7 เมษายน “วันอนามัยโลก” N Health เผย “5 เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์” จุดเปลี่ยนวิถีดูแลสุขภาพของคนยุคใหม่ เติมเต็มความหมายและดื่มด่ำกับการมีชีวิตอย่างไร้กังวล
7 เมษายน ของทุกปี “องค์การสหประชาชาติ” ได้กำหนดให้เป็น วันอนามัยโลก (World Health Day) เพื่อให้เป็นหมุดหมายที่สำคัญในการรณรงค์ด้านสุขภาพของคนทั่วโลก ทั้งในแง่การควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหา และส่งเสริม ให้เกิดความทั่วถึงอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน
สืบเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 และสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เห็นว่า ผลกระทบทางด้านสุขภาพที่พลเมืองโลกต้องเผชิญนั้นไม่ได้เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราต่างต้องเผชิญร่วมกัน มีผลกระทบต่อเนื่องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้แม้อยู่คนละซีกโลก
ในปี 2565 “องค์การสหประชาชาติ” จึงกำหนดหัวข้อรณรงค์ “วันอนามัยโลก 2022” ไว้ว่า Our planet, our health รวมทั้งทำให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ คือพลังสำคัญในการต่อสู้กับช่วงเวลาที่แสนยากลำบากนี้
ในโอกาส “วันอนามัยโลก 2022” N Health คาดการณ์ว่า “วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์” ที่กำลังมีอิทธิพลต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน ประกอบด้วย 5 เทรนด์วิทยาศาสตร์และเทคนิคการแพทย์ ที่สำคัญ ดังนี้
1. Know Your DNA การตรวจ DNA จะกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เป็นเสมือนการถอดรหัสชีวิต ที่จะบอกว่าพื้นฐานร่างกายของแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ความทนทานของกล้ามเนื้อในการออกกำลังกาย ความไวต่อแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เป็นต้น ตลอดจนรู้ถึงศักยภาพแฝง เช่น อัจฉริยภาพทางด้านภาษา ดนตรี หรือศิลปะ
2. Dig Deep to The Micro เมื่อก่อนการตรวจสารอาหารในร่างกายทำได้ยาก แต่ตอนนี้สามารถตรวจสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายที่ลึกลงและเล็กลงถึงระดับไมโครได้ เราจึงสามารถเลือกรับประทานอาหารและอาหารเสริมได้อย่างเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนเป็นอันตราย
3. Turn Down All Risks การตรวจความเสี่ยงต่อมะเร็ง การตรวจหาสารตกค้าง จะกลายเป็นเรื่องปกติและสามารถทำได้ต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงไม่เหมือนกัน การมอนิเตอร์ความเสี่ยงเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมได้ตามสภาวะและสถานการณ์ของชีวิต
สามข้อแรกนี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็น เทรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางวิทยาการทางสุขภาพ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “เทรนด์ในด้านการบริการและความเข้าถึงวิทยาการ” ดังกล่าว
4. Laboratory for Daily Lifestyle การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จะกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ราวกับไปเดินห้างหรือเข้าคาเฟ่
ผู้ให้บริการจะหันมาให้ความสำคัญในการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการมาเจาะเลือดหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น แต่ห้องปฏิบัติการจะกลายเป็นสถานที่ที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น เช่น การมี Co-working Space หรือ Coffee Bar ตลอดจนการมีการเวิร์กช้อปเกี่ยวกับสุขภาพ หรือเกิดการสร้างคอมมูนิตี้ด้านสุขภาพมากขึ้น
5. Self-Health Planning แผนการดูแลสุขภาพจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีทั้งเครื่องมือที่สามารถใช้ตรวจได้เอง ยกตัวอย่าง ATK ที่สามารถตรวจโควิด-19 ได้เอง มีทั้งการตรวจสุขภาพแบบมอนิเตอร์ตัวเอง เพื่อเลือกการกินอาหารเสริมหรือออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือลดละเลิกพฤติกรรมบางอย่าง หรือเช็กว่ามีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือยัง
นางสาวณัฏฐา จันทร์เปล่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่หลากหลายอยู่แล้ว แต่จากนี้ทางเลือกเหล่านั้นจะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น การดูแลสุขภาพจะมีความเป็น Consumer Centric มากขึ้น ประชาชนจะมองการดูแลสุขภาพเป็นองค์รวม และมีความเฉพาะเจาะจงตามแต่ละบุคคลมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Personalization
“วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุภาพจะไม่มีเฉพาะแพทย์หรือพยาบาล แต่จะมีวิชาชีพที่เข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะนักโภชนาการ เทรนเนอร์ นักกายภาพบำบัด นักบำบัดในสาขาต่าง ๆ นักเทคนิคการแพทย์เป็นต้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ให้ประชาชนรู้พยาธิสภาพของร่างกายก่อนเลือกการดูแล รักษา หรือบำบัด” ณัฏฐา จันทร์เปล่งแก้ว กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า เทรนด์การดูแลสุขภาพ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่เป้าหมายที่สำคัญก็คือการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะความเจ็บป่วย สามารถดำเนินชีวิตไปข้างหน้าได้ตามปกติได้ในทุก ๆ วัน อย่างยืนยาว
เพื่อเติมเต็มความหมายและดื่มด่ำกับการมีชีวิตได้อย่างไร้กังวล