล้ว ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อ ผู้ว่าฯในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะคณะกรรม การโรคติดต่อกรุงเทพฯใช้อำนาจตัวเองในการประกาศให้เป็นโรคระบาด ใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอยู่จัดการได้ก่อน เมื่อถามว่าขั้นตอนจากนี้ต้องมีการเสนอให้ที่ประชุม ครม.หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ต้องนำเข้า ครม.วันที่ 27 ก.ย.

อีกด้านวันเดียวกัน ที่สภาทนายความ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความและนายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโน นำนางอารมณ์ ศรีธัญญา อายุ 80 ปี อาชีพค้าขาย มาแถลงข่าวว่า นางอารมณ์ร้องทุกข์ผ่านทนายอาสาว่า เมื่อปี 2565 นายสุรชัย ศรีธัญญา บุตรชายคนเล็กรับวัคซีนโควิด-19 แล้วเสียชีวิต สปสช.ตกลงจ่ายเงินชดเชย 4 แสนบาท แต่มารดาไม่ได้รับเงินทราบว่าลูกสะใภ้ได้ไปแจ้งเท็จว่านางอารมณ์เสียชีวิตไปแล้วและสวมสิทธิ์รับเงินจาก สปสช.ไปแทน สภาทนายเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการไปรับเงินจาก สปสช.โดยไม่ถูกต้อง สภาทนายรับเป็นปากเสียงมาเรียกร้องเงินจาก สปสช. มาให้นางอารมณ์ตามสิทธิ์อันชอบธรรม ส่วนการติดตามเอาเงินคืนจากลูกสะใภ้ สปสช.ต้องไปดำเนินการเอาคืนเอง ความผิดของผู้ที่รับเงินไปแทนนางอารมณ์ คือ แจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ใช้เอกสารปลอมและความผิดอื่นๆ อีก คดีนี้สภาทนายจะติดตามอย่างไม่ปล่อยและได้มอบให้นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายรับเรื่องไว้

ที่ต่างประเทศ ทางการฮ่องกงประกาศยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องเข้ารับการกักตัวในโรงแรมที่กำหนด ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 26 ก.ย.เป็นต้นไป หลังจากบังคับใช้มานานกว่า 2.5 ปี แต่ยังต้องเฝ้าระวังตัวเองในที่พักอีก 3 วันหลังจากเดินทางเข้าฮ่องกงตามระบบ “0+3” ในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้รับอนุญาตให้ไปทำงานหรือไปเรียน แต่ไม่สามารถเข้าบาร์หรือร้านอาหาร ส่วนการทดสอบด้วย PCR เป็นเวลาไม่เกิน 48 ชม. ก่อนออกเดินทางถูกยกเลิกเช่นกันเปลี่ยนเป็นการทดสอบด้วย ATK แทน ก่อนหน้านี้ฮ่องกงประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจนถึงวันที่ 5 ต.ค. ประชาชนยังต้องสวมหน้ากากในยานพาหนะและสถานที่สาธารณะที่กำหนด ในการรวมกลุ่มเกิน 4 คนในที่สาธารณะเช่นเดิม รวมถึงผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเพื่อเข้าร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เกตและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา